แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์มีคำขอให้เพิกถอนการโอนหุ้นระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 และให้ดำเนินการโอนหุ้นกลับให้จำเลยที่ 1เป็นเจ้าของหุ้นตามเดิม แม้จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3คบคิดกันโอนหุ้นตามคำฟ้องโดยฉ้อฉล อันทำให้โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237ก็ตาม แต่การให้เพิกถอนการโอนหุ้นรายนี้ย่อมกระทบกระเทือนสิทธิของบุคคลภายนอกซึ่งได้รับโอนหุ้นต่อไปเป็นทอด ๆ อันเป็นการบังคับคดีต่อบุคคลภายนอกซึ่งมิได้ถูกฟ้องเข้ามาเป็นคู่ความในคดีนี้ด้วย ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้ตามคำขอของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นกรมในรัฐบาลสังกัดกระทรวงการคลังมีอำนาจหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีอากรให้รัฐ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เดิมใช้ชื่อว่าบริษัทวุฒิเท็กซ์ไทล์จำกัด มีนางวัฒนา พัชราวนิช มารดาของจำเลยที่ 2 และที่ 3เป็นผู้เริ่มก่อการและเข้าชื่อซื้อหุ้น เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม2525 จำเลยทั้งสามกับนายสุวัฒน์ พัชราวนิช บิดาของจำเลยที่ 2และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตของจำเลยที่ 1 เข้าร่วมกันถือหุ้นในบริษัททวีวุฒิเท็กซ์ไทล์ จำกัด ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทฉัตรไทย จำกัด ในภายหลัง ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินสำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่ 1 ของโจทก์ไต่สวนพบว่าในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2524 และ 2525 จำเลยที่ 1 ค้างชำระเงินภาษีอากรแก่โจทก์รวมทั้งสิ้น 10,722,574 บาท เมื่อแจ้งการประเมินให้จำเลยที่ 1 ทราบ จำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินแก่โจทก์แต่ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากรและฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลางเพื่อให้เพิกถอนการประเมินดังกล่าวซึ่งศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาพิพากษายืน คดีถึงที่สุด แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ภาษีอากรค้างดังกล่าวแก่โจทก์ จากการตรวจสอบทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 พบว่าหลังจากได้รับแจ้งการประเมินภาษีอากรค้างดังกล่าวแล้วจำเลยที่ 1 ได้โอนหุ้นของบริษัทฉัตรไทย จำกัด ที่ถืออยู่จำนวน 6,958 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 1,000 บาท ชำระค่าหุ้นแล้วหุ้นละ 250 บาท คิดเป็นเงินที่ชำระแล้ว 1,739,500 บาทให้แก่จำเลยที่ 2 จำนวน 6,000 หุ้น คิดเป็นเงินค่าหุ้นที่ชำระแล้ว 1,500,000 บาท และให้แก่จำเลยที่ 3 จำนวน 958 หุ้นคิดเป็นเงินค่าหุ้นที่ชำระแล้ว 239,500 บาท โดยที่ยังไม่ได้รับเงินค่าหุ้นที่ชำระแล้วดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 2และที่ 3 ทราบดีว่า จำเลยที่ 1 ยังค้างชำระค่าภาษีอากรดังกล่าวแก่โจทก์ และจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่จะนำมาชำระให้แก่โจทก์ได้อก อันเป็นการสมคบกันกระทำการโดยไม่สุจริตเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้จำเลยที่ 1 ต้องชำระหนี้ดังกล่าวและมิให้โจทก์สามารถบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ได้ ทำให้โจทก์เสียเปรียบ ขอให้เพิกถอนการโอนหุ้นระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3และให้โอนหุ้นดังกล่าวคืนจำเลยที่ 1 หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสามโดยให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการและจำเลยทั้งสามเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 เคยถือหุ้นของบริษัทฉัตรไทย จำกัด อยู่จำนวนหนึ่ง ต่อมาได้โอนหุ้นทั้งหมดให้แก่บุคคลภายนอกไปโดยชอบแล้ว ไม่เคยได้รับโอนหุ้นตามฟ้องจากจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ได้รับโอนหุ้นของบริษัทฉัตรไทย จำกัดจากจำเลยที่ 1 มาเพียง 4,258 หุ้น โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้โอนหุ้นดังกล่าวให้แก่บุคคลภายนอกไปโดยชอบแล้วเช่นกันโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทั้งโจทก์ฟ้องเมื่อพ้น1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนการโอนคดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านว่า นับตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2537 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในบริษัทฉัตรไทย จำกัด ตามสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครได้รับรองสำเนาถูกต้องไว้เอกสารหมาย ล.5 คดีคงมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับตามคำขอท้ายฟ้องได้หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์มีคำขอให้เพิกถอนการโอนหุ้นระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3และให้ดำเนินการโอนหุ้นกลับให้จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของหุ้นตามเดิมดังนี้ แม้ข้อเท็จจริงรับฟังว่าจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2และที่ 3 คบคิดกันโอนหุ้นตามคำฟ้องโดยฉ้อฉล อันทำให้โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 237 ก็ดี แต่การให้เพิกถอนการโอนหุ้นรายนี้ย่อมกระทบกระเทือนสิทธิของบุคคลภายนอกซึ่งได้รับโอนหุ้นต่อไปเป็นทอด ๆ อันเป็นการบังคับคดีต่อบุคคลภายนอกซึ่งมิได้ถูกฟ้องเข้ามาเป็นคู่ความในคดีนี้ด้วย ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145กรณีจึงไม่อาจพิพากษาให้ตามคำขอของโจทก์ได้ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องชอบแล้ว หาเป็นการพิพากษาเกินคำขอของโจทก์แต่อย่างใดไม่
พิพากษายืน