คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2330/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ว่าโทษที่จำเลยได้รับครั้งก่อนจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติกัญชาพุทธศักราช 2477 แต่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 3 ได้บัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติกัญชา พุทธศักราช 2477 ทั้งฉบับ โดยถือว่ากัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 และผู้มีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตาม มาตรา 26, 76 ดังนั้น การที่จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกฐานมีกัญชาไว้ในครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาตในคดีก่อนจึงต้องถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษด้วย เมื่อจำเลยกระทำความผิดฐานมีเฮโรอีนอันเป็น ยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ไว้ในครอบครองภายในกำหนดเวลาห้าปี นับแต่วันพ้นโทษคดีก่อน จึงอยู่ในเกณฑ์ที่จะเพิ่มโทษจำเลยตาม มาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเฮโรอีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต และจำเลยเคยต้องโทษจำคุกฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ได้กระทำผิดคดีนี้อีกภายในระยะเวลาห้าปีนับแต่พ้นโทษ ขอให้ลงโทษและเพิ่มโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๗, ๙๗ ให้จำคุก ๒ ปี เพิ่มโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๙๗ กึ่งหนึ่งเป็นจำคุก ๓ ปี รับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก ๑ ปี ๖ เดือนริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์ว่าการเพิ่มโทษกึ่งหนึ่งไม่ถูกต้อง
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดก่อนพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ใช้บังคับ ที่ศาลชั้นต้นเพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งตามมาตรา ๙๗ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง จะเพิ่มโทษได้เพียงหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๒ พิพากษาแก้เป็นว่าให้วางโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด ๒ ปี เพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๒ หนึ่งในสาม เป็นจำคุก ๒ ปี ๘ เดือนรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๑ ปี ๔ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๙๗ อันเป็นกฎหมายใช้บังคับในขณะจำเลยกระทำผิดคดีนี้ บัญญัติว่า”ผู้ใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ถ้ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้อีกในระหว่างที่ยังต้องรับโทษอยู่หรือภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ หากศาลจะพิพากษาโทษครั้งหลังถึงจำคุก ให้เพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้นั้นอีกกึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดครั้งหลัง” คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเคยถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตแล้วมากระทำผิดคดีนี้ภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษคดีก่อน แม้ว่าโทษครั้งก่อนจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติกัญชา พุทธศักราช ๒๔๗๗ แต่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓ ได้บัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติกัญชา พุทธศักราช ๒๔๗๗ ทั้งฉบับ แล้วนำมาบัญญัติไว้ในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ โดยถือว่ากัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท ๕ และผู้ที่มีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตามมาตรา ๒๖, ๗๖ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท ดังนั้นการที่จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตในคดีก่อน จึงต้องถือว่าเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษด้วย เมื่อจำเลยกระทำความผิดฐานมีเฮโรอีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท ๑ ไว้ในครอบครองภายในกำหนดเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษคดีก่อนจึงอยู่ในเกณฑ์ที่จะเพิ่มโทษจำเลยตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งตามมาตรา ๙๗ แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ไม่ได้ เพราะจำเลยกระทำความผิดคดีก่อนเป็นการกระทำความผิดก่อนที่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ใช้บังคับ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งตามมาตรา ๙๗ แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ เป็นจำคุกจำเลย ๓ ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งเพราะจำเลยให้การรับสารภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๑ ปี ๖ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share