คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2341/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยส่งของให้โจทก์ไม่ถูกต้องตามสัญญา โจทก์จึงใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันอันเป็นการใช้สิทธิตามข้อสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกค่าปรับรายวันจากจำเลยได้อีก สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยข้อหนึ่งกำหนดว่า ถ้าผู้ซื้อจัดซื้อสิ่งของภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันบอกเลิกสัญญา ผู้ขายต้องยอมรับผิดชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นจากราคาที่กำหนดไว้ในสัญญา เมื่อจำเลยผิดสัญญาโจทก์ผู้ซื้อได้บอกเลิกสัญญา ประกาศประกวดราคาใหม่ และประกาศผลการประกวดราคาภายในกำหนด 3 เดือนแล้ว แม้สัญญาซื้อขายจะกระทำกันเมื่อเกินกำหนด 3 เดือน ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการจัดซื้อภายในกำหนด 3 เดือน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกราคาเพิ่มขึ้นจากจำเลยได้ โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเนื่องจากจำเลยผิดสัญญาไม่ส่งมอบของให้โจทก์ถูกต้องและเรียกเบี้ยปรับตามสัญญา เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 มีอายุความ 10 ปี การที่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดของห้างจำเลยที่ 1 สอดเข้าไปจัดการงานของห้างจำเลยที่ 1 โดยกระทำตนเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ทำให้บุคคลภายนอกเข้าใจว่าจำเลยที่ 4 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดของห้างจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้สินของห้างจำเลยที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวน จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดของห้างจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างจำเลยที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลเดิมมีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ต่อมามีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแทนจำเลยที่ 4 เป็นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิด เมื่อวันที่ 11 กันยายน2523 โจทก์ทำสัญญาซื้อหัวเจาะเพชรกับจำเลยที่ 1 จำนวน 6 รายการผู้ขายต้องส่งตัวเจาะเกินจากที่กำหนดในรายการที่ 5 อีก 1 หัวเพื่อทดสอบโดยวิธีสุ่มตัวอย่างส่งไปทดสอบรายละเอียดของหัวเจาะและเนื้อโลหะที่ประเทศออสเตรเลีย ผลของการทดสอบจะต้องส่งจากสำนักงานทดสอบมายังประธานกรรมการตรวจรับโดยตรง 1 ฉบับ เมื่อถูกต้องแล้วคณะกรรมการตรวจรับจึงจะลงนามตรวจรับของ หากไม่ถูกต้องโดยมีคุณภาพต่ำกว่า ผู้ซื้อสงวนสิทธิที่จะไม่รับของทั้งหมดผู้ขายจะต้องส่งมอบสิ่งของที่ซื้อขายให้แก่ผู้ซื้อภายในวันที่10 ธันวาคม 2523 ให้ถูกต้องและครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในสัญญาถ้าสิ่งของที่ผู้ขายส่งมอบไม่ตรงตามสัญญาผู้ซื้อมีสิทธิที่จะไม่รับของนั้น ในวันทำสัญญาผู้ขายนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารภารตโอเวอร์ซีส์ จำกัด จำนวนเงิน 37,800 บาท มามอบเป็นประกันปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบสิ่งของที่ขายให้โจทก์ภายในวันที่10 ธันวาคม 2523 แต่กลับส่งมอบในวันที่ 24 ธันวาคม 2523 โจทก์จึงสุ่มตัวอย่างโดยส่งหัวเจาะจำนวน 1 หัว ไปทดสอบที่ประเทศออสเตรเลีย ต่อมาโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งผลการทดสอบว่าหัวเจาะเพชรดังกล่าวมีรายละเอียดถูกต้องตามสัญญาเว้นแต่คุณภาพของเพชรต่ำกว่า (เกรด) WA-1 ไม่ถูกต้องตามความต้องการของโจทก์ในสาระสำคัญ โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบว่า ของที่ส่งมอบไม่ถูกต้องตามความต้องการของโจทก์ พร้อมกับแจ้งให้จำเลยที่ 1 นำสิ่งของที่ถูกต้องตามสัญญามาส่งมอบให้โจทก์ จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งว่ายอมรับผิดทุกประการ ขอให้โจทก์พิจารณารับหัวเจาะเพชรดังกล่าวไว้โดยจำเลยที่ 1 ยอมลดราคาลงอีก 28,000บาท ต่อมาวันที่ 4 กันยายน 2524 โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1ทราบว่าโจทก์ไม่สามารถรับหัวเจาะเพชรซึ่งมีคุณภาพต่ำกว่า(เกรด) WA-1 มาใช้ในงานราชการได้ ขอให้จำเลยที่ 1 นำหัวเจาะเพชรกลับคืนไป