คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6682/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเข้าอยู่อาศัยและเลี้ยงปลาในที่ดินของโจทก์โดยไม่มีสิทธิ ขอให้ขับไล่ จำเลยให้การรับว่าการเช่าที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยกับเจ้าของเดิมที่จำเลยอ้างไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือ และอ้างว่าเป็นการเช่าเพื่อทำนาซึ่งได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 ศาลชั้นต้นได้ตั้งประเด็นข้อพิพาทไว้ว่า จำเลยเช่าที่พิพาทและได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือไม่ ดังนี้เมื่อจำเลยใช้ที่พิพาทเลี้ยงปลาไม่ใช่ทำนา จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2524 มาตรา 5,63 และเมื่อจำเลยไม่มีหลักฐานการเช่าเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ จำเลยก็ยกเรื่องการเช่าขึ้นต่อสู้คดีไม่ได้ รวมทั้งศาลก็ไม่มีอำนาจยกเรื่องการเช่าขึ้นวินิจฉัยเช่นกันการที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงและฟังว่าจำเลยเช่าที่พิพาทเพื่อเลี้ยงปลาและสัญญาเช่าครบกำหนดแล้วจึงเป็นการวินิจฉัยที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว เมื่อความปรากฏต่อศาลอุทธรณ์และแม้ข้อเท็จจริงดังกล่าวต้องห้ามอุทธรณ์ซึ่งศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจฟังข้อเท็จจริงใหม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(3)(ก) แต่ศาลอุทธรณ์ก็ยังถือข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นรับฟังฝ่าฝืนต่อกฎหมายมาและศาลอุทธรณ์ยังวินิจฉัยข้อที่จำเลยไม่ได้อุทธรณ์อันเป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 240 และฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538ที่ว่า โจทก์ต้องผูกพันในฐานะผู้ให้เช่าที่พิพาทโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาเช่าอีกด้วย ดังนี้ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่าจำเลยอยู่อาศัยเลี้ยงปลาในที่พิพาทโดยไม่มีสิทธิ เมื่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าของที่พิพาทไม่ยินยอมให้จำเลยอยู่ต่อไป จำเลยก็ต้องออกไปโดยไม่มีข้ออ้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินเลขที่ 1458 เนื้อที่ 19 ไร่ 1 งาน 20 ตารางวา จำเลยเข้าอยู่อาศัยและเลี้ยงปลาในที่ดินดังกล่าวโดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินหลายครั้งแล้วจำเลยเพิกเฉย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้บังคับจำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินของโจทก์ และห้ามเกี่ยวข้องให้จำเลยชำระค่าเสียหายจำนวน 19,332.88 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 2,412.50 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินของโจทก์เสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยเช่าที่พิพาททำนาตั้งแต่ปี 2526ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2524 แม้การเช่าของจำเลยกับเจ้าของเดิมก่อนที่โจทก์จะได้รับโอน ที่ดินมาจะไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือ จำเลยก็มีสิทธิเช่าที่พิพาทได้คราวละไม่น้อยละ 6 ปี โจทก์ต้องรับโอนไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้ให้เช่าเดิมที่มีต่อจำเลยผู้เช่า ก่อนฟ้องโจทก์มิได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงไม่มีอำนาจฟ้องการบอกเลิกการเช่าไม่ชอบด้วยกฎหมายความเสียหายของโจทก์ไม่เกินไร่ละ 500 บาท ต่อปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1458 ของโจทก์ ห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไปให้จำเลยชำระค่าเสียหายจำนวน 19,332.88 บาท และค่าเสียหายอีกเดือนละ 2,412.50 บาท แก่โจทก์นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินของโจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าศาลอุทธรณ์ฟังพยานหลักฐานขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 538 นั้น