แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 22 ถึงมาตรา 25 เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์โจทก์แล้ว กฎหมายบัญญัติห้ามมิให้โจทก์กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของตน โดยให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้มีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์ รวมทั้งการดำเนินคดีฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์เท่านั้น และถึงแม้โจทก์สิ้นสภาพบุคคลและเป็นคดีความผิดอันยอมความกันได้ก็ตาม ก็หาได้มีกฎหมายบัญญัติว่าในคดีอาญานั้น เมื่อโจทก์สิ้นสภาพบุคคลหรือตายแล้วให้คดีอาญาระงับไปไม่ คงมีแต่คดีอาญาเลิกกันและสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 37 และมาตรา 39 กับคดีเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 7 เท่านั้น คดีนี้เป็นคดีอาญาอยู่ระหว่างรออ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นยังอยู่จะนำ ป.วิ.พ. มาตรา 132 (3) มาใช้บังคับมิได้ เมื่อโจทก์มิได้ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้องหรือยอมความกันหรือมีเหตุทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับ และจำเลยทั้งสองมิได้นำเงินตามจำนวนในเช็คมาชำระภายในสามสิบวัน นับแต่ได้รับหนังสือจากผู้ทรงว่าธนาคารไม่ใช้เงินตามเช็คหรือมูลหนี้ที่ออกเช็คสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด จำเลยทั้งสองจะขอให้ศาลจำหน่ายคดีหาได้ไม่
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (4) ให้ปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 60,000 บาท จำเลยที่ 2 ให้จำคุก 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ต่อมาศาลชั้นต้นหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ก่อนถึงวันฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องว่าโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคล ถูกระงับการดำเนินกิจการตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2540 ผู้ชำระบัญชีได้ชำระบัญชีเสร็จสิ้นและยื่นคำร้องขอให้พิทักษ์ทรัพย์โจทก์เด็ดขาด ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์โจทก์เด็ดขาด เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2544 และพิพากษาให้ล้มละลายแล้วเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2545 ถือได้ว่าการชำระบัญชีได้เสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่ก่อนยื่นคำร้อง ขอให้พิทักษ์ทรัพย์โจทก์เด็ดขาด ถือไม่ได้ว่าบริษัทโจทก์ยังคงตั้งอยู่เพื่อชำระบัญชี บริษัทโจทก์จึงสิ้นสภาพการเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแล้วตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2544 ถือว่าโจทก์ไม่มีตัวตน ไม่มีผู้เข้ามาในคดีนี้เพื่อดำเนินคดีแทนโจทก์อีกต่อไป ขอให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ และต่อมาจำเลยทั้งสองขอเลื่อนการฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หลายครั้ง ศาลชั้นต้นจึงส่งคำร้องให้จำหน่ายคดีไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาสั่ง
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์โจทก์เด็ดขาด หาได้มีกฎหมายบัญญัติว่าคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องไว้เป็นอันระงับไปไม่ และในเรื่องที่ว่าจะต้องมีผู้ดำเนินคดีต่อไปนั้น เมื่อคดีได้ดำเนินมาจนเสร็จการพิจารณาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็ได้มีคำพิพากษาแล้วเช่นนี้ ย่อมสามารถดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ต่อได้ไม่มีเหตุจะจำหน่ายคดี ให้ยกคำร้อง และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า การที่โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลายขณะที่คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ถือว่ามีเหตุขัดข้องในการดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป จึงต้องจำหน่ายคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132 (3) หรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า บริษัทโจทก์ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดย่อมมีผลเท่ากับเป็นการตายไปโดยผลของกฎหมาย โจทก์ไม่มีตัวตนไม่มีผู้เข้ามาดำเนินคดีแทนโจทก์ และหากจำเลยทั้งสองฎีกา จำเลยทั้งสองจะนำส่งสำเนาฎีกาให้แก่ผู้ใดนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 ถึงมาตรา 25 เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์โจทก์แล้ว กฎหมายบัญญัติห้ามมิให้โจทก์กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของตน โดยให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้มีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์ รวมทั้งการดำเนินคดีฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์เท่านั้น และถึงแม้โจทก์สิ้นสภาพบุคคลและเป็นคดีความผิดอันยอมความกันได้ก็ตาม ก็หาได้มีกฎหมายบัญญัติว่าในคดีอาญานั้น เมื่อโจทก์สิ้นสภาพบุคคลหรือตายแล้วให้คดีอาญาระงับไปไม่ คงมีแต่คดีอาญาเลิกกันและสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 37 และมาตรา 39 กับคดีเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7 เท่านั้น คดีนี้เป็นคดีอาญาอยู่ระหว่างรออ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นยังอยู่จะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132 (3) มาใช้บังคับมิได้ เมื่อโจทก์มิได้ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้องหรือยอมความกันหรือมีเหตุทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับ และจำเลยทั้งสองมิได้นำเงินตามจำนวนในเช็คมาชำระภายในสามสิบวันนับแต่ได้รับหนังสือจากผู้ทรงว่าธนาคารไม่ใช้เงินตามเช็ค หรือมูลหนี้ที่ออกเช็คสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด จำเลยทั้งสองจะขอให้ศาลจำหน่ายคดีหาได้ไม่ สำหรับปัญหาการส่งสำเนาฎีกาให้แก่โจทก์ กรณีที่โจทก์ไม่มีตัวตนหรือไม่มีผู้เข้ามาดำเนินคดีแทนนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 201 ประกอบมาตรา 216 ก็ได้บัญญัติแนวทางปฏิบัติไว้แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องและให้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไปนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน