คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2346/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โรงงานยาสูบเป็นโรงงานผลิตบุหรี่ซิกาแรตจำหน่ายเพื่อแสวงหากำไรเป็นรายได้ของแผ่นดินที่รัฐเป็นผู้ดำเนินการเช่นเอกชนผู้ประกอบอุตสาหกรรมอื่นโดยทั่วไป มิใช่ราชการส่วนกลางตามความหมายที่ยกเว้นไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน แต่เป็นรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังเป็นเจ้าของ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้แทนได้แต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้อำนวยการโรงงานยาสูบมีอำนาจควบคุมดูแลจัดกิจการของโรงงานตามที่จำเลยที่ 1 มอบหมาย ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างตามความของประกาศกระทรวงมหาดไทย

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 กับที่ 5 จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 เป็นราชการส่วนกลาง โดยเป็นกระทรวงในรัฐบาล มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการอันกฎหมายบัญญัติให้เป็นการผูกขาดของรัฐตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 หมวด 3 ข้อ 9 โรงงานยาสูบเป็นหน่วยงานประกอบอุตสาหกรรมบุหรี่ซิกาแรตอันเป็นการผูกขาดตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 มาตรา 16 มิได้เป็นรัฐวิสาหกิจหรือองค์การใดหนึ่งซึ่งตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาโดยเฉพาะ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นราชการส่วนกลาง จึงได้รับยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ฉบับลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 1(1) ไม่ให้ตกอยู่ในบังคับของประกาศนี้ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ซึ่งปฏิบัติงานไปตามที่จำเลยที่ 1 มอบหมาย จำเลยที่ 2ไม่ใช่นายจ้างโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าชดเชยนั้น ศาลฎีกาได้พิเคราะห์ปัญหาข้างต้นเห็นว่า แม้กระทรวงการคลังจำเลยที่ 1 จะเป็นหน่วยงานบริหารราชการส่วนกลางตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ลงวันที่ 29 กันยายน 2515 ข้อ 5(2) และตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 ลงวันที่ 29 กันยายน 2515 หมวด 3 ข้อ 9 กระทรวงการคลังจะมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการอันกฎหมายให้เป็นการผูกขาดของรัฐหรือกิจการหารายได้ซึ่งรัฐมีอำนาจดำเนินการได้แต่ผู้เดียวตามกฎหมาย เช่น การผลิตบุหรี่ซิกาแรตตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 มาตรา 16 ก็ตาม แต่ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 216 ดังกล่าวข้อ 10 ซึ่งเป็นข้อกำหนดแบ่งส่วนราชการในกระทรวงการคลังก็มิได้ระบุให้โรงงานยาสูบเป็นส่วนราชการบริหารเหมือนสำนักงานและกรมทั้งหลายในสังกัด หากปรากฏจากคำสั่งที่ 19720/2497 เอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 1 ว่าโรงงานยาสูบขึ้นตรงต่อกระทรวงการคลัง และการบริหารงานโดยทั่วไปให้อยู่ในบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โรงงานยาสูบนี้ตามอุทธรณ์ของจำเลยได้ความว่า เป็นโรงงานประกอบอุตสาหกรรมบุหรี่ซิกาแรต คำว่า “อุตสาหกรรม” หมายถึงการทำสิ่งของเพื่อให้เป็นสินค้า ดังนี้ เห็นได้ว่าโรงงานยาสูบเป็นโรงงานผลิตบุหรี่ซิกาแรตจำหน่ายเพื่อแสวงหากำไรเป็นรายได้ของแผ่นดินที่รัฐเป็นผู้ดำเนินการเช่นเอกชนผู้ประกอบอุตสาหกรรมอื่นโดยทั่วไป มิใช่ราชการส่วนกลางตามความหมายที่ยกเว้นไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ฉบับลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 1(1) แต่เป็นรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังเป็นเจ้าของ ฉะนั้นความสัมพันธ์ระหว่างกระทรวงการคลัง จำเลยที่ 1 กับพนักงานผู้รับจ้างทำงานในโรงงานยาสูบจึงมีสภาพเป็นนายจ้างลูกจ้าง และตกอยู่ในบังคับของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างให้ปฏิบัติตามประกาศดังกล่าวได้ ส่วนที่จำเลยที่ 2 ที่อ้างว่ามิใช่เป็นนายจ้าง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ฉบับลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 ให้ความหมายของ “นายจ้าง” ว่า รวมถึงผู้ซึ่งได้รับหมายให้ทำงานแทนผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลด้วย ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้แทนได้แต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ มีอำนาจควบคุมดูแลกิจการของโรงงานยาสูบตามที่จำเลยที่ 1 มอบหมาย ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างตามความของประกาศกระทรวงมหาดไทยข้างต้นแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ได้เช่นกัน และในคดีนี้ศาลแรงงานกลางก็มิได้พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นส่วนตัว นับว่าเป็นผลดีแก่จำเลยที่ 2 แล้ว”

พิพากษายืน

Share