คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 235/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าของรวมคนหนึ่งฟ้องขับไล่ผู้เช่าที่ดินซึ่งมีผู้อื่นถือกรรมสิทธิ์อยู่ด้วยดังนี้ เป็นการใช้สิทธิต่อสู้จำเลยซึ่งเป็นคนภายนอกจึงฟ้องได้ตาม มาตรา1359 ส่วนที่ว่าการเรียกทรัพย์คืนต้องอยู่ใต้บังคับของ มาตรา 302 นั้นหมายความว่าเมื่อได้ทรัพย์คืนมาแล้วต้องเป็นเจ้าของร่วมกันจะเอาเป็นของตนคนเดียวไม่ได้

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้เช่าที่ดินบางส่วนของโฉนดที่ 3918 ตำบลวัดกัลยาณ์ อำเภอธนบุรี จังหวัดธนบุรี เพื่อปลูกบ้านอยู่ตั้งแต่ยังเป็นของเจ้าเดิม ต่อมาที่ดินนี้ได้โอนกันเป็นทอด ๆ จนกระทั่งถึงโจทก์ซึ่งถูกศาลพิพากษาให้ขับไล่ออกจากที่เช่าเดิมจึงมาซื้อที่พิพาท ซึ่งมีบ้านจำเลยปลูกอยู่เพื่อปลูกบ้านอยู่เองโจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการควบคุมการเช่าเพื่อขอเข้าอยู่ในที่ดังกล่าว คณะกรรมการมีมติยินยอมให้โจทก์เข้าอยู่ได้ นายอำเภอธนบุรีได้มีหนังสือแจ้งมติของคณะกรรมการให้จำเลยทราบแล้ว ต่อมาโจทก์ยังได้ให้ทนายมีหนังสือบอกเลิกการเช่าไปยังจำเลยให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินอีก แต่จำเลยเพิกเฉยเสีย จึงขอให้ศาลพิพากษาขับไล่จำเลยกับบริวารให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่พิพาท และห้ามอย่าให้มาเกี่ยวข้องต่อไป

จำเลยให้การว่าได้เช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 2690 ตำบลวัดกัลยาณ์ จังหวัดธนบุรีซึ่งเดิมเป็นของพระยาสุพรรณสมบัติปลูกเรือนอาศัยอยู่มาหลายสิบปีตลอดมาจนบัดนี้ โฉนดที่ 3918 ที่โจทก์ฟ้องเป็นของใครจำเลยไม่ทราบ บ้านเรือนจำเลยไม่ได้ปลูกอยู่ในโฉนด 3918 ที่ ๆ จำเลยปลูกเรือนนั้นต่อมาพระยาสุพรรณโอนขายให้แก่ นางบุญล้อมทีปสุวรรณ ๆ กับสามีหาเรื่องฟ้องขับไล่จำเลยแต่ในที่สุดศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยชนะ หลังจากอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาได้ 7 วัน นายชาญ พิริยาภัณฑ์ อ้างว่าเป็นเจ้าของที่รายนี้และร้องขอเข้าอยู่ แต่คณะกรรมการควบคุมค่าเช่าไม่อนุญาตถ้าหากว่าที่ดินที่จำเลยปลูกเรือนอยู่เป็นของโจทก์จำเลยก็ขอต่อสู้ว่าการซื้อขายที่พิพาทระหว่างนางบุญล้อมกับนายชาญ และระหว่างนายชาญกับโจทก์เป็นนิติกรรมอำพราง ไม่มีเจตนาซื้อขายกันจริงจัง ทำขึ้นเป็นอุบายเพื่อขับไล่จำเลย เมื่อโจทก์ไม่ใช่เจ้าของก็ไม่มีอำนาจฟ้อง กับทั้งโจทก์ทราบพฤติการณ์ที่เป็นมาแต่ต้นแล้วยังมาซื้อที่ดินเฉพาะตอนที่จำเลย ปลูกเรือนอยู่ด้วยราคาสูงแล้วแกล้งเพทุบายให้ต้องคำพิพากษาเพื่อเป็นเหตุร้องต่อคณะกรรมการควบคุมค่าเช่าว่ามีความจำเป็น ซึ่งที่แท้แล้วโจทก์หาได้ซื้อที่ดินหรือถูกบังคับขับไล่ดังคำพิพากษาไม่ การกระทำของโจทก์เป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นเป็นการกระทำอันมิชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 และเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จำเลยหรือภริยาไม่เคยได้รับคำบอกเลิกการเช่า มติคณะกรรมการควบคุมค่าเช่าจะมีหรือไม่และจะสมบูรณ์เพียงใดจำเลยไม่รับรอง

โจทก์จำเลยรับกันตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 14 กรกฎาคม2499 ว่าบ้านเรือนจำเลยปลูกในที่ดินของโจทก์จริง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเชื่อว่า โจทก์ได้ซื้อที่พิพาทเพื่อใช้เป็นที่อยู่โดยสุจริต และได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการควบคุมค่าเช่าให้เข้าอยู่ในที่พิพาทแล้ว และจำเลยได้ทราบมติของคณะกรรมการควบคุมค่าเช่าแล้ว และทั้งโจทก์ก็ยังได้บอกกล่าวให้จำเลยออกไปจากที่พิพาทอีกชั้นหนึ่งด้วย จำเลยไม่มีสิทธิอยู่ได้อีกต่อไป จึงพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวาร กับให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่พิพาท ให้จำเลยใช้ค่าธรรมเนียมและค่าทนาย 150 บาทแทนโจทก์

จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีการวมใจความว่า ที่ดินโฉนดที่ 3908 มีชื่อโจทก์กับนาวาตรีสติเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม โจทก์ฟ้องเพื่อประโยชน์ของโจทก์ผู้เดียว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และว่าโจทก์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินเกิดจากนิติกรรมอำพราง โจทก์ไม่ใช่เจ้าของอันแท้จริง การกระทำของโจทก์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ศาลชั้นต้นรับรองให้จำเลยฎีกาในข้อเท็จจริงคดีนี้ได้

ศาลฎีกาได้ประชุมปรึกษาคดีนี้แล้ว ได้ความตามทางพิจารณาว่าเดิมโจทก์ถูกฟ้องขับไล่ออกจากที่อยู่ตามสำนวนของศาลแขวงธนบุรี เลขแดงที่ 22/2497 โจทก์ไม่มีที่อยู่อาศัยต้องเร่ร่อนไปอาศัยอยู่กับเพื่อนที่อำเภอดุสิตบ้างที่ปากคลองสานบ้าง ต่อมาโจทก์เห็นประกาศของนายชาญในหนังสือพิมพ์บอกขายที่พิพาท โจทก์มาดูแล้วชอบใจจึงไปชวนนาวาตรีสติมาซื้อแบ่งกันคนละครึ่ง การซื้อขายได้จดทะเบียนแก้โฉนดต่อเจ้าพนักงานที่ดินมีชื่อโจทก์และนาวาตรีสติเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และโจทก์กับนาวาตรีสติได้ร้อง ขอแบ่งแยกโฉนดกันต่อเจ้าพนักงานแล้ว แต่เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2497 ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการควบคุมค่าเช่าเพื่อเข้าอยู่ในที่พิพาท คณะกรรมการมีมติให้ความยินยอมให้โจทก์เข้าอยู่ได้นายอำเภอธนบุรีให้แจ้งให้จำเลยมารับทราบมติกรรมการ จำเลยไม่ยอมมาทางอำเภอจึงส่งหนังสือลงทะเบียนแจ้งให้จำเลยทราบอีกชั้นหนึ่งฝ่ายโจทก์ก็ได้พยายามที่จะแจ้งให้จำเลยทราบทั้งทางวาจาและหนังสือจำเลยก็พยายามหลบหลีกไม่ยอมรับทราบ โจทก์จึงต้องนำคดีมาฟ้อง ข้อที่จำเลยฎีกาว่า โฉนดที่พิพาทมีชื่อโจทก์กับนาวาตรีสติถือกรรมสิทธิ์ด้วยกัน โจทก์ผู้เดียวจะฟ้องเพื่อประโยชน์ของโจทก์แต่ลำพังไม่ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359 ที่จำเลยอ้างนั้นเองก็บัญญัติไว้ว่า “เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ อาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมด เพื่อต่อสู้บุคคลภายนอก” การที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยในคดีนี้จึงเป็นการใช้สิทธิเดิมแต่กรรมสิทธิ์เพื่อต่อสู้กับจำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ที่จำเลยอ้างว่าตอนท้ายของมาตรา 1359 บัญญัติให้อยู่ภายในบังคับของเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 302 นั้นก็หมายความว่าเมื่อโจทก์ได้ทรัพย์สินคืนมาแล้วต้องเป็นของเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมร่วมกัน โจทก์จะอ้างเอาเป็นของตนแต่ผู้เดียวไม่ได้เท่านั้น ฉะนั้นโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า การซื้อขายของโจทก์เป็นนิติกรรมอำพรางโจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริตนั้น ข้อนี้จำเลยเป็นผู้มีหน้าที่นำสืบก่อนแต่จำเลยก็นำสืบหักล้างหลักฐานทางทะเบียนของโจทก์หาได้ไม่ ใช่แต่เท่านั้นจำเลยเองก็ยอมรับว่าที่จำเลยกล่าวว่าเป็นกลอุบายของนางบุญล้อมเจ้าของเดิม เพื่อหาทางขับไล่จำเลยนั้นเป็นความเข้าใจของจำเลยเองการที่นางบุญล้อมขายที่ให้นายชาญ ๆ ขายต่อให้กับโจทก์นั้น อาจเป็นเพราะเบื่อหน่ายจำเลยจึงตัดขายเสียก็ได้ศาลฎีกาไม่เห็นมีเหตุผลอะไรที่จะให้เชื่อว่าโจทก์และนาวาตรีสตินายชาญ และนายยูชุงผู้รับจำนองจะได้สมคบกันกระทำเพื่อประโยชน์แก่นางบุญล้อมคนเดียว ฎีกาจำเลยไม่พอจะหักล้างเหตุผลที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์อ้างมาได้ ที่ศาลทั้งสองพิพากษาขับไล่จำเลยมาชอบแล้ว

จึงพิพากษายืน ให้จำเลยเสียค่าทนายชั้นฎีกาแทนโจทก์อีก 150 บาท

Share