เห็นว่า จากคำให้การของจำเลย จำเลยรับว่าการเช่าที่พิพาทระหว่างจำเลยกับเจ้าของเดิมตามที่จำเลยอ้างไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือ จำเลยจึงอ้างว่าเป็นการเช่าเพื่อทำนา เพราะจะทำให้จำเลยอ้างได้ว่าได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524มาตรา 5 ซึ่งให้คำจำกัดความคำว่า “การเช่า” หมายความว่าการเช่าหรือการเช่าช่วงโดยได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าซึ่งที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมประเภทที่การเช่าที่ดินเพื่อการนั้นมีการควบคุมตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ไม่ว่าการเช่าหรือการเช่าช่วงนั้นจะมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือไม่ก็ตามและหมายความรวมถึงการยินยอมให้ใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมดังกล่าวโดยได้รับค่าเช่าและการทำนิติกรรมอื่นใด อันเป็นการอำพรางการเช่านั้น และมาตรา 21 ให้คำจำกัดความคำว่า “นา” หมายความว่าที่ดินที่เช่าเพื่อทำนาทั้งหมดหรือเป็นส่วนใหญ่ คำว่า “ทำนา”หมายความว่า การเพาะปลูกข้าวหรือพืชไร่ มาตรา 22 บัญญัติว่าให้การเช่านามีการควบคุมตามพระราชบัญญัตินี้ และให้ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือไม่ก็ตาม ซึ่งศาลชั้นต้นได้ตั้งประเด็นข้อพิพาทข้อ 1 ว่า จำเลยเช่าที่พิพาทและได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือไม่ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ที่จำเลยเบิกความว่า จำเลยเช่าที่พิพาทรวมกับแปลงอื่นประมาณ 250 ไร่จากบริษัทส.ไทยแลนด์มอเตอร์ จำกัด เพื่อทำนา แต่จำเลยก็เบิกความตอบทนายโจทก์ว่า เดิมนางกิมซ่วนมารดาจำเลยเป็นคนทำสัญญาเช่าที่พิพาทกับบริษัทดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.4ซึ่งในเอกสารดังกล่าวระบุว่าเป็นการเช่าที่ดินรวมทั้งแปลงพิพาทคดีนี้เพื่อทำบ่อเลี้ยงปลา เมื่อนางกิมซ่วนตาย จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกก็ได้แจ้งแก่เจ้าของที่ดินเพื่อเปลี่ยนเจตนาจากการเช่าเพื่อเลี้ยงปลามาเป็นเช่าทำนา ส่วนที่จำเลยอ้างว่าต่อมาจำเลยทำสัญญาเช่ากับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เอ.จี.ซี.ประเทศไทยจำกัด โดยตกลงว่าเช่าที่ดินเพื่อทำนานั้น จำเลยก็ไม่มีหลักฐานสัญญาเช่ามาแสดง ทั้งมิได้นำฝ่ายผู้ให้เช่ามาเบิกความเป็นพยานด้วยเลย เอกสารหมาย ล.6, ล.7 ที่จำเลยนำมาสืบก็มิได้ระบุชัดเจนว่าเป็นการเช่าที่ดินแปลงพิพาทเพื่อทำนา ข้ออ้างของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น ศาลไปเผชิญสืบที่พิพาทสภาพที่ดินเป็นบ่อลึกถึง 1 เมตร มีคันดินกว้าง 2 ถึง 3 เมตร เช่นนี้ไม่น่าจะเป็นที่นา และไม่ปรากฏว่ามีต้นข้าวปลูกอยู่ในที่ดินที่จำเลยประโยชน์อยู่ทั้งหมดรวมทั้งที่พิพาทเลย ในแต่ละบ่อคงมีน้ำอยู่ระดับสูงเกือบถึงคันบ่อ มีอยู่เพียงบ่อเดียวเท่านั้นที่ไม่มีน้ำขังซึ่งก้นบ่อเป็นโคลนลักษณะของที่พิพาทดังกล่าวมาข้างต้นมีเหตุสมควรรับฟังได้ว่า เป็นบ่อเลี้ยงปลาข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเช่าที่พิพาทเพื่อเลี้ยงปลา จำเลยจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 เมื่อสัญญาเช่าตามเอกสารหมาย จ.4 ครบกำหนดภายในวันที่ 11 ธันวาคม2531 หลังจากนั้นจำเลยจึงไม่มีสิทธิอยู่ในที่พิพาทอีกต่อไปโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่พิพาทมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยได้และไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้อ 2 อีก ส่วนค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องเรียกเป็นจำนวนที่พอสมควร เมื่อจำเลยอุทธรณ์ ก็อุทธรณ์เพียงว่า จำเลยอยู่ในฐานะผู้เช่าที่พิพาทเพื่อทำนาได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามมาตรา 5 มาตรา 21 มาตรา 22 โจทก์ต้องรับโอนสิทธิการเช่าต่อไปตามมาตรา 28 ซึ่งบัญญัติว่า การเช่านาย่อมไม่ระงับไปเพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์นาที่เช่า ผู้รับโอนต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนที่มีต่อผู้เช่านาตามพระราชบัญญัตินี้ และก่อนฟ้องโจทก์ยังไม่ได้บอกเลิกการเช่านากับจำเลยตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยเรียกค่าเสียหายเป็นทุนทรัพย์ 19,332.88 บาทขณะที่ฟ้องที่พิพาทอาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละ 4,000 บาทเป็นคดีต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้แล้วว่า จำเลยเช่าที่พิพาทเพื่อขุดบ่อเลี้ยงปลา ปัญหาข้อกฎหมายที่ว่า การเช่าที่ดินของจำเลยดังกล่าวได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2524 หรือไม่ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การที่จำเลยเช่าที่พิพาทเพื่อเลี้ยงปลาแม้จะเป็นการเลี้ยงสัตว์น้ำอันถือว่าเป็นการทำการเกษตรกรรม ตามนัยแห่งพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 5 แต่การเช่าที่ดินเพื่อเลี้ยงสัตว์น้ำยังมิได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาประกาศให้ใช้บังคับในท้องที่ที่พิพาทตามนัยแห่งพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 63 การเช่าที่ดินเพื่อการเลี้ยงปลาของจำเลย จึงมิได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ ดังกล่าว ฉะนั้นการเช่าที่ดินดังกล่าวจึงไม่จำต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2524 ตามที่จำเลยอ้าง เมื่อข้อเท็จจริงศาลชั้นต้นฟังได้ว่า จำเลยเช่าที่ดินเพื่อขุดบ่อเลี้ยงปลา โจทก์จึงต้องผูกพันในฐานะเป็นผู้ให้เช่าที่พิพาทโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาเช่าที่ศาลชั้นต้นพิจารณาว่า สัญญาเช่าเลิกกันเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม2531 นั้น เป็นการนำเอาข้อสัญญาระหว่างนางซ่วน อัตวัฒนากับบริษัทส.ไทยแลนด์มอเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นสัญญาที่ระงับไปแล้ว นับแต่วันที่นางซ่วนถึงแก่ความตายขึ้นมาพิจารณาย่อมเป็นการไม่ชอบ เมื่อไม่ปรากฏว่า โจทก์ได้บอกเลิกการเช่าและฟังไม่ได้ว่า การแจ้งให้จำเลยออกจากที่พิพาทตามเอกสารหมายเลข 2ท้ายฟ้องเป็นการบอกเลิกการเช่าต้องถือว่า ยังมีการเช่าที่พิพาทอยู่ สัญญาเช่ายังไม่ระงับ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลย
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยใช้ที่พิพาทเลี้ยงปลาไม่ใช่ทำนา จำเลยไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่มีหลักฐานการเช่าเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ย่อมจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538 ซึ่งย่อมหมายความว่าโจทก์จะฟ้องร้องให้บังคับคดีในเรื่องเช่าไม่ได้และจำเลยก็ยกเรื่องการเช่าขึ้นต่อสู้คดีไม่ได้ รวมทั้งศาลก็ไม่มีอำนาจยกเรื่องการเช่าขึ้นวินิจฉัยเช่นกัน การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเช่าที่พิพาทเพื่อเลี้ยงปลา สัญญาเช่าครบกำหนดแล้ว จึงเป็นการวินิจฉัยที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเมื่อความปรากฏต่อศาลอุทธรณ์ แม้ข้อเท็จจริงดังกล่าวต้องห้ามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจฟังข้อเท็จจริงใหม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(3)(ก)แต่ศาลอุทธรณ์ก็ยังถือข้อเท็จจริงที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ยิ่งกว่านั้น ศาลอุทธรณ์ยังวินิจฉัยข้อที่จำเลยไม่ได้อุทธรณ์ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 240และฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538 ที่วินิจฉัยว่าโจทก์ต้องผูกพันในฐานะผู้ให้เช่าที่พิพาทโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาเช่าอีกด้วย ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่า จำเลยอยู่อาศัยเลี้ยงปลาในที่พิพาทโดยไม่มีสิทธิ เมื่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าของที่พิพาทไม่ยินยอมให้จำเลยอยู่ต่อไป จำเลยก็ต้องออกไปโดยไม่มีข้ออ้าง ศาลฎีกาเห็นด้วยในผลของคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความรวม 1,200 บาท

Share