แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สัญญาทำขึ้นในขณะบริษัทโจทก์ใช้ชื่อว่าบริษัทโรงพยาบาลพัฒนเวศ จำกัด ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นชื่อบริษัทพัฒนประเวศ จำกัด ซึ่งตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทมีกรรมการบริษัท 2 คน คือ ส.กับร. คนใดคนหนึ่งลงลายมือชื่อและประทับตราของบริษัทมีอำนาจทำการแทนบริษัทได้ ดังนี้โจทก์เป็นนิติบุคคลและเป็นบริษัทเดียวกับบริษัทโรงพยาบาลพัฒนเวชจำกัดที่เป็นคู่สัญญากับจำเลยและส.ย่อมมีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราของบริษัท ฟ้องจำเลยแทนโจทก์ได้ จำเลยซื้อกิจการโรงพยาบาลจากโจทก์และได้รับมอบกิจการไปดำเนินการแล้ว โจทก์จำเลยตกลงกันให้จำเลยชำระค่าเช่าซื้อเครื่องเอกซเรย์ แทนโจทก์ต่อไป แต่จำเลยไม่นำเงินไปชำระ บริษัทผู้ให้เช่าซื้อจึงเรียกร้องให้โจทก์ชำระ เมื่อโจทก์ได้ชำระไปแล้วจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญากับโจทก์จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ตามสัญญากำหนดเบี้ยปรับของการไม่ชำระหนี้เป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เมื่อจำเลยผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าซื้อกับบริษัทผู้ให้เช่าซื้อเครื่องเอกซเรย์ ตามข้อตกลง โจทก์เรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้โจทก์นำสืบว่าโจทก์ต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่บริษัทผู้ให้เช่าซื้ออัตราร้อยละ 18 ต่อปี ที่ศาลกำหนดให้จำเลยรับผิดเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยตกลงซื้อกิจการโรงพยาบาลและใบอนุญาตจากโจทก์ รวมทั้งทรัพย์อุปกรณ์เป็นเงินสี่ล้านบาท เงินจำนวนแปดแสนบาทจำเลยตกลงจะจ่ายให้แก่บริษัทภัทรธนกิจ จำกัดเป็นค่าเครื่องเอกซเรย์แทนโจทก์ ภายใน 7 วัน หลังจากรับโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมชำระ จึงขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเครื่องเอกซเรย์ 800,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง บริษัทภัทรธนกิจ จำกัดชอบที่จะเรียกให้จำเลยชำระหนี้โดยตรง และโจทก์ไม่ได้รับช่วงสิทธิมาฟ้อง บริษัทภัทรธนกิจ จำกัด ไม่ยอมให้จำเลยผ่อนชำระค่าเช่าซื้อโจทก์เรียกค่าเสียหายจากจำเลยไม่ได้ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยโจทก์จะต้องดำเนินการโอนเครื่องเอกซเรย์ให้จำเลยทั้งสองทันทีเมื่อได้รับชำระหนี้ครบถ้วน จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะร้อยตำรวจเอกสัณห์แต่ผู้เดียวไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์หรือในนามของบริษัทโจทก์ และโจทก์ไม่ใช่คู่สัญญากับจำเลยทั้งสองตามสัญญา จ.3 นั้น ได้ความจากพยานหลักฐานของโจทก์ว่าโจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตั้งแต่วันที่ 20กันยายน 2519 เดิมใช้ชื่อว่า บริษัทโรงพยาบาลหัวหมาก จำกัดต่อมาเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2520 ได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทโรงพยาบาลพัฒนเวช จำกัด และจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2526 เป็นบริษัทพัฒนประเวศจำกัด ซึ่งตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 มีกรรมการบริษัท 2 คน คือร้อยตำรวจเอกสัณห์ จันทร์วิเมลือง กับนางสิริลักษณ์ นิติวัฒนะและกรรมการคนหนึ่งคนใดลงลายมือชื่อและประทับตราของบริษัทมีอำนาจทำการแทนบริษัทได้ สัญญา จ.3 ทำขึ้นในขณะที่บริษัทโจทก์ใช้ชื่อว่าบริษัทโรงพยาบาลพัฒนเวช จำกัด ส่วนจำเลยทั้งสองไม่มีพยานนำสืบหักล้างหลักฐานพยานของโจทก์ จึงรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลและเป็นบริษัทเดียวกับบริษัทโรงพยาบาลพัฒนเวชจำกัด ที่เป็นคู่สัญญากับจำเลยทั้งสองตามสัญญา จ.3 ดังนี้ร้อยตำรวจเอกสัณห์ จันทร์วิเมลืองแต่ผู้เดียวย่อมมีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราของบริษัททำการแทนโจทก์ฟ้องคดีนี้ได้โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองนั้น เห็นว่า ทางพิจารณาคดีได้ความว่า จำเลยทั้งสองได้รับมอบกิจการโรงพยาบาลและเข้าดำเนินกิจการโรงพยาบาลตามสัญญา จ.3 ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2524ซึ่งขณะนั้นเครื่องเอกซเรย์อันเป็นวัตถุแห่งหนี้ตามสัญญา