แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่โจทก์อุทธรณ์ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ที่จำเลยทำกับสหภาพแรงงาน โดยโจทก์มิได้บรรยายเป็นข้อหาไว้ในฟ้อง แม้ในชั้นพิจารณาจำเลยจะเป็นฝ่ายนำสืบถึงข้อเท็จจริงนี้ และศาลแรงงานกลางรับวินิจฉัยให้ก็ตามก็เป็นเรื่องนอกประเด็น ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่มิได้ว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลางต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ตำแหน่งพนักงานพัสดุ ระดับ 5 เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2531 จำเลยมีหนังสือถึงหัวหน้าหน่วยงานทุกทีทำการ เรื่องการสอบคัดเลือกเพื่อเลื่อนตำแหน่ง โดยจะสอบคัดเลือกพนักงานเพื่อเตรียมแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงานระดับ 6, 7 หรือระดับ 8 โดยได้กำหนดคุณสมบัติของผู้เข้าสอบตำแหน่งดังกล่าวไว้ในข้อ 6 มีความว่ามีวันลาไม่เกิน 54 วัน ภายใน 3 ปี นับถึงวันปิดรับสมัคร เป็นการกำหนดคุณสมบัติที่มีลักษณะขัดแย้งต่อระเบียบการธนาคารออมสินฉบับที่ 180 ว่าด้วยการลาของพนักงานธนาคารออมสิน ซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีผลใช้บังคับ และไม่เป็นคุณแก่โจทก์ ทั้งโจทก์มิได้ยินยอมด้วย เป็นการขัดต่อมาตรา 20แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 โจทก์สมัครเข้าสอบคัดเลือกเพื่อเลื่อนตำแหน่ง โดยเสนอใบสมัครต่อผู้บังคับบัญชาไปตามลำดับชั้นจนถึงจำเลยและปรากฏผลว่า โจทก์สอบผ่านภาควิชาความรู้ความสามารถ โดยจำเลยมิได้ทักท้วงถึงสิทธิในการสอบของโจทก์แต่เมื่อถึงคราวสอบสัมภาษณ์และทดสอบบุคลิกภาพ จำเลยไม่เรียกโจทก์เข้าสอบ อ้างว่าโจทก์มีวันลาเกิน 54 วัน ภายใน 3 ปี นับถึงวันปิดรับสมัคร ขอให้บังคับจำเลยประกาศยกเลิกข้อกำหนดคุณสมบัติของผู้เข้าสอบหัวหน้าหน่วยงานระดับ 6, 7 หรือระดับ 8 ข้อ 6และให้จำเลยเรียกโจทก์เข้ารับการทดสอบบุคลิกภาพและสัมภาษณ์เป็นกรณีพิเศษ
จำเลยให้การว่า การกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะมีสิทธิสมัครสอบคัดเลือกเพื่อเลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าหน่วยงาน ระดับ 6, 7 หรือระดับ 8 นั้น มิใช่เป็นการแจ้งข้อเรียกร้อง และมิใช่ระเบียบเกี่ยวกับการกำหนดวันลา ซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบการธนาคารออมสินฉบับที่ 180 แต่อย่างใด จำเลยมิได้นำประกาศการสอบดังกล่าวไปตัดสิทธิวันลาของโจทก์ การประกาศคุณสมบัติดังกล่าวมิใช่สัญญาจ้างแรงงาน มิใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งจะต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์หรือผู้ใดก่อน แต่เป็นขั้นตอนการดำเนินการสอบเลื่อนตำแหน่งอันเป็นอำนาจหน้าที่ของนายจ้างเท่านั้น กรณีจึงไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 20นอกจากนี้ตามประกาศการสอบคัดเลือกเพื่อเลื่อนตำแหน่งดังกล่าวกำหนดว่าหากปรากฏภายหลังว่าผู้สอบได้ มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศ ธนาคารฯ จะถอนชื่อจากบัญชีผู้สอบได้ หรือถอดถอนจากตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งทันที เมื่อโจทก์มีวันลาย้อนหลังถึงวันปิดรับสมัครภายใน 3 ปี เกิน 54 วัน