แล้วนำหัวเจาะเพชรที่ถูกต้องตามสัญญามาส่งมอบให้โจทก์โดยโจทก์ขอสงวนสิทธิตามสัญญาทุกประการ ต่อมาจำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงโจทก์อีก 3 ฉบับ แจ้งว่า จำเลยที่ 1 ประสบปัญหาขาดทุนขอให้โจทก์พิจารณารับของไว้ และขอให้โจทก์ทดลองทดสอบคุณภาพของหัวเจาะเพชรใหม่อีก และยอมรับว่าเป็นผู้ผิดสัญญา โจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาต่อจำเลยที่ 1 ลงวันที่ 26 เมษายน 2524 ให้มีผลตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2525 และโจทก์ใช้สิทธิริบหลักประกันตามสัญญาเป็นเงิน 37,800 บาท เป็นของโจทก์ โจทก์มีความจำเป็นต้องใช้หัวเจาะเพชรตามสัญญา จึงทำการจัดซื้อหัวเจาะเพชร จำนวน 6 รายการใหม่ โดยวิธีประกวดราคาซึ่งบริษัทซอยล์ เทสติ้ง สยามเอ็นจิเนียริ่งคอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นผู้ประกวดราคาได้ในราคา 594,680 บาท และได้ทำสัญญาซื้อขายเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2525 การที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเป็นเหตุให้โจทก์ต้องจัดซื้อสิ่งของนั้นจากบุคคลอื่นในราคาสูงกว่าเดิม จำเลยที่ 2เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในหนี้ทั้งปว>โดยไม่จำกัดจำนวน จำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการในขณะที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายหัวเจาะเพชรกับโจทก์ จำเลยที่ 3ออกจากการเป็นหุ้นส่วนยังไม่พ้นกำหนด 2 ปี จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในบรรดาหนี้สินทั้งปวงที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดขึ้นในขณะที่จำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด แต่ยินยอมเอาชื่อของจำเลยที่ 4ไปเรียกขานระคนเป็นชื่อห้างของจำเลยที่ 1 นอกจากนั้นจำเลยที่ 4 ยังได้สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของจำเลยที่ 1 และได้แสดงออกให้ปรากฏต่อบุคคลทั่วไปว่า จำเลยที่ 4 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 มีอำนาจเต็มที่จะจัดการงานแทนหรือในนามของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ทั้งปวงของจำเลยที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวนเสมือนเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด จำเลยทั้งสี่จึงต้องร่วมกันรับผิดชำระค่าปรับตามสัญญาเป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.2 ของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้ส่งมอบทั้งหมด 378,000 บาท ตั้งแต่วันถัดจากวันครบกำหนดส่งมอบตามสัญญา คือวันที่ 11 ธันวาคม 2523 จนถึงวันที่4 พฤษภาคม 2525 ซึ่งเป็นวันเลิกสัญญาเป็นเวลา 510 วัน คิดเป็นเงินค่าปรับ 385,560 บาท และต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ราคาของที่เพิ่มขึ้นจากราคาที่กำหนดไว้ในสัญญาเนื่องจากโจทก์ต้องจัดซื้อจากบุคคลอื่นภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันบอกเลิกสัญญาเป็นเงิน 216,680 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 602,240 บาท ซึ่งจำเลยทั้งสี่ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ โจทก์มีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยทั้งสี่ แต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 602,240 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาโดยส่งมอบของให้โจทก์ครบถ้วน และโจทก์รับมอบไว้โดยไม่อิดเอื้อน แต่โจทก์กลับเป็นฝ่ายผิดสัญญาอ้างว่าคุณภาพของเพชรต่ำกว่า (เกรด) WA-1 ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาทั้งที่ตามสัญญาทุกข้อระบุคุณภาพของเพชรว่า “หรือเทียบเท่า” จำเลยที่ 1ส่งมอบหัวเจาะเพชรที่มีคุณสมบุติของเพชรเทียบเท่าระดับ WA-1ให้โจทก์ถูกต้องแล้ว พร้อมใบกำกับสินค้าและหนังสือรับรองคุณภาพของเพชรว่ามีระดับ ดับเบิลยู เอ 1 (เกรด WA-1) จากบริษัท โวลตัสจำกัด หนังสือรับรองของสมาคมการค้าและอุตสาหกรรมประเทศอินเดียและจากสถาบันยูเอส อาร์มี่ คอร์ป ออฟ เอ็นจิเนียส์ ซึ่งเป็นสถาบันที่ยอมรับกันทั่วโลกอีกด้วย จำเลยที่ 1 ไม่เคยมีหนังสือยอมรับผิดหรือยอมลดราคาให้โจทก์แต่มีหนังสือถึงโจทก์เป็นการเสนอสละประโยชน์ของจำเลยที่ 1 เพื่อประโยชน์แก่ทางราชการซึ่งโจทก์ตอบปฏิเสธ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 