จ.3ก็มีติดตั้งอยู่ในอาคารโรงพยาบาลที่มีการตกลงซื้อขายกันตามสัญญาจ.2 อยู่แล้ว จึงพอถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้รับมอบเครื่องเอกซเรย์ไว้จากโจทก์แล้วตั้งแต่วันที่จำเลยทั้งสองได้รับมอบกิจการโรงพยาบาลและเข้าดำเนินกิจการโรงพยาบาลแทนโจทก์เป็นต้นไป ส่วนที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่าเคยไปติดต่อขอทำสัญญาผ่อนชำระค่าเครื่องเอกซเรย์กับบริษัทภัทรธนกิจ จำกัด แต่บริษัทดังกล่าวไม่ยินยอมตกลงด้วยนั้น ได้ความจากนายศรชัย ม้าแก้ว พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายกำกับหนี้สินของบริษัทภัทรธนกิจ จำกัด ว่าร้อยตำรวจเอกสัณห์กับจำเลยที่ 1 เคยไปพบพยานที่บริษัทภัทรธนกิจจำกัด เกี่ยวกับการชำระค่าเครื่องเอกซเรย์ โดยจะให้จำเลยที่ 1เป็นผู้ชำระแทนโจทก์ตามจำนวนยอดหนี้ที่โจทก์ค้างชำระอยู่ในขณะนั้นเป็นเงินต้นประมาณ 800,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 ก็มิได้ชำระเงินดังกล่าวให้แก่บริษัทภัทรธนกิจ จำกัด แต่อย่างใดบริษัทภัทรธนกิจ จำกัด จึงได้ทวงถามและฟ้องเรียกร้องจากโจทก์ถ้าหากมีการชำระค่าเครื่องเอกซเรย์ที่ค้าง บริษัทภัทรธนกิจ จำกัดก็ยินยอมให้กรรมสิทธิ์ของเครื่องเอกซเรย์ตกเป็นของโจทก์หรือตามคำสั่งของโจทก์แสดงว่า หากจำเลยทั้งสองปฏิบัติตามสัญญา จ.3โดยชำระค่าเครื่องเอกซเรย์ให้แก่บริษัทภัทรธนกิจ จำกัด ก็ไม่มีเหตุใดที่บริษัทภัทรธนกิจ จำกัด จะปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้อุปสรรคของการที่จำเลยทั้งสองไม่ได้รับสิทธิให้เป็นผู้เช่าซื้อแทนโจทก์หรือรับโอนกรรมสิทธิ์เครื่องเอกซเรย์จึงมิได้เกิดขึ้นจากการกระทำของโจทก์ โดยเป็นความผิดของจำเลยทั้งสองเองที่ไม่นำเงินค่าเครื่องเอกซเรย์ไปชำระตามที่ตกลงไว้กับนายศรชัยและเห็นว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นหนี้ค่าเครื่องเอกซเรย์ต่อบริษัทภัทรธนกิจ จำกัด โดยตรงเพียงแต่จำเลยทั้งสองตกลงจะชำระค่าเครื่องเอกซเรย์ให้แก่บริษัทภัทรธนกิจ จำกัด แทนโจทก์เท่านั้นเมื่อจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ค่าเครื่องเอกซเรย์ตามสัญญา จ.3เป็นเหตุให้บริษัทภัทรธนกิจ จำกัด ฟ้องเรียกร้องเอาจากโจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อเครื่องเอกซเรย์มาจากบริษัทภัทรธนกิจ จำกัด และโจทก์ต้องชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่บริษัทภัทรธนกิจ จำกัด จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นคู่สัญญากับโจทก์จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในผลของการที่จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ตามสัญญา จ.3
ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองนั้น เมื่อตามสัญญา จ.3 โจทก์กับจำเลยทั้งสองมีข้อตกลงกันว่าค่าเครื่องเอกซเรย์ที่โจทก์ยังชำระให้แก่บริษัทภัทรธนกิจจำกัด ไม่ครบจำเลยทั้งสองรับภาระจะชำระให้แก่บริษัทดังกล่าวต่อไปและโจทก์นำสืบว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญา จ.3 โจทก์ต้องรับผิดชำระหนี้ค่าเครื่องเอกซเรย์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปี ให้แก่บริษัทภัทรธนกิจ จำกัด ประกอบกับตามสัญญา จ.3 มีการกำหนดเบี้ยปรับของการไม่ชำระหนี้ไว้เป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีด้วย ดังนี้โจทก์จึงเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองได้และเห็นว่า ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยทั้งสองรับผิดค่าเสียหายคิดเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้วและโดยเหตุที่จำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา จ.3 ซึ่งกำหนดให้ชำระค่าเครื่องเอกซเรย์ภายใน 7 วัน นับแต่มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญา จ.2 จำเลยทั้งสองได้รับโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินดังกล่าวเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2526 ซึ่งตามสัญญา จ.3 นี้จำเลยทั้งสองจะต้องชำระค่าเครื่องเอกซเรย์ให้แก่บริษัทภัทรธนกิจ จำกัด ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2526 เมื่อจำเลยทั้งสองผิดนัด จึงต้องรับผิดค่าเสียหายคิดเป็นดอกเบี้ยนับแต่วันที่1 เมษายน 2526 เป็นต้นไป
สรุปข้อวินิจฉัยดังกล่าวมา ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน