คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2356/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ย. กับโจทก์เป็นสามีภริยาและร่วมกันประกอบอาชีพรับจ้างขุดดิน แม้ชื่อคู่สัญญาฝ่ายผู้รับจ้างจะทำในนามของ ย. เพียงคนเดียว แต่โจทก์กับ ย. ก็มีอำนาจจัดกิจการร่วมกันทั้งเงินค่าจ้างที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องจ่ายก็เป็นสินสมรสระหว่าง ย.กับโจทก์เมื่อย. ทำหนังสือยินยอมให้โจทก์ฟ้องคดี โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ชำระเงินค่าจ้างเพื่อประโยชน์แก่สินสมรสนั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1477

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามว่าจ้างโจทก์ให้ขุดดินและดันดินที่การเคหะแห่งชาติจังหวัดนครปฐม โจทก์คิดหักบัญชีกับจำเลยทั้งสามแล้ว จำเลยทั้งสามยังค้างชำระหนี้โจทก์เป็นเงิน 35,020 บาทโจทก์เป็นหญิงมีสามีได้รับความยินยอมจากสามีให้ฟ้องคดีนี้ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระค่าจ้างที่ค้างชำระดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 35,020บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2ไม่เคยว่าจ้างโจทก์ทำงานตามฟ้อง ไม่เคยคิดเงินหรือจ่ายเงินใด ๆแก่โจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและคดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระเงินจำนวน 35,020 บาทแก่โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (12 กันยายน 2531) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้มีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงห้ามมิให้คู่ความในข้อเท็จจริงและในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า นายยู่ลิ้ม ขมประเสริฐเป็นสามีของโจทก์ และประกอบธุรกิจรับจ้างขุดดินร่วมกัน จำเลยที่ 1ว่าจ้างนายยู่ลิ้มให้ขุดดินตามฟ้อง ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2ฎีกาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์มิใช่คู่สัญญากับจำเลยที่ 1และที่ 2 นั้น เห็นว่า แม้นายยู่ลิ้ม ขมประเสริฐ เป็นผู้รับจ้างขุดดินให้แก่จำเลยที่ 1 แต่นายยู่ลิ้มกับโจทก์เป็นสามีภริยากันโจทก์กับยู่ลิ้มร่วมกันประกอบอาชีพรับจ้างขุดดิน โจทก์กับยู่ลิ้มจึงมีอำนาจจัดกิจการร่วมกัน ทั้งเงินค่าจ้างที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องจ่ายก็เป็นสินสมรสระหว่างนายยู่ลิ้มกับโจทก์ เมื่อนายยู่ลิ้มทำหนังสือยินยอมให้โจทก์ฟ้องคดีโจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ชำระเงินค่าจ้างเพื่อประโยชน์แก่สินสมรสนั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1477 ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล เมื่อวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องด้วยเหตุดังกล่าวมาแล้ว ปัญหาที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่าศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องเพราะเป็นหุ้นส่วนกับนายยู่ลิ้มเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นหรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share