คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2350/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนภารจำยอมในที่ดินของโจทก์เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของจำเลยทั้งสอง แต่ที่ดินของจำเลยทั้งสองได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ไปยัง จ.แล้ว ทั้งตามบันทึกข้อตกลงให้ที่ดินของโจทก์ตกอยู่ในภารจำยอมของที่ดินของจำเลยทั้งสองก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงให้ภารจำยอมในที่ดินของโจทก์สิ้นผลไปเมื่อจำเลยทั้งสองโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของตนให้บุคคลอื่นหรือสิ้นผลไปด้วยประการอื่นแต่อย่างใด ภารจำยอมของโจทก์ย่อมตกติดไปกับที่ดินของจำเลยทั้งสองที่โอนไปเป็นกรรมสิทธิ์ของ จ.แล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1393 วรรคแรก โจทก์มิได้ฟ้อง จ.และ จ.มิได้เข้ามาเป็นคู่ความในคดีศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้เพิกถอนภารจำยอมตามคำขอของโจทก์ให้กระทบกระเทือนถึงสิทธิของ จ.ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีได้ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3248 จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 40109 และ 3235 ซึ่งอยู่ติดที่ดินโจทก์ โจทก์กับจำเลยทั้งสองได้จดทะเบียนให้ที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันออกกว้างประมาณ 6 เมตร ยาวตลอดแนวที่ดินเป็นทางภารจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวของจำเลยทั้งสอง โดยตกลงกันว่าจำเลยทั้งสองจะต้องขายที่ดินของจำเลยทั้งสองให้โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองผิดสัญญาไม่ขายที่ดินให้แก่โจทก์ โดยจำเลยทั้งสองได้ขายที่ดินให้แก่นางรัตนา กำลังเอก และนางรัตนาได้ขายที่ดินให้แก่นายจรูญ จันทร์จำรัสแสง อีกทอดหนึ่ง การโอนที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองกับนางรัตนา กำลังเอก ได้กระทำกันโดยไม่สุจริต ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนทางภารจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 3248
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า ให้เพิกถอนการจดทะเบียนทางภารจำยอมในที่ดินโจทก์โฉนดเลขที่ 3248
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กรณีตามฟ้องเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญา จึงขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนภารจำยอมในที่ดินของโจทก์ แต่ที่ดินของจำเลยทั้งสองได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ไปยังนายจรูญแล้ว ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1393 วรรคแรก บัญญัติว่า “ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในนิติกรรมอันก่อให้เกิดภารจำยอมไซร้ ท่านว่าภารจำยอมย่อมตกติดไปกับสามยทรัพย์ซึ่งได้จำหน่ายหรือตกไปในบังคับแห่งสิทธิอื่น” ทั้งตามบันทึกข้อความเรื่องภารจำยอมบางส่วน ที่โจทก์ตกลงให้ที่ดินของโจทก์บางส่วนตกอยู่ในบังคับภารจำยอมของที่ดินของจำเลยทั้งสองนั้น ก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงให้ภารจำยอมในที่ดินของโจทก์สิ้นผลไปเมื่อจำเลยทั้งสองโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของตนให้บุคคลอื่นหรือสิ้นผลไปด้วยประการอื่นแต่อย่างใด ดังนี้ ภารจำยอมในที่ดินของโจทก์ย่อมตกติดไปกับที่ดินของจำเลยทั้งสองที่โอนไปเป็นกรรมสิทธิ์ของนายจรูญแล้ว เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องนายจรูญ และนายจรูญมิได้เข้ามาเป็นคู่ความในคดี ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้เพิกถอนภารจำยอมตามคำขอของโจทก์ให้กระทบกระเทือนถึงสิทธิของนายจรูญซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีได้ ปัญหาข้อนี้แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็ตาม แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

Share