แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 กับที่ 2 เป็นบิดามารดาของจำเลยที่ 3 ได้สู่ขอโจทก์ให้เป็นภรรยาจำเลยที่ 3 ในการสู่ขอนั้นจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ได้ตกลงจะยกที่นา 10 ไร่ให้โจทก์ เป็นการตอบแทนการที่โจทก์ยอมสมรสกับจำเลยที่ 3 จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งใช้บังคับกันได้ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 295/2491)
หลังจากโจทก์กับจำเลยที่ 3 สมรสกันแล้ว จำเลยที่1 กับที่ 2 ได้ปลูกเรือนพิพาทโดยเจตนาจะยกให้โจทก์กับจำเลยที่ 3 แต่มิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ยกให้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 เรือนพิพาทจึงยังเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 กับที่ 2 อยู่
จำเลยที่ 3 ด่าโจทก์และมารดาโจทก์ด้วยถ้อยคำหยาบคายเตะและตบทำร้ายร่างกายโจทก์ หมิ่นประมาทโจทก์ว่ามีชู้บุตรที่เกิดก็ว่าเกิดกับชู้ หมิ่นประมาทมารดาโจทก์ว่าเป็นหญิงสำส่อนให้ชาวบ้านร่วมประเวณี อันเป็นการหมิ่นประมาทอย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบิดามารดาจำเลยที่ 3ได้สู่ขอโจทก์ให้เป็นภรรยาจำเลยที่ 3 และได้จดทะเบียนสมรสกันจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ทองหมั้นหนัก 5 บาท ให้เงินสินสอด 3,000 บาท ทำหนังสือแบ่งที่ดินยกให้โจทก์ 10 ไร่ ราคา 20,000 บาท เป็นสินสอดและยกให้จำเลยที่ 3 อีก 10 ไร่ ราคา 20,000 บาท ต่อมาโจทก์กับจำเลยที่ 3 ได้ย้ายมาปลูกเรือนอยู่ต่างหาก หลังจากนั้นจำเลยที่ 3 ไม่ทำมาหากินเอาแต่เล่นการพนัน ดื่มสุราเมาอาละวาดด่าว่าโจทก์มีชู้บุตรซึ่งเกิดด้วยกันก็ว่า เป็นบุตรชู้ ตบเตะโจทก์ และว่ามารดาโจทก์ได้เสียกับชายสำส่อน ขอให้พิพากษาให้โจทก์กับจำเลยที่ 3 หย่าขาดจากกัน ถ้าจำเลยที่ 3 ไม่อาจหย่าได้ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนเจตนาหย่าของจำเลยที่ 3 ให้จำเลยที่ 3 แบ่งเรือนให้โจทก์ครึ่งหนึ่งหรือเป็นเงิน 3,000 บาท ถ้าแบ่งกันไม่ได้ให้ขายเรือนแบ่งเงินกัน ให้จำเลยที่ 3 แบ่งข้าวเปลือกในนาให้โจทก์ 500 ถังหรือเป็นเงิน 5,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไปแบ่งแยกที่ดินโอนให้โจทก์ 10 ไร่เป็นสินสอด
จำเลยทั้งสามให้การว่า ไม่ได้ยกนา 10 ไร่ให้โจทก์ นาดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียว สัญญายกให้ จำเลยที่ 1 ลงชื่อ ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ยอมลงชื่อ สัญญาดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ปลูกเรือนให้โจทก์กับจำเลยที่ 3 อยู่ในที่ดินของผู้อื่น โดยใช้เงินของจำเลยที่ 1 ที่ 2 จำเลยที่ 3 ไม่เคยทะเลาะดุด่าทุบตีโจทก์ ไม่เคยว่าโจทก์หรือมารดาโจทก์ตามฟ้อง โจทก์กับจำเลยที่ 3 ทำนา 40 ไร่เศษของจำเลยที่ 1 ที่ 2 อย่างบุตรช่วยบิดามารดา จึงขอแบ่งไม่ได้
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยที่ 3 หย่าขาดจากสามีภรรยากัน หากจำเลยที่ 3 ไม่ยอมจดทะเบียนหย่า ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน ให้จำเลยที่ 3 แบ่งเรือนให้โจทก์ครึ่งหนึ่งโดยชำระเงินให้โจทก์ 3,000 บาท หากไม่ชำระให้เอาเรือนขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกันคนละครึ่ง ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 จดทะเบียนแบ่งแยกนาให้โจทก์ 10 ไร่ หากไม่กระทำ ให้ถือเอาคำพิพากษาแสดงเจตนาแทน
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ในข้อที่จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องขอเพิ่มเติมคำให้การ ต่อมาเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาคดีแล้ว จำเลยโต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นภายในกำหนด 1 เดือน และยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนด 1 เดือนนับแต่ศาลชั้นต้นพิพากษา แต่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นว่า การจะโต้แย้งคำสั่งให้มีสิทธิอุทธรณ์ได้นั้น จะต้องโต้แย้งก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี เว้นแต่จะไม่มีโอกาสโต้แย้งได้ก่อนหาใช่ให้ยื่นคำโต้แย้งภายในกำหนด 1 เดือนดังจำเลยฎีกาไม่ ปรากฏว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2514 แล้วมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2514 จำเลยมีเวลาพอที่จะยื่นคำโต้แย้งได้ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อไม่ยื่นคำโต้แย้งจึงไม่มีสิทธิฎีกาในปัญหาข้อนี้
ข้อที่จำเลยฎีกาว่า การสู่ขอโจทก์ให้สมรสกับจำเลยที่ 3 นั้น จำเลยที่ 1 กับที่ 2 ไม่ได้พูดยกนาให้โจทก์เมื่อโจทก์ยินยอมทำการสมรส การยกนาให้โจทก์จึงไม่ใช่สัญญาต่างตอบแทน เมื่อมิได้นำไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้รับไม่มีสิทธิเรียกร้อง ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบ พฤติการณ์เห็นได้ว่าเป็นการตอบแทนที่โจทก์ยอมสมรสกับจำเลยที่ 3 จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนใช้บังคับกันได้ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 295/2491
ที่จำเลยฎีกาว่า เรือนพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ที่ 2 โจทก์กับจำเลยที่ 3 เป็นเพียงผู้อาศัยนั้น ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นผู้ออกเงินค่าปลูกเรือนพิพาท เรือนพิพาทซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์จึงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 กับที่ 2 จำเลยทั้งสองเพียงแต่เจตนาจะยกให้โจทก์กับจำเลยที่ 3 เท่านั้น ไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ยกให้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 เรือนพิพาท จึงยังเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 อยู่
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงต่อไปว่า จำเลยที่ 3 ได้ด่าโจทก์และมารดาโจทก์ด้วยถ้อยคำหยาบคาย เตะและตบทำร้ายร่างกายโจทก์ หมิ่นประมาทโจทก์ว่ามีชู้ บุตรที่เกิดก็ว่าเกิดกับชู้ หมิ่นประมาทมารดาโจทก์ว่าเป็นหญิงสำส่อนให้ชาวบ้านร่วมประเวณี อันเป็นการหมิ่นประมาทร้ายแรง การที่จำเลยหมิ่นประมาทโจทก์และมารดาโจทก์อย่างร้ายแรงเช่นนี้ เป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าได้
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า เรือนพิพาทไม่ใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์กับจำเลยที่ 3 ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้แบ่งเรือนพิพาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