แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การคำนวณระยะเวลาเป็นเดือน ให้นับสามสิบวันเป็น หนึ่งเดือนตาม ป.อ. มาตรา 21 วรรคสอง การที่ศาลชั้นต้นนำโทษ ของจำเลย ซึ่งศาลพิพากษาให้จำคุก 3 เดือนกับ 9 เดือน และรอการ ลงโทษไว้ มาบวกกับโทษจำคุก 10 ปี ของจำเลยในคดีหลัง รวมเป็น จำคุก 11 ปี จึงเป็นผลร้ายแก่จำเลย ศาลฎีกาย่อมพิพากษาแก้ให้จำคุก จำเลยมีกำหนด10 ปี 12 เดือน.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2532 เวลากลางคืนก่อนเที่ยงจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้มีดพกและมีดดาบเป็นอาวุธฟันศีรษะและเชือดคอนายสมควร กุฎีสุข ผู้เสียหายโดยเจตนาฆ่า จำเลยทั้งสองได้กระทำไปโดยตลอดแล้วแต่การกระทำไม่บรรลุผล เนื่องจากผู้เสียหายได้รับการรักษาพยาบาลไว้ทัน เหตุเกิดที่ตำบลป่าโมก อำเภอป่าโมกจังหวัดอ่างทอง ในวันที่ 5 มิถุนายน 2532 เวลากลางวัน เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสองได้ และต่อมาวันที่ 8 มิถุนายน 2532เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้มีดดาบที่จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ในการกระทำความผิดเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 58,80, 83, 288 ริบของกลาง บวกโทษจำเลยที่ 1 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1617/2531 และหมายเลขแดงที่ 445/2532 ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ด้วย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83 ให้จำคุกคนละ10 ปี ให้บวกโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1617/2531ซึ่งศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 3 เดือน และโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 445/2432 ซึ่งศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 9 เดือน และศาลรอการลงโทษจำคุกไว้ทั้งสองคดี เข้ากับโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้รวมแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 11 ปี มีดของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำผิดให้ริบ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…แต่ที่ศาลล่างทั้งสองนำโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีหมายเลขแดงที่ 1617/2531 และหมายเลขแดงที่ 445/2532ของศาลชั้นต้น ซึ่งพิพากษาให้จำคุก 3 เดือน และ 9 เดือน ที่รอการลงโทษไว้มาบวกเข้ากับโทษจำคุก 10 ปี ของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้รวมเป็นจำคุก 11 ปีนั้นเป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 1 เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 21 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าระยะเวลาที่คำนวณนั้นกำหนดเป็นเดือนให้นับ 30 วันเป็น 1 เดือน ถ้ากำหนดเป็นปีให้คำนวณตามปีปฏิทินในราชการ ดังนั้นการนับจำนวนวันใน 1 เดือนเท่ากับ 30 วัน กำหนดโทษจำคุก 12 เดือน คิดเป็นจำนวนวันเท่ากับ360 วัน แต่การนับจำนวนวันใน 1 ปี เท่ากับ 365 วัน หรือ 366 วันจึงมากกว่า ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 10 ปี 12 เดือนนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.