แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำฟ้องเรียกเงินค่าขายที่ดิน มิได้บ่งถึงการที่จะบังคับแก่ตัวทรัพย์คือที่ดินนั้น จึงไม่ใช่คำฟ้องที่เกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิหรือประโยชน์ใด ๆ อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้น จะฟ้องต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(1) หาได้ไม่ต้องฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล ถ้าโจทก์ประสงค์จะฟ้องต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้น ก็ต้องยื่นคำขอ โดยทำเป็นคำร้องแสดงให้เห็นว่าการพิจารณาคดีในศาลนั้น ๆ จะเป็นการสะดวก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 4(2) เสียก่อน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซื้อที่ดินจากโจทก์ ๔ แปลง ราคา ๗๐,๐๐๐ บาท โดยจ่ายเช็คให้โจทก์ ๒ ฉบับ แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เพราะบัญชีของจำเลยปิดแล้ว จำเลยยอมโอนที่ดิน ๓ แปลงคืนให้โจทก์ แต่ที่ดินอีกแปลงหนึ่งราคา ๒๐,๐๐๐ บาท จำเลยว่าจะหาเงินมาชำระให้โจทก์แต่แล้วก็ไม่ชำระ จึงขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท ให้โจทก์
จำเลยต่อสู้หลายประการ และตัดฟ้องว่า จำเลยมีภูมิลำเนาแน่นอนอยู่ในเขตศาลแพ่ง โจทก์ทราบดี โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดขอนแก่นจึงไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า การยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัดขอนแก่น โจทก์ทราบดีว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาลแพ่ง จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๔(๒) ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำฟ้องเรียกค่าขายที่ดินที่ตั้งอยู่ในเขตศาลจังหวัดขอนแก่นมิได้บ่งถึงการที่จะบังคับแก่ตัวทรัพย์คือที่ดินนั้น จึงไม่ใช่คำฟ้องที่เกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิหรือประโยชน์ใด ๆ อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นจะฟ้องต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๔(๑) หาได้ไม่ คำฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องเรียกเงินค่าขายที่ดิน ต้องฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนา เฉพาะคดีนี้คือศาลแพ่ง ถ้าโจทก์มีความประสงค์จะยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัดขอนแก่นที่มูลคดีนี้เกิดขึ้นก็ต้องยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องแสดงให้เห็นว่าการพิจารณาคดีในศาลนั้น ๆ จะเป็นการสะดวก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๔(๒) เสียก่อน เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตาม ศาลจังหวัดขอนแก่นซึ่งไม่มีเขตอำนาจเหนือคดีนี้ จึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้
พิพากษายืน