4 รับผิดชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากโจทก์ต้องซื้อจากบุคคลอื่น เพราะโจทก์ไม่ได้ซื้อของจากบุคคลอื่นภายในกำหนด3 เดือน ตามสัญญา และไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 4 ชำระค่าปรับ เพราะจำเลยที่ 1 ส่งมอบสิ่งของครบถ้วนตามสัญญา และโจทก์รับมอบไว้แล้ว ทั้งโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อ 8 แล้ว จำเลยที่ 2 เข้าดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 หลังจากโจทก์บอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 แล้ว และทำกิจการในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ถือเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในฐานะส่วนตัว ส่วนจำเลยที่ 4เป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด รับมอบอำนาจทั่วไปกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 4 ไม่เคยสอดเข้าไปจัดกิจการของจำเลยที่ 1 ไม่เคยแสดงให้บุคคลภายนอกเข้าใจว่าจำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของกิจการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 ไม่เคยใช้ชื่อของจำเลยที่ 1แสดงต่อบุคคลภายนอกเพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว และชื่อทางการค้าของจำเลยที่ 1 ไม่เหมือนหรือคล้ายกับชื่อตัวของจำเลยที่ 4จำเลยที่ 4 จัดกิจการต่าง ๆ แทนจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับมอบอำนาจทั่วไปจากจำเลยที่ 1 เพื่อผลประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เพราะโจทก์ฟ้องโดยอ้างมูลหนี้ตามสัญญาซื้อขาย แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์สามารถใช้สิทธิเรียกร้องมูลหนี้ตามสัญญาซื้อขายได้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า ไม่เคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการหรือหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดหรือมีส่วนร่วมใด ๆ ในห้างจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ไม่เคยลงลายมือชื่อในหนังสือใด ๆ ให้แก่จำเลยที่ 1 รวมทั้งหนังสือมอบอำนาจในนามของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 4ทำการแทนจำเลยที่ 1 ตามสัญญาซื้อขายหัวเจาะเพชร ฝ่ายจำเลยที่ 1ได้ปฏิบัติตามสัญญาและส่งมอบของให้โจทก์ในปริมาณและคุณภาพถูกต้องตามสัญญา โจทก์คิดค่าปรับสูงกว่าที่โจทก์เสียหายจริงขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้เงินจำนวน 478,880 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3ร่วมกันใช้เงินจำนวน 216,680 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3จะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4
โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามสัญญาข้อ 8 ระบุว่าถ้าผู้ขายไม่ส่งมอบของที่ตกลงขายให้แก่ผู้ซื้อหรือส่งมอบสิ่งของทั้งหมดไม่ถูกต้องหรือส่งไม่ครบจำนวน ผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ในกรณีที่ผู้ซื้อใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อริบหลักประกันหรือเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกหนังสือรับรองตามสัญญาข้อ 7 ใช้เงินเป็นจำนวนทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้ แล้วแต่ผู้ซื้อจะเห็นสมควรและถ้าผู้ซื้อจัดซื้อสิ่งของภายใน 3 เดือน นับแต่วันบอกเลิกสัญญา ผู้ขายต้องยอมรับผิดชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นจากราคาที่กำหนดไว้ในสัญญานี้ ตามสัญญาข้อ 9 ระบุว่า ในกรณีผู้ซื้อไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามข้อ 8 ผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละ ศูนย์จุดสอง (0.2) ของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้รับมอบ นับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดตามสัญญาจนถึงวันที่ผู้ขายได้นำสิ่งของมาส่งให้แก่ผู้ซื้อจนถูกต้องครบถ้วนในระหว่างที่มีการปรับนั้น ถ้าผู้ซื้อเห็นว่าผู้ขายไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ ผู้ซื้อจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา และริบหลักประกันหรือเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันตามสัญญาข้อ 7 กับเรียกร้องให้ชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นจากราคาที่กำหนดไว้ในสัญญาข้อ 8 วรรค 2 นอกเหนือจากการปรับจนถึงวันบอกเลิกสัญญาก็ได้ เห็นว่าตามสัญญาข้อ 9 นี้ ให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับได้ในกรณีที่โจทก์มิได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา แต่คดีนี้ได้ความว่า โจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันตามสัญญาข้อ 8 แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าปรับเป็นรายวันตามสัญญาข้อ 9 ได้อีก
โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 สอดเข้าไปจัดการงานของห้างจำเลยที่ 1อ้างเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 และยังยอมให้จำเลยที่ 1นำชื่อสกุลส่วนหนึ่งของจำเลยที่ 4 ไปขานระคนกับชื่อห้างจำเลยที่ 1จำเลยที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดตามฟ้องนั้น เห็นว่า หนังสือมอบอำนาจของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 หุ้นส่วนผู้จัดการ ลงวันที่9 มีนาคม 2523 ตามเอกสารหมาย จ.23 ให้อำนาจจำเลยที่ 4 เป็นตัวแทนกระทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น การทำสัญญาซื้อขายกับโจทก์ลงวันที่ 11 กันยายน 2523 ตามเอกสารหมาย จ.4 จำเลยที่ 4 ลงชื่อในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 แต่หลังจากนั้นหนังสือที่ส่งไปถึงโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.10, จ.13, จ.15 และ จ.16 ลงชื่อจำเลยที่ 4เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการทั้งสิ้น มิได้กระทำในฐานะตัวแทน เห็นว่าจำเลยที่ 4 เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด สอดเข้าไปจัดการงานของห้างจำเลยที่ 1 โดยกระทำตนเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการทำให้บุคคลภายนอกเข้าใจว่าจำเลยที่ 4 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแล้ว และเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด ฉะนั้น จำเลยที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้สินของห้างจำเลยที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1088
จำเลยฎีกาว่า โจทก์มิได้จัดซื้อสิ่งของจากบุคคลอื่นภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่บอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชอบใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นนั้น เห็นว่า ตามสัญญาข้อ 8 เพียงแต่ระบุให้จัดซื้อภายใน 3 เดือน นับแต่วันเลิกสัญญา มิได้กำหนดว่าต้องทำสัญญาซื้อขายภายใน 3 เดือน จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2525 โจทก์ประกาศประกวดราคาเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2525 และประกาศผลการประกวดราคาเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2525 ว่าตกลงซื้อหัวเจาะเพชรจำนวน 6 รายการเป็นเงิน 594,680 บาท จากบริษัท ซอยล์ เทสติ้งสยาม เอ็นยิเนียริ่งคอนซัลแตนท์ จำกัด ตามเอกสารหมาย จ.19 แสดงว่าโจทก์ได้จัดซื้อและตกลงซื้อภายในกำหนด 3 เดือนแล้ว แม้สัญญาซื้อขายจะกระทำเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2525 เลยกำหนด 3 เดือนไปแล้ว ก็เป็นผลสืบเนื่องจากการจัดซื้อภายใน 3 เดือน โจทก์มีสิทธิเรียกราคาที่เพิ่มจากจำเลยที่ 1 ได้
จำเลยฎีกาว่า โจทก์ฟ้องบังคับตามสัญญาซื้อขายต้องฟ้องภายใน 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์สามารถใช้สิทธิเรียกร้องได้ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเนื่องจากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ส่งมอบของให้โจทก์ให้ถูกต้อง และเรียกเบี้ยปรับตามสัญญา กรณีนี้ ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 มีอายุความ 10 ปี โจทก์เลิกสัญญาเมื่อวันที่ 4พฤษภาคม 2525 และฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2527ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ปัญหาว่าจำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด ต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างจำเลยที่ 1 ไม่มีจำกัดจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1077
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 3 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share