คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2321/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยระบุไว้ว่าห้ามเล่นการพนัน ก่อการทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกาย ลักทรัพย์หรือก่อกวนความสงบสุขหรือก้าวก่ายการปฏิบัติงานของพนักงานอื่นซึ่งหากคนงานกระทำผิดข้อบังคับดังกล่าว จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้การที่โจทก์มิได้เป็นผู้บังคับบัญชาของ อ. ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบงานของ อ.และอ. จะตอบคำถามของโจทก์หรือไม่ก็ได้ เมื่อ อ.ไม่ยอมพูดด้วยโจทก์ก็น่าจะรู้ว่าอ.ไม่ต้องการให้โจทก์ไปรบกวนเวลาที่กำลังทำงานระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานก็ระบุห้ามไว้ซึ่งโจทก์ต้องปฏิบัติตาม แต่โจทก์กลับหาเรื่องชกต่อย อ.ถึง 2 ที เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายไปก่อเหตุขึ้นก่อน จะอ้างว่าได้กระทำไปเพราะบันดาลโทสะเนื่องจาก อ. แสดงอาการยียวนหาได้ไม่ การกระทำของโจทก์เป็นการจงใจฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย และเป็นความผิดทางอาญาด้วย จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างกรณีที่ร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ 47(4) และเป็นการกระทำความผิดอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ด้วยจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้า

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2534 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างทำหน้าที่ควบคุมเรื่องจักร ต่อมาวันที่ 16 มีนาคม 2538 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด และไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ชกต่อยนายอนุชา ชันทสีมนต์ เพื่อนร่วมงานในเวลาและสถานที่ทำงานเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรงจำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมาฟังได้ว่า โจทก์ได้ชกต่อยนายอนุชาขันท์สีมนต์เพื่อนร่วมงาน 2 ที ณ ที่ทำงานและในเวลาทำงานตามปกติของโจทก์ สาเหตุเนื่องจากโจทก์ไปสอบถามนายอนุชาว่างานเสร็จหรือยังแต่นายอนุชาไม่ยอมตอบตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.1 หมวด 9 ข้อ 22 ระบุไว้ว่าห้ามเล่นการพนัน ก่อการทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายลักทรัพย์หรือก่อกวนความสงบสุขหรือก้าวก่ายการปฏิบัติงานของพนักงานอื่นซึ่งหากคนงานกระทำผิดข้อบังคับดังกล่าว จำเลยเลยมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่เห็นว่า โจทก์มิได้เป็นผู้บังคับบัญชาของนายอนุชา ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบงานของนายอนุชา และนายอนุชาจะตอบคำถามของโจทก์หรือไม่ก็ได้เมื่อนายอนุชาไม่ยอมพูดด้วยโจทก์ก็น่าจะรู้ว่านายอนุชาไม่ต้องการให้โจทก์ไปรบกวนเวลาที่กำลังทำงาน ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานก็ระบุห้ามไว้ซึ่งโจทก์ต้องปฏิบัติตาม แต่โจทก์กลับหาเรื่องชกต่อยนายอนุชาถึง2 ที เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายไปก่อเหตุขึ้นก่อนจะอ้างว่าได้กระทำไปเพราะบันดาลโทสะเนื่องจากนายอนุชาแสดงอาการยียวนหาได้ไม่ การกระทำของโจทก์เป็นการจงใจฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยหมวด 9 ข้อ 22 และเป็นความผิดทาอาญาด้วย จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างกรณีที่ร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(4) และเป็นการกระทำความผิดอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ด้วยจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
พิพากษายืน

Share