คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2325/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 4 ข้อ 3(ข) ป้ายที่ติดหรือตั้งไว้นอกที่สาธารณะจะถือว่าเป็นอาคารก็ต่อเมื่อครบองค์ประกอบ 2 ประการคือ เกี่ยวกับระยะห่างจากที่สาธารณะ และมีขนาดหรือมีน้ำหนักเกินกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ขณะเกิดเหตุคดีนี้ยังไม่มีกฎกระทรวงเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่งจะมีการออกกฎกระทรวงภายหลังเกิดเหตุคดีนี้แล้ว ซึ่งจะนำมาใช้บังคับคดีนี้มิได้ป้ายที่จำเลยที่ 2 สร้างขึ้นบนอาคารของจำเลยที่ 1จึงไม่เป็นอาคาร ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจตามมาตรา 40 และมาตรา 42(เดิม)ที่จะสั่งให้จำเลยที่ 2 ระงับการก่อสร้างและรื้อถอนรวมทั้งไม่มีอำนาจร้องขอต่อศาลให้บังคับให้มีการรื้อถอนป้ายดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยทั้งสองมิได้ยกขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ก็ย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มีอำนาจหน้าที่พิจารณาและออกใบอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารหรือติดตั้งป้ายโฆษณาสั่งให้รื้อถอน สั่งให้แก้ไขหรือระงับการก่อสร้างอาคารหรือป้ายโฆษณาตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด และเป็นเจ้าของผู้ครอบครองอาคารเลขที่ 340, 342ถนนรัชดาภิเษก แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวางกรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งอยู่ในโฉนดที่ดินเลขที่28484 เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2530 จำเลยที่ 2 โดยความยินยอมของจำเลยที่ 1ได้ขออนุญาตติดตั้งป้ายโฆษณาจำนวน 1 ป้าย ขนดาดฟ้าของอาคารของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวซึ่งโจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 2ก่อสร้างได้ตามขอ แต่จำเลยที่ 2 ก่อสร้างผิดไปจากแบบที่ได้รับอนุญาต เจ้าพนักงานของโจทก์ตรวจพบการกระทำความผิดดังกล่าว โจทก์จึงมีคำสั่งแจ้งให้จำเลยที่ 2 ระงับการก่อสร้างกับมีคำสั่งให้รื้อถอนป้ายโฆษณาที่ก่อสร้างผิดแบบ และส่วนที่ไม่ได้รับอนุญาตแล้ว แต่จำเลยที่ 2 เพิกเฉย และมิได้อุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามกฎหมาย กับได้ทำการก่อสร้างป้ายโฆษณาดังกล่าวจนแล้วเสร็จ ซึ่งการก่อสร้างดังกล่าวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ถูกต้องได้ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองให้รื้อป้ายโฆษณาที่ก่อสร้างโดยมิชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติก็ให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนเอง ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 40, 42 โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้>เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ยินยอมให้จำเลยที่ 2ปลูกสร้างอาคารในที่ดินของจำเลยที่ 1 จริง แต่ไม่ได้ยินยอมให้จำเลยที่ 2 ปลูกสร้างติดตั้งป้ายโฆษณาซึ่งเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับหนังสือของโจทก์ที่แจ้งให้จำเลยที่ 1 ระงับการก่อสร้างป้ายโฆษณา และไม่เคยได้รับคำสั่งให้รื้อถอนอาคาร ทั้งโจทก์มิได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 40 และมาตรา 42 คือโจทก์มิได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนป้ายโฆษณาโดยมิชักช้า และต้องไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่มีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้าง จำเลยที่ 2 ก่อสร้างป้ายดังกล่าวถูกต้องตามแบบที่ขออนุญาต ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า เจ้าพนักงานท้องถิ่นอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ก่อสร้างติดตั้งป้ายโฆษณาจริงซึ่งจำเลยที่ 2 ได้ก่อสร้างตามแบบที่ขออนุญาต โดยเริ่มก่อสร้าง>ในกลางเดือนมกราคม 2530 และแล้วเสร็จในกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2530 จำเลยที่ 2 ไม่เคยได้รับหนังสือของโจทก์ที่แจ้งให้ระงับการก่อสร้างป้ายโฆษณาและหนังสือคำสั่งให้รื้อถอนอาคารอีกทั้งโจทก์มิได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 40 และมาตรา 42 คือมิได้แจ้งให้จำเลยที่ 2รื้อถอนป้ายโดยมิชักช้า และต้องไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่ได้มีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้าง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อถอนป้ายโฆษณาที่ปลูกสร้างบนหลังคาของอาคารเลขที่ 340,342 ถนนรัชดาภิเษก แขวงห้วยขวาง กรุงเทพมหานครหากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติก็ให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนเองตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 40,42 โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อถอนป้ายโฆษณาที่ปลูกสร้างบนหลังคาของอาคารเลขที่ 340, 342ถนนรัชดาภิเษก แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานครนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522มาตรา 4 ได้บัญญัตินิยามคำว่า “อาคาร หมายความว่าตึก บ้าน เรือน โรงร้าน แพ คลังสินค้า สำนักงานและสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นซึ่งบุคคลอาจเข้าอยู่หรือเข้าใช้สอยได้และหมายความรวมถึง ฯลฯ (3) ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย (ก) ที่ติดหรือตั้งไว้เหนือที่สาธารณะและมีขนาดเกินหนึ่งตารางเมตรหรือมีน้ำหนักรวมทั้งโครงสร้างเกินสิบกิโลกรัม (ข) ที่ติดหรือตั้งไว้ในระยะห่างจากที่สาธารณะซึ่งเมื่อวัดในทางราบแล้วระยะห่างจากที่สาธารณะมีน้อยกว่าความสูงของป้ายนั้นเมื่อวัดจากพื้นดิน และมีขนาดหรือมีน้ำหนักเกินกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง” ตามบทบัญญัติในมาตรา 4 ข้อ 3(ข) ดังกล่าว จะเห็นได้ว่าป้ายที่ติดหรือตั้งไว้นอกที่สาธารณะ จะถือว่าเป็นอาคารก็ต่อเมื่อครบองค์ประกอบ 2 ประการ คือ เกี่ยวกับระยะห่างจากที่สาธารณะ และมีขนาดหรือมีน้ำหนักเกินกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ปรากฏว่าในขณะเกิดเหตุคดีนี้ยังไม่มีกฎกระทรวงเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพิ่งจะมีการออกกฎกระทรวงเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2533 ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 23(พ.ศ. 2533) อันเป็นเวลาภายหลังเกิดเหตุคดีนี้แล้วซึ่งจะนำมาใช้บังคับกับคดีนี้มิได้ เมื่อขณะเกิดเหตุคดีนี้ยังไม่มีกฎกระทรวงกำหนดขนาดและน้ำหนักของป้ายที่ติดหรือตั้งไว้นอกที่สาธารณะดังกล่าว ป้ายที่จำเลยที่ 2 สร้างขึ้นบนอาคารของจำเลยที่ 1 ก็ไม่เป็นอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ.2522 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครย่อมไม่มีอำนาจตามมาตรา 40 และ มาตรา 42(เดิม) ที่จะสั่งให้จำเลยที่ 2ระงับการก่อสร้างและรื้อถอน รวมทั้งไม่มีอำนาจร้องขอต่อศาลให้บังคับให้มีการรื้อถอนป้ายดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยทั้งสองมิได้ยกขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ก็ย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคสอง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share