คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2328/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ลูกจ้างร้องทุกข์ต่อผู้อำนวยการของนายจ้างผู้อำนวยการเห็นว่าการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม มีคำสั่งให้ลูกจ้างกลับเข้าทำงานตามเดิม และให้นับอายุงานต่อเนื่องโดยเว้นช่วงระหว่างเลิกจ้างถึงวันกลับเข้าทำงานและไม่จ่ายค่าจ้างระหว่างเลิกจ้าง ดังนี้ เมื่อเหตุที่ไม่นับอายุการเข้าทำงานต่อเนื่องนั้นนายจ้างอาศัยเทียบเคียงระเบียบว่าด้วยวินัยฯ ซึ่งหากลูกจ้างอุทธรณ์คำสั่งเลิกจ้างตามระเบียบดังกล่าว นายจ้างก็สามารถเว้นช่วงการนับอายุงานระหว่างเลิกจ้างถึงวันเข้าทำงานและไม่จ่ายค่าจ้างระหว่างนั้นได้ ทั้งช่วงเวลาที่ถูกเลิกจ้างลูกจ้างก็มิได้ทำงานให้แก่นายจ้างเลยการที่นายจ้างไม่นับอายุงานต่อเนื่องและไม่จ่ายค่าจ้างระหว่างเลิกจ้างถึงวันที่ลูกจ้างกลับเข้าทำงานจึงหาเป็นการไม่เป็นธรรมแก่ลูกจ้างไม่ นายจ้างออกคำสั่งเช่นนั้นได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2530โจทก์จึงมีหนังสือร้องขอความเป็นธรรม จำเลยจึงมีคำสั่งที่ 527/2530รับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิม ให้นับอายุงานต่อเนื่องแต่เว้นช่วงระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม 2530 ถึงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2530อันเป็นระยะเวลาที่จำเลยเลิกจ้างและโจทก์ยังมิได้รายงานตัวกลับเข้าทำงานซึ่งไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของจำเลยในส่วนที่เว้นช่วงการนับอายุงานกับให้จ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างระหว่างเวลาดังกล่าวด้วย ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงก็ได้ความเป็นยุติตามคำแถลงรับของจำเลยว่า เหตุที่ไม่นับอายุการเข้าทำงานติดต่อกันนั้น อาศัยเทียบเคียงกับข้อบังคับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ฉบับที่ 46 ว่าด้วยวินัย การสอบสวน การลงโทษและการอุทธรณ์การลงโทษของพนักงาน พ.ศ. 2524 ข้อ 57.1.1 ดังนั้นการให้นับอายุงานต่อเนื่องโดยเว้นช่วงตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม2530 อันเป็นวันเลิกจ้างถึงวันก่อนวันรายงานตัวเข้าปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งที่ 527/2530 ตามนัยแห่งข้อบังคับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฉบับที่ 46 เอกสารหมาย ล.1 ข้อ 57 ซึ่งกำหนดว่า “พนักงานอุทธรณ์คำสั่งลงโทษและต่อมาผู้อำนวยการสั่งเปลี่ยนแปลงใหม่ ให้ดำเนินการเกี่ยวกับเงินเดือน และสิทธิผลประโยชน์อื่นของพนักงาน ดังนี้
57.1 ในกรณียกโทษหรือลดโทษ
57.1.1 ถ้าโทษเป็นโทษไล่ออกหรือให้ออกเมื่อสั่งกลับเข้าทำงานตามเดิมให้นับอายุงานต่อเนื่อง โดยเว้นช่วงตั้งแต่วันไล่ออกหรือให้ออกจนถึงวันที่สั่งให้กลับเข้าทำงานตามเดิม และไม่ให้รับเงินเดือน และสิทธิหรือผลประโยชน์อื่นในช่วงถูกลงโทษไล่ออกหรือให้ออกนั้น” เช่นนี้ จึงเป็นคุณแก่โจทก์อยู่ด้วยประการหนึ่งแล้วหาใช่เป็นเหตุให้การที่จำเลยไม่นับอายุงานให้โจทก์ในระหว่างเลิกจ้างจนถึงวันรายงานตัวเข้าปฏิบัติหน้าที่ และไม่จ่ายค่าจ้างระหว่างเลิกจ้างเป็นการไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ ดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ เพราะในช่วงระยะเวลาที่ถูกเลิกจ้างโจทก์มิได้ทำงานให้แก่จำเลยผู้เป็นนายจ้างเลย และถึงแม้จะเป็นกรณีที่โจทก์ถูกลงโทษและโจทก์ได้อุทธรณ์การลงโทษต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยตามข้อบังคับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ฉบับที่ 46ว่าด้วยวินัย การสอบสวน การลงโทษ และการอุทธรณ์ฯ พ.ศ. 2524ข้อ 50 เอกสารหมาย ล.1 ก็ตาม หากกรณีต้องด้วยข้อ 57 ดังกล่าวข้างต้น จำเลยผู้เป็นนายจ้างก็ย่อมมีอำนาจใช้ข้อบังคับข้อเดียวกันนี้แก่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างของตนได้ทำนองเดียวกัน ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นจึงต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share