คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2355/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงินบำเหน็จเป็นผลประโยชน์นอกเหนือไปจากค่าชดเชยซึ่งกฎหมายกำหนดให้นายจ้างจ่ายเมื่อเลิกจ้าง นายจ้างจึงย่อมมีสิทธิที่จะกำหนดวิธีการจ่ายเงินบำเหน็จได้ตามที่เห็นสมควร ดังนั้น ข้อบังคับของนายจ้างที่ให้หักค่าชดเชยออกจากเงินบำเหน็จ จึงหาขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานไม่ แต่เมื่อข้อบังคับของนายจ้างมิได้กำหนดให้นายจ้างมีสิทธิหักดอกเบี้ยของค่าชดเชยไว้ด้วย นายจ้างจึงไม่มีสิทธิหักดอกเบี้ยของค่าชดเชยออกจากเงินบำเหน็จ
เมื่อไม่ปรากฏว่าลูกจ้างได้ทวงถามให้นายจ้างชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและเงินบำเหน็จแก่ลูกจ้างเมื่อใด จะถือว่านายจ้างผิดนัดแล้วหาได้ไม่ ลูกจ้างมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากต้นเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวตั้งแต่วันฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๒๗ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยกล่าวหาว่าร่วมกับพวกลักทรัพย์และยักยอกน้ำมันของจำเลยโดยไม่จ่ายค่าชดเชยและผลประโยชน์ใด ๆ ทั้งไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินบำเหน็จ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างให้ชดใช้ค่าเสียหายในการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง ทั้งนี้จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าเหตุที่เลิกจ้างเพราะโจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงมีความประพฤติไม่เหมาะสมและไม่ซื้อสัตย์ร่วมมือกับผู้อื่นทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงถูกต้องและเป็นธรรมแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายใด ๆ จากจำเลยเงินบำเหน็จโจทก์ใช้สิทธิถอนก่อนออกจากงานไปแล้ว ๑๔๔,๔๘๐ บาท หากจะได้รับอีกก็ไม่เกิน ๔๓๖,๕๒๐บาท เมื่อโจทก์ถูกเลิกจ้างเพราะกระทำผิด จึงต้องคืนเงินที่ใช้สิทธิถอนไปก่อนนั้นแก่จำเลย ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ และพิพากษาให้จำเลยคืนเงินบำเหน็จจำนวน ๑๔๔,๔๘๐ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับ แต่วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖ นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่าไม่มีระเบียบให้จำเลยเรียกคืนบำเหน็จได้ขอให้พิพากษายกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่ได้กระทำละเมิด แต่จำเลยมีเหตุสมควรที่จะไม่ไว้ใจให้โจทก์ทำงานต่อไป จำเลยก็อาจเลิกจ้างโจทก์ได้ มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์จะได้รับค่าชดเชยจำนวน ๘๔,๐๙๐ บาทสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน ๘,๘๗๖ บาท โจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จส่วนที่เหลือที่ค้างอยู่ตามคำให้การ ๔๓๖,๕๒๐ บาท จำเลยไม่มีสิทธิตามฟ้องแย้ง แต่มีสิทธินำค่าชดเชยมาหักออกได้ เมื่อฟังว่ามิใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ ๘๔,๐๙๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน ๘,๘๗๖ บาท เงินบำเหน็จจำนวน ๔๓๖,๕๒๐ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยมีสิทธิหักค่าชดเชยพร้อมทั้งดอกเบี้ยออกจากเงินบำเหน็จในวันชำระเงินด้วย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่าตามคู่มือระเบียบการทำงานและสวัสดิการพนักงาน ข้อ ๒๕ ว่าด้วยแผนบำเหน็จรางวัล ข้อ ข.๑ การจ่ายผลประโยชน์ วรรคสาม กำหนดว่า ‘ทั้งนี้ถ้าพนักงานที่ออกจากงานเนื่องจาก ฯลฯ การเลิกจ้างได้รับผลประโยชน์จากแผนบำเหน็จน้อยกว่าเงินชดเชยการออกจากงาน หรือเงินชดเชยอื่น ๆ ตามที่กฎหมายกำหนดให้จ่าย บริษัทจะจ่ายเงินชดเชยแต่เพียงอย่างเดียว’ และข้อข.๕ กำหนดว่า ‘นอกเสียจากบริษัทจะพิจารณาตัดสินเป็นอย่างอื่น ผลประโยชน์อันพึงได้รับตามแผนนี้จะต้องถูกหักด้วยเงินประเภทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ฯลฯ
๕.๑ เงินที่บริษัทจ่ายตามกฎหมายว่าด้วยข้อผูกพันหรือค่าทดแทน
๕.๒ เงินที่บริษัทจ่ายตามคำพิพากษาหรือตามคำสั่งศาล
๕.๓ เงินที่บริษัทจ่ายตามกฎหมาย คำสั่งหรือกฎข้อบังคับของรัฐเกี่ยวกับผลประโยชน์เนื่องจากทุพพลภาพเป็นการถาวรและสิ้นเชิงหรือจากการปลดเกษียณหรือมรณกรรม
๕.๔ เงินชดเชยการออกจากงานที่บริษัทจ่ายตามกฎหมาย’ กับข้อ๒๕ ค.๘ กำหนดว่า ‘บริษัทสงวนสิทธิในการที่จะนำเงินชดเชยที่ได้จ่ายไปตามกฎหมายว่าด้วยการเลิกจ้าง และการเกษียณอายุซึ่งมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นมาหักออกจากเงินผลประโยชน์สุดท้ายตามแผนนี้ ฯลฯ’ เช่นนี้เห็นว่าข้อความดังกล่าวเป็นการกำหนดสิทธิของจำเลยที่จะลดเงินบำเหน็จลงเท่าจำนวนค่าชดเชยที่จะได้รับโดยหักค่าชดเชยออกจากเงินบำเหน็จได้ อีกทั้งการที่จำเลยออกข้อบังคับว่าด้วยแผนบำเหน็จรางวัล และการจ่ายผลประโยชน์ตามคู่มือระเบียบการทำงานและสวัสดิการ ฯ นั้น เป็นการให้ประโยชน์นอกเหนือไปจากค่าชดเชยซึ่งกฎหมายกำหนดให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างเช่นนี้ จำเลยผู้เป็นนายจ้างจึงย่อมมีสิทธิที่จะกำหนดวิธีการจ่ายเงินบำเหน็จได้ตามที่เห็นสมควร ข้อบังคับดังกล่าวจึงหาขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานดังโจทก์อุทธรณ์ไม่ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยหักค่าชดเชยออกจากเงินบำเหน็จในวันชำระเงินด้วยนั้น จึงชอบแล้ว
ตามคู่มือระเบียบการทำงานและสวัสดิการพนักงานข้อ ๒๕ ว่าด้วยแผนบำเหน็จรางวัล และการจ่ายผลประโยชน์หาได้กำหนดสิทธิของจำเลยที่จะหักดอกเบี้ยของค่าชดเชยไว้ในกรณีนี้ด้วยไม่ จำเลยจึงไม่มีสิทธิหักดอกเบี้ยของค่าชดเชยไว้ ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยหักดอกเบี้ยของค่าชดเชยออกจากเงินบำเหน็จในวันชำระเงินด้วยนั้น จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและเงินบำเหน็จแก่โจทก์เมื่อใด จะถือว่าจำเลยผิดนัดแล้วหาได้ไม่ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากต้นเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวตั้งแต่วันฟ้อง
พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยหักเฉพาะจำนวนค่าชดเชยออกจากเงินบำเหน็จโดยไม่รวมถึงดอกเบี้ยของค่าชดเชยด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share