คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2329/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123(3) ที่ให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างในกรณีฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งอันชอบด้วย กฎหมายโดย นายจ้างได้ว่ากล่าวและตักเตือน เป็นหนังสือแล้วนั้น หนังสือตักเตือน ดังกล่าวจะมีอยู่ก่อนหรือมีขึ้นภายหลังจากข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับก็ได้ เมื่อปรากฏว่าก่อนที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ นายจ้างเคยตักเตือนลูกจ้างเป็นหนังสือมาแล้ว และลูกจ้างได้มา กระทำผิดซ้ำคำตักเตือนเป็นหนังสือภายหลังข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างใช้บังคับอีก นายจ้างย่อมเลิกจ้างลูกจ้างได้ตามบทกฎหมายดังกล่าว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ จำเลยมีคำสั่งที่ 37/2532 ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2532 ให้โจทก์รับนายสถิตย์ จิตรสะอาด เข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างเดิมพร้อมจ่ายค่าเสียหาย หรือให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายจำนวน 12,200 บาทโดยอ้างว่าโจทก์เลิกจ้างนายสถิตย์ฝ่าฝืนมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อเท็จจริงโจทก์เลิกจ้างนายสถิตย์ก็เพราะนายสถิตย์ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรหลายครั้ง ซึ่งโจทก์เคยตักเตือนเป็นหนังสือแล้วต่อมาวันที่ 26 และ 27 เมษายน 2532 นายสถิตย์ได้ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควรอีกซึ่งฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ โจทก์จึงเลิกจ้างได้ จึงขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ 37/2532 ของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์
จำเลยทั้งสิบเอ็ดให้การว่า คำสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายและข้อเท็จจริง เพราะวันที่ 26 และ 27 เมษายน 2532 นายสถิตย์ป่วยโดยยื่นใบลาและได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา และมีใบรับรองแพทย์ หากจะฟังว่าละทิ้งหน้าที่ก็มิใช่ความผิดร้ายแรงและเป็นความผิดครั้งแรกหลังข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ โจทก์ไม่มีสิทธิเลิกจ้างนายสถิตย์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งที่ 32/2532ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2532 ของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์
จำเลยทั้งสิบเอ็ดอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ที่จำเลยทั้งสิบเอ็ดอุทธรณ์ว่า ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 123(3) นั้น ต้องเป็นการกระทำผิดซ้ำคำตักเตือนที่ออกระหว่างสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าหลังจากที่โจทก์และพนักงานของโจทก์มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้องแล้ว นายสถิตย์เพิ่งทำผิดระเบียบโดยขาดงานเป็นครั้งแรก โจทก์ไม่มีสิทธิเลิกจ้างนายสถิตย์ด้วยเหตุดังกล่าวนั้น ข้อเท็จจริงยุติตามที่แรงงานกลางวินิจฉัยว่าดจทก์เคยตักเตือนนายสถิตย์เป็นหนังสือเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2532เรื่องขาดงาน ตามเอกสารหมาย จ.8 ก่อนที่จะมีการยื่นข้อเรียกร้องที่นายสถิตย์เป็นผู้แทนเจรจา ข้อเรียกร้องสามารถตกลงกันได้โดยได้ทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกันเมื่อวันที่ 28กุมภาพันธ์ 2532 เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 123 บัญญัติว่า “ในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดมีผลใช้บังคับ ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้าง ลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง…ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง เว้นแต่บุคคลดังกล่าว…(3) ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างโดยนายจ้างได้ว่ากล่างและตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว…”ตามบทบัญญัติของมาตรานี้ที่ให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างในกรณีฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายโดยนายจ้างได้ว่ากล่าวและตักเตือนเป็นหนังสือแล้วนั้น มิได้บัญญัติไว้ให้เห็นเลยว่าต้องเป็นหนังสือตักเตือนที่มีขึ้นหลังจากข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ หรือการกระทำผิดซ้ำคำตักเตือนเป็นหนังสือที่ได้ตักเตือนก่อนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีผลใช้บังคับนั้นไม่ถือเป็นการกระทำผิดซ้ำคำตักเตือน ทั้งการยื่นข้อเรียกร้องนั้นก็ไม่มีบทกฎหมายใดให้ถือว่าหนังสือตักเตือนที่มีอยู่ก่อนนั้นสิ้นผลไป โจทก์จึงเลิกจ้างนายสถิตย์ได้ตามบทกฎหมายที่กล่าวข้างต้น ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน.

Share