คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1904/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

สำเนาบันทึกการจับกุมและสำเนาคำให้การของเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมจำเลยที่ 2 กับพวก เอกสารแนบท้ายฎีกาของจำเลยที่ 2 ซึ่งโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในวันเกิดเหตุหลังจากที่จำเลยที่ 2 กับพวกถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมพร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนของกลางแล้ว จำเลยที่ 2 กับพวกให้การรับสารภาพว่าซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจาก ถ. และสมัครใจเป็นสายลับล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจนเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานตำรวจสามารถล่อซื้อจับกุม ถ. พร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนอีกจำนวน 570 เม็ด จากข้อเท็จจริงดังกล่าวนับว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้กระทำความผิดผู้ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจหรือพนักงานสอบสวน จึงเห็นสมควรวางโทษจำเลยที่ 2 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตามนัยแห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2549 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยทั้งสามร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 750 เม็ด น้ำหนัก 68.270 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 15.374 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เหตุเกิดที่ตำบลดอนทราย อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสามพร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวเป็นของกลาง ก่อนคดีนี้ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2541 จำเลยที่ 1 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 6 ปี ในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1999/2541 ของศาลจังหวัดเพชรบุรี จำเลยที่ 1 พ้นโทษเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2547 จำเลยที่ 1 กลับมากระทำความผิดในคดีนี้อีก และเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2539 จำเลยที่ 2 ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 10 ปี ในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2341/2539 ของศาลอาญาธนบุรี จำเลยที่ 2 กลับมากระทำความผิดในคดีนี้อีกภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 97, 100/1, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 83, 92 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางและเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ และรับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษมาแล้วจริงตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 โดยให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นคดีใหม่
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 20 ปี และปรับ 600,000 บาท เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 เป็นจำคุก 30 ปี และปรับ 900,000 บาท จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 15 ปี และปรับ 450,000 บาท หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้กักขังแทนค่าปรับ 2 ปี ริบของกลาง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาโดยลงโทษน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 นั้น เห็นว่า ตามสำเนาบันทึกการจับกุมและสำเนาคำให้การของเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมจำเลยที่ 2 กับพวก เอกสารแนบท้ายฎีกาของจำเลยที่ 2 กับพวกซึ่งโจทก์มิได้แย้งคัดค้านปรากฏข้อเท็จจริงในวันเกิดเหตุหลังจากจำเลยที่ 2 กับพวกถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมพร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนของกลางแล้ว จำเลยที่ 2 กับพวกให้การรับสารภาพว่าซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจากนายถวิล ไม่ทราบนามสกุล และสมัครใจเป็นสายลับล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจนเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานตำรวจสามารถล่อซื้อจับกุมนายถวิลพร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนอีกจำนวน 570 เม็ด จากข้อเท็จจริงดังกล่าวนับว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้กระทำความผิดผู้ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน จึงเห็นสมควรวางโทษจำเลยที่ 2 ในสถานเบา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 เห็นว่า ไม่มีเหตุที่จะลงโทษจำเลยที่ 2 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตามนัยแห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น
อนึ่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกามีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 4 ที่บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ ดังนั้น เมื่อความผิดที่ศาลชั้นต้นจำคุกจำเลยที่ 2 ซึ่งโจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ จำเลยที่ 2 ได้พ้นโทษไปแล้วก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2550 จำเลยที่ 2 ย่อมได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ไม่ได้ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้วางโทษจำเลยที่ 2 จำคุก 10 ปี และปรับ 300,000 บาท ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 5 ปี และปรับ 150,000 บาท คำขอให้เพิ่มโทษจำคุกที่ 2 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

Share