โจทก์จึงมีคุณสมบัติไม่ครบตามประกาศการสอบคัดเลือกเพื่อเลื่อนตำแหน่งดังกล่าวแม้โจทก์จะสอบผ่านข้อเขียนจำเลยไม่เรียกโจทก์เข้าสอบสัมภาษณ์เท่ากับจำเลยได้ถอนชื่อโจทก์จากบัญชีผู้สอบได้แล้ว จำเลยกำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติในการสมัครสอบตลอดจนได้ถอนชื่อโจทก์จากบัญชีผู้สอบได้เป็นการถูกต้องแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลาง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ว่า ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย ล.3 ที่จำเลยกับสหภาพแรงงานออมสินได้ทำขึ้นข้อ 13, 13.5 และข้อ 14, 14.2 วรรคสองนั้น ถือได้ว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องกำหนดเงื่อนไขในการทดสอบพนักงานเพื่อเลื่อนตำแหน่งไว้แล้ว ดังนั้นข้อกำหนด หรือระเบียบใด ๆ ที่จำเลยกำหนดขึ้นเพื่อให้ทำการทดสอบพนักงานเพื่อขึ้นบัญชีไว้รอบรรจุนั้นจะต้องไม่ขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าว เว้นแต่จะเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าและตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวที่กำหนดไว้ในข้อ 14.2 วรรคสอง ซึ่งมีข้อความว่า “ให้มีการทดสอบตามวิธีการที่ธนาคารฯ กำหนดเพื่อขึ้นบัญชีไว้รอบรรจุตามความจำเป็นของสาขานั้น ๆ อย่างน้อยปีละครั้ง โดยเริ่มแต่ปี พ.ศ. 2525″ นั้น มิใช่ว่าจะยินยอมให้จำเลยสามารถออกข้อกำหนดหรือระเบียบเกี่ยวกับการทดสอบพนักงานเพื่อเลื่อนตำแหน่งได้ตามความพึงใจของจำเลยและไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง ฉะนั้นการที่จำเลยออกประกาศการสอบคัดเลือกเพื่อเลื่อนตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงานระดับ 6, 7 หรือระดับ 8กำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครสอบคัดเลือกเพื่อเลื่อนตำแหน่งไว้ในข้อ 6 ว่า ต้องมีวันลาไม่เกิน 54 วัน ภายใน 3 ปี นับถึงวันปิดรับสมัคร ๆ จึงเป็นฝ่าฝืนต่อระเบียบการธนาคารออมสินฉบับที่ 180 ว่าด้วยการลาของพนักงานธนาคารออมสิน และฝ่าฝืนต่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่จำเลยกับสหภาพแรงงานธนาคารออมสินได้ทำขึ้นดังกล่าว พิเคราะห์แล้ว กรณีที่โจทก์อุทธรณ์ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่จำเลยทำกับสหภาพแรงงานธนาคารออมสินตามเอกสารหมาย ล.3 นั้น เห็นว่า อุทธรณ์ข้อนี้โจทก์มิได้บรรยายเป็นข้อหาไว้ในคำฟ้อง แม้ในชั้นพิจารณาจำเลยจะเป็นฝ่ายนำสืบถึงข้อเท็จจริงนี้ และศาลแรงงานกลางวินิจฉัยให้ ก็เป็นเรื่องนอกประเด็นต้องถือว่าเป็นเรื่องที่มิได้ว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 225 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยส่วนกรณีที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครสอบคัดเลือกเพื่อเลื่อนตำแหน่งเป็นระดับ 6, 7 หรือระดับ8 ตามข้อ 6 แห่งประกาศการสอบคัดเลือกเพื่อเลื่อนตำแหน่งเป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 180 ว่าด้วยการลาของพนักงานธนาคารออมสิน นั้น เห็นว่า ตามระเบียบฉบับที่ 180ข้อ 20, 21 และ 22 ซึ่งมีอยู่อย่างใดก็คงมีอยู่อย่างนั้นตามเดิมการกำหนดคุณสมบัติดังกล่าวจึงหาได้ฝ่าฝืนต่อระเบียบการธนาคารออมสินฉบับที่ 180 ว่าด้วยการลาของพนักงานธนาคารออมสินไม่ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.