แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เหตุที่จำเลยไล่โจทก์ออกจากงานเพราะโจทก์ได้กระทำผิดคดีอาญาถูกควบคุมตัวไม่สามารถทำงานให้จำเลยได้ และประกอบกับต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกโจทก์ในคดีดังกล่าว ดังนี้ เมื่อศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานโจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้นับอายุงานต่อเนื่องตั้งแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันที่จำเลยรับโจทก์ กลับเข้าทำงานเสมือนมิได้มีการเลิกจ้างได้.
ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 49 นั้น ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน หรือให้นายจ้าง จ่ายค่าเสียหายชดใช้แทน ดังนี้ เมื่อศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานแล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิจะได้รับค่าเสียหายนับแต่วันที่โจทก์ยื่นฟ้องจนถึงวันที่จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานได้อีก.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องอ้างว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งอัตราค่าจ้าง สภาพการจ้างไม่ต่ำกว่าเดิมโดยนับอายุงานต่อจากเดิมพร้อมทั้งให้จำเลยจ่ายค่าจ้างหรือค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 2,270 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะรับโจทก์กลับเข้าทำงาน หรือให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 13,620บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 2,270 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันเลิกจ้างจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์กระทำผิดวินัยฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงและกระทำผิดอาญาจนได้รับโทษโดยมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่อัตราค่าจ้างและสภาพการจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม โดยนับอายุงานต่อเนื่องกันเสมือนมิได้มีการเลิกจ้างคำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “เห็นควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยเป็นลำดับแรก ซึ่งจำเลยอุทธรณ์ว่าการกระทำของโจทก์เป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงและฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยกรณีร้ายแรง กล่าวคือ ปรากฏข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดสมุทรปราการตามเอกสารหมาย ล.5 ซึ่งโจทก์นำสืบในคดีดังกล่าวว่าโจทก์รักใคร่ชอบพอและได้เสียกับนายกิติศักดิ์ ม่วงมี สามีของผู้เสียหายในคดีดังกล่าวมาประมาณ 1 ปี เมื่อมาพบผู้เสียหายจึงเกิดเหตุทะเลาะวิวาทกัน เหตุของการทะเลาะวิวาทจึงมาจากเรื่องชู้สาวการกระทำของโจทก์จึงเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายและศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นสาเหตุให้ครอบครัวของผู้อื่นเกิดความเดือดร้อนและแตกแยก และการที่โจทก์ถูกคุมขังไว้ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสมุทรปราการตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2525 และถูกนำไปฝากขังไว้ที่เรือนจำจังหวัดสมุทรปราการเพื่อรอการพิจารณาของศาลจังหวัดสมุทรปราการ ต้องถือว่าโจทก์ไม่สามารถทำงานให้กับจำเลยได้ตามสัญญาจ้าง สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยย่อมสิ้นสุดลง และโจทก์ยังขาดจากการเป็นพนักงานของจำเลย โดยโจทก์เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจแต่ไม่สามารถทำงานให้แก่รัฐวิสาหกิจได้เต็มเวลาตามมาตรา 9(3) แห่งพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจพ.