แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติศุลกากร มาตรา 27 บัญญัติถึงกำหนดโทษสำหรับความผิดฐานหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากร โดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาลไว้ว่า ‘ฯลฯ สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาของ ซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว ฯลฯ’ บทบัญญัตินี้มิได้จำกัดว่า ค่าอากรนั้นให้คิดเฉพาะค่าอากรที่เสียขาดไป จึงย่อมหมายถึงค่าอากรทั้งหมดสำหรับของนั้น อย่างไรก็ดีคำว่า’ค่าอากร’ ตามบทบัญญัติดังกล่าว หมายถึงค่าอากรในทางศุลกากรเท่านั้น ไม่หมายความรวมถึงภาษีการค้า อันเป็นภาษีอากรฝ่ายสรรพากร
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้ชำระบัญชีบริษัทมีชื่อ จำเลยได้บังอาจยื่นใบขนสินค้าทำคำสำแดงเป็นความเท็จ โดยจำเลยขอรับสินค้าขาเข้าและเสียภาษีหมึกพิมพ์ 126 กล่อง น้ำหนัก 3,780 กิโลกรัม อากรขาเข้า 7,560บาท ภาษีการค้า 24,334.95 บาท ซึ่งความจริงมีทั้งหมึกพิมพ์ 67 กล่องน้ำหนักสุทธิ 2,010 กิโลกรัม และแลคเคอร์ 59 กล่อง น้ำหนักสุทธิ 1,770กิโลกรัม ซึ่งต้องเสียภาษีอากรขาเข้าทั้งหมด 43,045.87 บาท กับภาษีการค้าทั้งหมด 27,210.58 บาท จากการสำแดงเท็จของจำเลยเป็นเหตุให้จำเลยเสียค่าอากรขาเข้าขาดไป 35,485.87 บาท และเสียภาษีการค้าซึ่งเมื่อลดแล้วขาดไป 2,818.12 บาท ทั้งนี้โดยจำเลยตั้งใจหลีกเลี่ยงอากรขาเข้าและภาษีการค้าให้น้อยลง และโดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาลฯ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 99, 27, 102 ตรีฯ และสั่งให้จ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานที่จับกุมตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ให้ลงโทษฐานหลีกเลี่ยงการเสียภาษีโดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาล ซึ่งเป็นบทหนัก ให้ปรับ 1,503,550.28 บาท ลดกึ่งหนึ่งคงปรับ 751,775.14 บาท บังคับค่าปรับตามกฎหมาย จ่ายเงินรางวัลให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งจับกุมตามกฎหมาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ปรับ 364,750.98 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นรับฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาในชั้นนี้เฉพาะเรื่องโทษปรับที่จะลงแก่จำเลยในความผิดฐานหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากร โดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาลว่าจะคำนวณโทษปรับจากค่าอากรทั้งหมดสำหรับของที่หลีกเลี่ยงการเสียภาษีหรือจากค่าอากรที่เสียขาดไป ได้ความว่าจำเลยสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทในประเทศญี่ปุ่นเมื่อสินค้าได้ส่งมาถึงประเทศไทยแล้วจำเลยได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าพร้อมใบอินวอยซ์ต่อพนักงานศุลกากร สำแดงรายการว่าสินค้าจำนวน126 กล่องเป็นหมึกพิมพ์ล้วน แต่ความจริงเป็นหมึกพิมพ์เพียง 67 กล่อง ส่วนอีก59 กล่องเป็นแลคเคอร์ราคา 130,086.23 บาท ซึ่งต้องเสียอากรขาเข้าเป็นเงิน39,025.87 บาท และเสียภาษีการค้าเป็นเงิน 13,258.39 บาท การที่จำเลยสำแดงรายการสินค้าว่าเป็นหมึกพิมพ์ล้วน เป็นเหตุให้จำเลยเสียอากรขาเข้าขาดไป35,485.87 บาท และเสียภาษีการค้าขาดไป 2,818.12 บาท พิเคราะห์แล้วพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2490 มาตรา 3 บัญญัติถึงกำหนดโทษปรับสำหรับความผิดฐานหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากรโดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาลไว้ว่า “ฯลฯ สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของ ซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว ฯลฯ” เห็นว่าบทบัญญัตินี้มิได้จำกัดว่าค่าอากรนั้นให้คิดเฉพาะค่าอากรที่เสียขาดไป จึงย่อมหมายถึงค่าอากรทั้งหมดสำหรับของนั้นกรณีเป็นเรื่องกฎหมายบัญญัติให้นำราคาของกับค่าอากรมาเป็นหลักในการกำหนดอัตราโทษปรับ มิใช่เพื่อให้ผู้กระทำผิดชำระค่าอากรจึงจะแปลว่ากฎหมายมุ่งหมายให้คิดเฉพาะค่าอากรที่ขาดเสียมิได้ ฎีกาของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ดี ศาลฎีกาเห็นว่าคำว่า “ค่าอากร” ตามบทบัญญัติดังกล่าวหมายถึงค่าอากรในทางศุลกากรเท่านั้น หาหมายรวมถึงภาษีการค้าอันเป็นภาษีอากรฝ่ายสรรพากรด้วยไม่ ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็เห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัย คดีนี้แลคเคอร์ที่จำเลยหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากรราคา 130,086.23 บาท ต้องเสียอากรขาเข้าเป็นเงิน 39,025.87 บาท รวมราคาของกับค่าอากรเข้าด้วยกันเป็นเงิน 169,112.10 บาท ลงโทษปรับสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วจึงเป็นเงิน 676,448.40 บาท ที่ศาลอุทธรณ์นำภาษีการค้าสำหรับแลคเคอร์มารวมเป็นค่าอากรอีกจำนวนหนึ่ง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลย 676,448.40 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 338,224.20 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์