แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123(3)ที่ให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ ในกรณีที่ลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย โดยนายจ้างได้ว่ากล่าวและตักเตือนเป็นหนังสือแล้วนั้น หนังสือตักเตือนดังกล่าวจะมีอยู่ก่อนหรือภายหลังจากข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับก็ได้เมื่อปรากฏว่าก่อนที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับนายจ้างเคยตักเตือนลูกจ้างเป็นหนังสือมาแล้ว และลูกจ้างได้มากระทำผิดซ้ำคำตักเตือนเป็นหนังสือภายหลังข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างใช้บังคับอีก นายจ้างย่อมเลิกจ้างลูกจ้างได้ตามบทกฎหมายดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งสิบเอ็ดซึ่งได้สั่งให้โจทก์รับนายสถิตย์ จิตรสะอาด ลูกจ้างโจทก์กลับเข้าทำงานพร้อมกับจ่ายค่าเสียหาย จำเลยทั้งสิบเอ็ดขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มีหนังสือตักเตือนนายสถิตย์เมื่อวันที่ 1กุมภาพันธ์ 2532 เนื่องจากละทิ้งหน้าที่การงานโดยการขาดงานเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2532 ตามเอกสารหมาย จ.8 เป็นการตักเตือนครั้งที่สองหลังจากการตักเตือนครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน2531 กรณีขาดงานในวันที่ 11, 15 และ 26 กรกฎาคม 2531 และวันที่ 2, 20 และ 24 สิงหาคม 2531 ต่อมาวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2532นายสถิตย์และพนักงานอื่น ๆ ของโจทก์จำนวน 105 คน ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อโจทก์โดยมีนายสถิตย์เป็นผู้แทนเจรจาข้อเรียกร้องและได้ทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกันเมื่อวันที่ 28กุมภาพันธ์ 2532 โดยมิได้กำหนดเวลาใช้บังคับ วันที่ 26 เมษายน 2532นายสถิตย์ออกจากโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการฝ่าฝืนระเบียบของบริษัทโจทก์ เป็นความผิดซ้ำคำตักเตือนตามเอกสารหมาย จ.8เพียง 2 เดือนเศษ โจทก์สั่งเลิกจ้างนายมีศักดิ์ได้ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123(3) พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งที่ 37/2532 ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2532 ของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ จำเลยทั้งสิบเอ็ดอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงปรากฏว่าหลังจากที่โจทก์และพนักงานของโจทก์มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้องแล้ว นายสถิตย์เพิ่งทำผิดระเบียบโดยขาดงานเป็นครั้งแรก โจทก์ไม่มีสิทธิเลิกจ้างนายสถิตย์ด้วยเหตุดังกล่าวนั้น ข้อเท็จจริงยุติตามที่แรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์เคยตักเตือนนายสถิตย์เป็นหนังสือเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์2532 เรื่องขาดงานตามเอกสารหมาย จ.8 ก่อนที่จะมีการยื่นข้อเรียกร้องที่นายสถิตย์เป็นผู้แทนเจรจา ข้อเรียกร้องสามารถตกลงกันได้โดยได้ทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกันเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2532 เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 123 บัญญัติว่า “ในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดมีผลใช้บังคับ ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง…ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง เว้นแต่บุคคลดังกล่าว …(3) ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างโดยนายจ้างได้ว่ากล่าวและตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว…” ตามบทบัญญัติของมาตรานี้ที่ให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างในกรณีฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายโดยนายจ้างได้ว่ากล่าวและตักเตือนเป็นหนังสือแล้วนั้น มิได้บัญญัติไว้ให้เห็นเลยว่าต้องเป็นหนังสือตักเตือนที่มีขึ้นหลังจากข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับหรือการกระทำผิดซ้ำคำตักเตือนเป็นหนังสือที่ได้ตักเตือนก่อนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีผลใช้บังคับนั้นไม่ถือเป็นการกระทำผิดซ้ำคำตักเตือน ทั้งการยื่นข้อเรียกร้องนั้นก็ไม่มีบทกฎหมายใดให้ถือว่าหนังสือตักเตือนที่มีอยู่ก่อนนั้นสิ้นผลไปโจทก์จึงเลิกจ้างนายสถิตย์ได้ตามบทกฎหมายที่กล่าวข้างต้น”
พิพากษายืน