ศ. 2518 และต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติฯดังกล่าว จำเลย จึงมีเหตุเลิกจ้างโจทก์ไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมนั้น เห็นว่า ข้ออุทธรณ์เหล่านี้จำเลยมิได้อ้างเป็นเหตุในการเลิกจ้าง ทั้งมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ และศาลแรงงานกลางมิได้หยิบยกเหตุเหล่านี้ขึ้นวินิจฉัย จึงเป็นเรื่องที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย และที่จำเลยอุทธรณ์ต่อไปว่า การที่โจทก์ถูกควบคุมตัวเพื่อดำเนินคดีจนถึงวันที่ 7 กรกฎาคม 2525 จำเลยจึงได้มีคำสั่งพักงานโจทก์และจนถึงวันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 6สิงหาคม 2528 เป็นเวลาประมาณ 3 ปี โจทก์ไม่ได้ทำงานให้แก่จำเลยการที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้รับโจทก์กลับเข้าทำงาน โดยนับอายุงานต่อเนื่องกันเสมือนมิได้มีการเลิกจ้างเป็นการไม่ถูกต้องนั้นเห็นว่าในระหว่างที่โจทก์ถูกควบคุมตัวดำเนินคดีอาญาตั้งแต่วันที่ 20พฤษภาคม 2525 จนถึงปัจจุบัน โจทก์ไม่ได้ทำงานให้แก่จำเลย ประกอบกับที่จำเลยมีคำสั่งที่ 63/2526 ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2526 ไล่โจทก์ออกจากงานก็เนื่องจากโจทก์ไปทำความผิดอาญา และศาลจังหวัดสมุทรปราการได้พิพากษาให้จำคุกโจทก์มีกำหนด 10 ปี อันเป็นเหตุให้จำเลยออกคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานดังกล่าวในขณะนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้นับอายุงานต่อเนื่องเสมือนหนึ่งมิได้มีการเลิกจ้าง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้นับอายุงานต่อเนื่องโดยให้รวมระยะเวลาตั้งแต่วันเลิกจ้างจนถึงที่จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น แต่โจทก์มีสิทธิขอให้นับอายุงานติดต่อแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปโดยไม่มีสิทธินำระยะเวลาตั้งแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันที่จำเลยรับโจทก์กลับเจ้าทำงานมารวมด้วยเท่านั้น ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า เมื่อโจทก์มิได้กระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยอันเป็นเหตุให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามข้อบังคับ เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าจ้าง เป็นรายเดือนจากจำเลยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะรับโจทก์กลับเข้าทำงานนั้น พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานกลางและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 บัญญัติว่า “การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างนั้นไม่เป็นธรรมแก่ลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้แทนโดยให้ศาลคำนึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้างมูลเหตุแห่งการเลิกจ้าง และเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประกอบการพิจารณา” ศาลฎีกาเห็นว่า ความในมาตรานี้เป็นบทคุ้มครองลูกจ้างเพื่อมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่เป็นธรรม หากมีการเลิกจ้างลูกจ้างไม่เป็นธรรมแล้ว ศาลแรงงานมีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน โดยลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างในอัตราที่เคยได้รับอยู่ในขณะที่มีการเลิกจ้างประการหนึ่ง แต่ถ้าศาลแรงงานพิจารณาแล้วเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจที่จะทำงานร่วมกันต่อไปได้ด้วยดีแล้ว ก็มีอำนาจที่จะสั่งไม่ให้นายจ้างรับลูกจ้างนั้นกลับเข้าทำงานแต่ต้องให้นายจ้างจ่ายค่าเสียหายเป็นเงินจำนวนหนึ่งชดเชยให้แก่ลูกจ้างแทน โดยมีหลักเกณฑ์การคำนวณไว้ว่าจะควรให้นายจ้างจ่ายค่าเสียหายเป็นจำนวนเท่าใด การที่ลูกจ้างจะได้รับค่าเสียหายจากนายจ้างจึงมีเพียงกรณีที่ศาลแรงงานมิได้มีคำสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานเพียงประการเดียวเท่านั้นกฎหมายหาได้กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าเสียหายหรือค่าจ้างตั้งแต่วันที่ลูกจ้างยื่นฟ้องคดีขอให้นายจ้างรับกลับเข้าทำงานจนถึงวันที่นายจ้างรับกลับเข้าทำงานไม่ ดังนั้น เมื่อศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่อัตราค่าจ้างและสภาพการจ้างไม่ต่ำกว่าเดิมขณะที่มีคำสั่งเลิกจ้าง โจทก์จึงไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับค่าเสียหายหรือค่าจ้างนับแต่วันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีจนกว่าจำเลยจะรับโจทก์กลับเข้าทำงานอีกได้…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นับอายุงานใหม่ของโจทก์ติดต่อกับอายุงานที่คำนวณถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2525 ซึ่งเป็นวันก่อน วันเลิกจ้างโจทก์เป็นต้นไป นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง