คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2343/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และภริยาโจทก์ช่วยชำระค่าปรับ 1,451,450 บาท ในข้อหามียาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบไว้ในครอบครองเกินกว่า 500 กรัม ต่อกรมสรรพสามิตแทนจำเลยที่ 1 โดยจำเลยทั้งสองตกลงจะร่วมกันนำเงินดังกล่าวมาชำระคืนให้แก่โจทก์และภริยาในภายหลัง จำเลยทั้งสองให้การในตอนแรกว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้ขอให้โจทก์ชำระหนี้ค่าปรับแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระค่าปรับเองแต่จำเลยทั้งสองกลับให้การในตอนหลังว่า หนี้ค่าปรับมิใช่เงินของโจทก์ ถ้าทางพิจารณาฟังได้ว่าเป็นเงินของโจทก์ซึ่งเป็นการชำระหนี้แทน ฟ้องโจทก์ก็ขาดอายุความ กรณีจึงเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งว่าหนี้ค่าปรับที่ชำระแก่กรมสรรพสามิตเป็นเงินของจำเลยที่ 1 หรือเป็นเงินของโจทก์ และเป็นคำให้การที่ขัดแย้งกันเองไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองให้การยอมรับหรือปฏิเสธฟ้องโจทก์โดยชัดแจ้ง จึงไม่มีสิทธินำพยานของตนเข้าสืบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2543 จำเลยทั้งสองขอให้โจทก์และนางวัฒนาภริยาโจทก์ ช่วยชำระเงินค่าปรับจำนวน 1,451,450 บาท ในข้อหามียาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบไว้ในครอบครองเกินกว่า 500 กรัม ต่อกรมสรรพสามิตแทนจำเลยที่ 1 โดยจำเลยทั้งสองตกลงว่าจะร่วมกันนำเงินมาชำระคืนให้แก่โจทก์และภริยา โจทก์และภริยาจึงชำระเงินค่าปรับจำนวนดังกล่าวให้แก่กรมสรรพสามิตแทนจำเลยที่ 1 ไป หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองเพิกเฉยไม่คืนเงินให้แก่โจทก์และภริยาตามสัญญา ต่อมาภริยาโจทก์ถึงแก่ความตาย ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของภริยา คิดถึงวันฟ้องจำเลยทั้งสองค้างชำระเงินโจทก์ 1,451,450 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,451,450 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้ขอให้โจทก์ชำระหนี้ค่าปรับแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระค่าปรับให้แก่กรมสรรพสามิตเอง ขณะภริยาโจทก์มีชีวิตไม่เคยทวงถามเงินค่าปรับจากจำเลยที่ 1 และโจทก์ก็ไม่เคยทวงถามเงินดังกล่าวด้วย หนี้ค่าปรับมิใช่เงินของโจทก์ ถ้าทางพิจารณาฟังได้ว่าเป็นเงินของโจทก์ซึ่งเป็นการชำระหนี้แทน ฟ้องโจทก์ก็ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 1,451,450 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และภริยาโจทก์ช่วยชำระค่าปรับจำนวน 1,451,450 บาท ในข้อหามียาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบไว้ในครอบครองเกินกว่า 500 กรัม ต่อกรมสรรพสามิตแทนจำเลยที่ 1 โดยจำเลยทั้งสองตกลงจะร่วมกันนำเงินดังกล่าวมาชำระคืนให้แก่โจทก์และภริยาในภายหลัง จำเลยทั้งสองให้การในตอนแรกว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้ขอให้โจทก์ชำระหนี้ค่าปรับแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระค่าปรับให้แก่กรมสรรพสามิตเอง แต่จำเลยทั้งสองกลับให้การในตอนหลังว่า หนี้ค่าปรับมิใช่เงินของโจทก์ ถ้าทางพิจารณาฟังได้ว่าเป็นเงินของโจทก์ซึ่งเป็นการชำระหนี้แทน ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ กรณีจึงเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งว่าหนี้ค่าปรับที่ชำระแก่กรมสรรพสามิตเป็นเงินของจำเลยที่ 1 หรือเป็นเงินของโจทก์ และเป็นคำให้การที่ขัดแย้งกันเองไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองให้การยอมรับหรือปฏิเสธฟ้องโจทก์โดยชัดแจ้ง จึงไม่มีสิทธินำพยานของตนเข้าสืบ แต่อย่างไรก็ดี คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 และโจทก์ไม่ได้ฎีกาเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 คดีของจำเลยที่ 2 จึงถึงที่สุดตามกฎหมาย
คงมีประเด็นวินิจฉัยชั้นศาลฎีกาว่า โจทก์และภริยาโจทก์ได้ชำระเงินค่าปรับจำนวน 1,451,450 บาท ต่อกรมสรรพสามิตแทนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ชำระเงินค่าปรับดังกล่าวคืนแก่โจทก์จริงหรือไม่ ซึ่งโจทก์และนางสาวพิศมัยผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาพระนครศรีอยุธยา เบิกความเป็นพยานประกอบเอกสารรายการเคลื่อนไหวทางบัญชีและสำเนาใบถอนเงินว่า นางวัฒนาได้ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของตนจำนวน 1,400,000 บาท เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2543 แล้วนำเงินที่รวบรวมจากการค้าขายอีกจำนวนประมาณ 50,000 บาท ไปชำระค่าปรับต่อกรมสรรพสามิตแทนจำเลยที่ 1 ตามสำเนาใบเสร็จรับเงิน แต่จนปัจจุบันจำเลยที่ 1 ก็ยังไม่ได้ชำระเงินคืน เห็นว่า โจทก์มีทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารประกอบกันดังกล่าวแล้ว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า โจทก์และภริยาโจทก์ได้ชำระเงินค่าปรับจำนวน 1,451,450 บาท ต่อกรมสรรพสามิตแทนจำเลยที่ 1 จริง อันถือได้วาเป็นการชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ชำระเงินค่าปรับดังกล่าวคืนแก่โจทก์ดังฟ้องจริง กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่เป็นประเด็นในคดีนี้แต่อย่างใดอีก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืนค

Share