แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่แต่งตั้ง ก. เป็นทนายความเข้ามาภายในกำหนด เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถตามคำสั่งศาล การที่ ก. ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แทนจำเลยที่ 3 และที่ 4 และศาลมีคำสั่งอนุญาตจึงเป็นการสั่งโดยผิดหลงจึงมีคำสั่งใหม่เพิกถอนคำสั่งเดิม และมีคำสั่งไม่รับคำร้องขอขยายระยะเวลาดังกล่าว จำเลยที่ 3 และที่ 4 ยื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนด ศาลมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จำเลยที่ 3 และที่ 4 ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงไม่อาจอนุญาตให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถได้อีก ให้ยกคำร้อง ดังนี้ เท่ากับว่าศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธไม่ยอมรับอุทธรณ์ของศาลชั้นต้น คำสั่งดังกล่าวเป็นที่สุดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 198 ทวิ วรรคสาม จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงไม่มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 3
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 157, 162 (1) (4) จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่งตั้งนายกิตติชัย งามศิลป์ เป็นทนายความ ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 แต่งตั้งนายศราวุธ คำศรี เป็นทนายความ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162 (1) (4) ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162 (1) (4) ประกอบมาตรา 86 การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 157 และ 157 ประกอบมาตรา 86 ซึ่งเป็นบทหนัก ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีกำหนด 6 ปี จำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 4 ปี โดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ฟังเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2546 ต่อมาเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2546 จำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องขอให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งแรก โดยจำเลยทั้งสี่ลงลายมือชื่อท้ายคำร้องและมีนายกิตติชัย งามศิลป์ ทนายความของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้เรียงเขียน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ถึงวันที่ 12 มีนาคม 2546 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2546 จำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องขอให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ไปถึงวันที่ 31 มีนาคม 2546 โดยจำเลยทั้งสี่ไม่ได้ลงลายมือชื่อท้ายคำร้อง คงมีแต่นายกิตติชัย ทนายความของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ลงลายมือชื่อเพียงผู้เดียว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2546 ตามที่ร้องขอเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2546 จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นมาในอุทธรณ์ฉบับเดียวกัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้แต่งตั้งนายกิตติชัยเป็นทนายความ ให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 แต่งตั้งทนายความให้เสร็จภายใน 5 วัน มิฉะนั้นจะมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 และรอสั่งอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 3 และที่ 4 ดำเนินการหรือไม่ดำเนินการภายในกำหนด ต่อมาวันที่ 3 เมษายน 2546 เจ้าหน้าที่ศาลรายงานว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่แต่งตั้งทนายความในเวลาที่ศาลกำหนด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งใหม่ว่า จำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดจึงรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่แต่งตั้งนายกิตติชัย งามศิลป์ เป็นทนายความเข้ามาภายในกำหนดเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถตามคำสั่งศาล ดังนั้น การที่นายกิตติชัยยื่นคำร้องขอระยะเวลายื่นอุทธรณ์แทนจำเลยที่ 3 และที่ 4 และศาลมีคำสั่งอนุญาตจึงเป็นคำสั่งโดยผิดหลง ให้มีคำสั่งใหม่เพิกถอนคำสั่งเดิมและมีคำสั่งไม่รับคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 5 มีนาคม 2546 เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จำเลยที่ 3 และที่ 4 ยื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่ศาลมีคำพิพากษา จึงมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 หากครบกำหนด 15 วัน ให้เจ้าหน้าที่รายงานเพื่อมีหมายแจ้งนายประกันให้ส่งตัวจำเลยที่ 3 และที่ 4 หมายแจ้งคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ทราบไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิด
เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2546 จำเลยที่ 3 และที่ 4 แต่งตั้งนายกิตติชัย งามศิลป์ เป็นทนายความและยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นให้โอกาสจำเลยที่ 3 และที่ 4 แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถแล้ว แต่จำเลยที่ 3 และที่ 4 เพิกเฉยไม่ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงไม่อาจอนุญาตให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถได้อีกให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ยื่นอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 27 มีนาคม 2546 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่ 3 เมษายน 2546 ว่า จำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดที่ศาลอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์จึงรับเป็นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่แต่งตั้งนายกิตติชัย งามศิลป์ เป็นทนายความเข้ามาภายในกำหนด เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถตามคำสั่งศาล ดังนั้นการที่นายกิตติชัยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แทนจำเลยที่ 3 และที่ 4 และศาลมีคำสั่งอนุญาตจึงเป็นการสั่งโดยผิดหลง ให้มีคำสั่งใหม่เพิกถอนคำสั่งเดิมและมีคำสั่งไม่รับคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 5 มีนาคม 2546 เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จำเลยที่ 3 และที่ 4 ยื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่ศาลมีคำพิพากษา จึงมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จำเลยที่ 3 และที่ 4 ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาแล้วเห็นว่าการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงไม่อาจอนุญาตให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถได้อีก ให้ยกคำร้อง ดังนี้ เท่ากับว่าศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธไม่ยอมรับอุทธรณ์ของศาลชั้นต้น คำสั่งดังกล่าวเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198 ทวิ วรรคสาม จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงไม่มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 มานั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 3 ที่ 4