คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2319/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยกระทำความผิดฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน แต่ พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 7 เป็นกฎหมายพิเศษที่บัญญัติให้ผู้กระทำความผิดฐานพยายามต้องระวางโทษเท่ากับความผิดสำเร็จ บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นผลร้ายแก่จำเลย เพราะทำให้จำเลยต้องรับโทษสูงขึ้นกว่าการกระทำความผิดขั้นพยายามทั่ว ๆ ไป เมื่อโจทก์มิได้อ้างมาตรา 7 ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวมาในคำขอท้ายฟ้อง จึงต้องถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะให้ลงโทษหนักขึ้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสี่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕, ๖๖, ๑๐๒ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยให้การว่า มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง แต่มิได้มีไว้เพื่อจำหน่ายและมิได้จำหน่ายเมทแอมเฟตามีน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง และวรรคสอง, ๖๖ วรรคหนึ่ง, ๑๐๒ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๐ พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๗ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย วางโทษจำคุก ๔๐ ปี ฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน วางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก ๒๐ ปี รวมจำคุกจำเลยมีกำหนด ๖๐ ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลยมีกำหนด ๓๐ ปี ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ (ที่ถูกมาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง), ๖๖ วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๐ ความผิดฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้จำคุกจำเลย ๑๓ ปี ๔ เดือน เมื่อรวมกับโทษจำคุกของจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ที่ศาลชั้นต้นวางโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด ๔๐ ปีแล้ว เป็นจำคุกจำเลย ๕๓ ปี ๔ เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลย ๒๖ ปี ๘ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามกันมาว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ร้อยตำรวจโทบวร สุภิสิงห์ กับพวกได้ให้สายลับไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจำนวน ๑,๐๐๐ เม็ด ราคาเม็ดละ ๑๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท จากจำเลย นัดส่งมอบเมทแอมเฟตามีนที่หน้าร้านเซเว่น อีเลฟเว่นที่อยู่ปากซอยตลาดโพธิ์ทองหรือซอยโอ๋โอ๋ เวลา ๒๑ นาฬิกา มอบกระดาษซึ่งตัดให้มีขนาดเท่าธนบัตรฉบับละ ๑,๐๐๐ บาท เป็นจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ใส่ถุงกระดาษมอบให้สายลับไปล่อซื้อโดยนัดแนะว่าหากจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนให้สายลับส่งสัญญาณโดยใช้มือเกาศีรษะ จากนั้นร้อยตำรวจโทบวรกับพวกได้ไปที่ร้านดังกล่าวโดยให้สายลับยืนรออยู่ที่หน้าร้าน จนกระทั่งเวลาประมาณ ๒๑ นาฬิกา จำเลยได้มาพูดกับสายลับประมาณ ๕ ถึง ๑๐ นาที สายลับก็ใช้มือเกาศีรษะให้สัญญาณ ร้อยตำรวจโทบวรกับพวกซึ่งอยู่ใกล้ ๆ บริเวณนั้นก็เข้าไปแสดงตัวและตรวจค้นตัวจำเลย พบเมทแอมเฟตามีน ๑,๐๐๐ เม็ด จำเลยยอมรับในชั้นจับกุมว่าเตรียมเมทแอมเฟตามีนมาจำหน่าย จากนั้นได้นำจำเลยไปค้นที่ห้องพักของจำเลย พบเมทแอมเฟตามีนอีก ๓,๖๐๐ เม็ด ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามกันมาว่า จำเลยมีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่การที่จำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมก่อนส่งมอบเมทแอมเฟตามีนจำนวน ๑,๐๐๐ เม็ด ให้แก่สายลับ การจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของจำเลยจึงยังไม่เป็นความผิดสำเร็จ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ในความผิดฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนนั้น ศาลชั้นต้นจะพิพากษาปรับบทลงโทษจำเลยเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดสำเร็จตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปราม ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๗ โดยโจทก์ไม่ได้ขอให้ลงโทษจำเลยมาท้ายฟ้องด้วยได้หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ เป็นกฎหมายพิเศษที่กำหนดโทษให้ผู้กระทำความผิดฐานพยายามต้องระวางโทษเท่ากับความผิดสำเร็จ บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นผลร้ายแก่จำเลย เพราะทำให้จำเลยต้องรับโทษสูงขึ้นกว่าการกระทำความผิดขั้นพยายามทั่ว ๆ ไป ดังนั้น เมื่อโจทก์มิได้อ้างมาตรา ๗ ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาในคำขอท้ายฟ้อง จึงต้องถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะให้ลงโทษตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรคสี่ ดังนั้น จะนำมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมาลงโทษจำเลยไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share