คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2308/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน รบ.16627ซึ่งเป็นรถของจำเลยที่ 2 โดยมีจำเลยที่ 1 บุตรชายจำเลยที่ 2เป็นคนขับและคุ้มครองผู้ขับรถตามกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยที่ 1ขับรถคันดังกล่าวชนกับรถของโจทก์ที่ 1 จน ด. คนขับรถโจทก์ที่ 1 ถึงแก่ความตายส่วนจำเลยที่ 1 ได้รับบาดเจ็บและเสียค่ารักษาพยาบาล จำเลยที่ 3 จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แก่จำเลยที่ 1ตามกรมธรรม์ประกันภัยที่จำเลยที่ 3 ตกลงคุ้มครอง หาใช่เป็นการประกันชีวิตไม่ ถือเป็นค่าเสียหายที่จำเลยที่ 3 ได้รับจากความประมาทของ ด. ลูกจ้างโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 3 จึงเข้ารับช่วงสิทธิ์ จากจำเลยที่ 1 มาฟ้องเรียกร้องเอาค่าเสียหายดังกล่าวจากโจทก์ที่ 1และโจทก์ที่ 4 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ได้.

ย่อยาว

โจทก์สำนวนแรกฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์หมายเลขทะเบียน ขก.13522 และเป็นเจ้าของสินค้าที่บรรทุกอยู่ในรถดังกล่าวขณะเกิดเหตุ โจทก์ที่ 2 ได้รับประกันภัยรถยนต์ดังกล่าวไว้จากร้านกอชังหยูและโจทก์ที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 21มกราคม 2522 สิ้นสุดวันที่ 21 มกราคม 2523 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์2522 เวลาประมาณ 21 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ลูกจ้างและขณะปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างให้กับจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียนรบ.16627 ของจำเลยที่ 2 บรรทุกอาหารสัตว์จากกรุงเทพมหานครแล่นไปตามถนนมิตรภาพ โฉมหน้าไปจังหวัดขอนแก่น เมื่อมาถึงหลักกิโลเมตรที่57-58 ตำบลตาจั่น อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา จำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง โดยขับรถด้วยความเร็วสูงส่ายไปมา เสียหลักล้ำเส้นกึ่งกลางถนนเข้าไปในช่องเดินรถของรถยนต์หมายเลขทะเบียน ขก.13522 มีนายดำรงค์ ศรีสวัสดิ์ ขับแล่นสวนทางมาเป็นเหตุให้รถยนต์หมายเลขทะเบียน รบ.16627 พุ่งเข้าชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน ขก.13522 กระทันหันและในระยะกระชั้นชิด นายดำรงค์ไม่สามารถหลบหลีกได้ทัน เป็นเหตุให้นายดำรงค์ถึงแก่ความตายทันทีและรถยนต์หมายเลขทะเบียน ขก.13522 ได้รับความเสียหายยับเยินโจทก์ที่ 2 ได้จัดการซ่อมแซมรถยนต์หมายเลขทะเบียน ขก.13522 เป็นเงิน73,440 บาท จ่ายค่าปลงศพนายดำรงค์อีก 5,000 บาท และเสียค่ายกลากรถจากที่เกิดเหตุไปสถานีตำรวจภูธรอำเภอคงและอู่ซ่อมรถเป็นเงิน1,500 บาท โจทก์ที่ 1 ต้องจ่ายเงิน 1,000 บาท แรกทุกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุให้แก่โจทก์ที่ 2 ตามข้อตกลงในสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์ที่ 1 กับโจทก์ที่ 2 และมันของโจทก์ที่ 1 ซึ่งบรรทุกอยู่บนรถเสียหายเป็นเงิน 18,000 บาท โจทก์ที่ 1 ขาดประโยชน์จากการใช้รถส่งสินค้านับแต่วันเกิดเหตุถึงวันซ่อมรถเสร็จเป็นเวลา 120 วันวันละ 1,000 บาท เป็นเงิน 120,000 บาท เมื่อซ่อมรถเสร็จรถของโจทก์ที่ 1 สภาพและราคาไม่ดีเหมือนเดิม ย่อมเสื่อมไปอีก 50,000 บาทรวมค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 189,000 บาท ค่าเสียหายของโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 79,940 บาท จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดขณะปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างให้แก่จำเลยที่ 2และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์หมายเลขทะเบียนรบ.16627 จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ติดต่อถวมถามจำเลยทั้งสามแล้ว จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 189,0000 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 79,940 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสามให้การทำนองเดียวกันว่า นายดำรงค์ ศรีสวัสดิ์ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ขก.13522 ด้วยความประมาทเลินเล่อโดยขับรถแซงรถคันอื่นล้ำเข้ามาในช่องเดินรถของรถยนต์หมายเลขทะเบียนรบ.16627 สุดวิสัยที่จำเลยที่ 1 ผู้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียนรบ.16627 จะหลบเลี่ยงได้ จึงเกิดชนกันในช่องเดินรถของรถยนต์หมายเลขทะเบียน รบ.16627 โจทก์ที่ 2 เรียกร้องค่าเสียหายมามากเกินกว่าความเป็นจริง โจทก์ที่ 2 จะต้องจ่ายอย่างมากไม่เกิน5,000 บาท ค่าปลงศพนายดำรงค์ โจทก์ที่ 2 ไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าเสียหายของโจทก์ที่ 2 ไม่เกิน 5,000 บาท และโจทก์ที่ 2 จะได้จ่ายให้แก่โจทก์ที่ 1 แล้วหรือไม่ จำเลยไม่รับรอง ส่วนโจทก์ที่ 1 เรียกค่าเสียหายมาเกินความจริง ค่ามันที่บรรทุกมาโจทก์ที่ 1 ไม่เสียหายค่าเสื่อมราคาไม่เกิน 1,000 บาท ค่าขาดประโยชน์รายได้ไม่เกินวันละ100 บาท และซ่อมไม่เกิน 20 วัน ค่าขาดรายได้จึงไม่เกิน 2,000 บาทหากจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดชอบตามเงื่อนไขกรมธรรม์ค่าบาดเจ็บหรือศพไม่เกินศพละ 10,000 บาท ค่าเสียหายต่อทรัพย์สินไม่เกิน100,000 บาท
สำหรับหลังโจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียนรบ.16627 ในแบบประกันภัยค้ำจุนชดใช้ค่าเสียหายโดยสิ้นเชิง จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์หมายเลขทะเบียนขก.13522 ซึ่งำจเลยที่ 2 ได้นำรถดังกล่าวเข้าแล่นหาผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 ได้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียนขก.13522 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2522 เวลาประมาณ 21 นาฬิกาขณะที่นายปัญญา รัฐถานาวิน ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน รบ.16627มาตามถนนมิตรภาพจากจังหวัดนครราชสีมามุ่งหน้าไปจังหวัดอุดรธานีในช่องเดินรถของตนด้วยความระมัดระวัง เมื่อขับแล่นไปใกล้ถึงทางแยกเข้าอำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 57-58มีรถยนต์หมายเลขทะเบียน ขก.13522 มีนายดำรงค์ ศรีสวัสดิ์ ลูกจ้างและหรือตัวแทนซึ่งกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3แล่นสวนทางมาด้วยความเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดปราศจากความระมัดระวังแซงรถยนต์คันอื่นล้ำเข้ามาในช่องเดินรถของรถยนต์หมายเลขทะเบียน รบ.16627 ทั้ง ๆ ที่นายดำรงค์เห็นว่ามีรถยนต์คันอื่นแล่นสวนทางมา สุดวิสัยที่นายปัญญาจะหลบได้ทันจึงเกิดชนกันขึ้นในช่องเดินรถของรถยนต์หมายเลขทะเบียน รบ.16627 ทำให้รถยนต์หมายเลขทะเบียน รบ.16627 พังยับเยินทั้งคัน โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน รบ.16627 ได้ชำระค่าซ่อมและเงินทดแทนไปแล้ว จึงรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันมาเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวจากจำเลยทั้งสี่ โจทก์ได้ทวงถามจำเลยทั้งสี่แล้วจำเลยทั้งสี่เพิกเฉย จากการกระทำละเมิดของนายดำรงค์ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเวลา 1 ปี เป็นเงิน 5,219 บาทรวมเป็นเงินที่จำเลยทั้งสี่ต้องร่วมกันชดใช้ให้แก่โจทก์ทั้งสิ้น74,804 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 74,804 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์หมายเลขทะเบียน ขก.13522 ไม่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการขนส่ง ไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 2ที่ 3 ที่ 4 และนายดำรงค์ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์แต่จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์ดังกล่าว เหตุเกิดคดีนี้เป็นเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของนายปัญญา รัฐถานาวินผู้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน รบ.16627 โดยขับรถดังกล่าวด้วยความเร็วสูงเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดและล้ำทางเข้าไปชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน ขก.13522 ที่แล่นสวนทางมาได้รับความเสียหายโจทก์ยังไม่จ่ายค่าเสียหาย โจทก์จึงยังไม่ได้รับช่วงสิทธิมาฟ้องความเสียหายของรถยนต์หมายเลขทะเบียน รบ.16627 ไม่มากสามารถซ่อมได้ให้อยู่ในสภาพเดิมในราคา 15,000 บาท และโจทก์ไม่ได้รับประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลของนายปัญญา แม้โจทก์จะได้จ่ายค่าเสียหายไปก็เป็นเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือเป็นเพราะความสมยอมของโจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย และที่โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายปัญญาเป็นเรื่องการประกันชีวิตโจทก์จึงไม่ได้รับช่วงสิทธิ โจทก์ไม่เคยทวงถามให้จำเลยที่ 1 ที่ 2ชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงไม่ตกเป็นผู้ผิดนัด
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ขายรถยนต์หมายเลขทะเบียนขก.13522 โดยวิธีผ่อนชำระให้แก่บุคคลผู้มีชื่อไปก่อนเกิดเหตุคดีนี้ซึ่งกรรมสิทธิ์ในรถดังกล่าวจะโอนเป็นสิทธิแก่ผู้ซื้อต่อเมื่อผู้ซื้อชำระราคาครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 3 จึงไม่ใช่ผู้ครอบครองหรือใช้ประโยชน์ในรถดังกล่าวในขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 3 ไม่ใช่นายจ้างหรือตัวการของผู้ขับรถดังกล่าว และไม่ได้นำรถดังกล่าวเข้าแล่นหาประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งโจทก์ไม่ใช่ผู้ชำระค่าซ่อมรถดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 3 และไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 3 นับแต่วันละเมิด จะเรียกได้ก็ตั้งแต่วันที่โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนไป
จำเลยทที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียกนายฮั่นเตียง แซ่โก เป็นโจทก์ที่ 1 ห้างหุ้นส่วนจำกัดเซ่งหยูเป็นโจทก์ที่ 2 บริษัทโค้วยู่ฮะมอเตอร์ จำกัด เป็นโจทก์ที่ 3บริษัท ร.ส.พ. ประกันภัย จำกัด เป็นโจทก์ที่ 4 นายปัญญา รัฐถานาวินเป็นจำเลยที่ 1 นายสมจิต รัฐถานาวิน เป็นจำเลยที่ 2 และบริษัทพิพัทธ์ประกันภัย จำกัด เป็นจำเลยที่ 3
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน
โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 4 ร่วมกันใช้เงิน 69,385 บาท แก่จำเลยที่ 3 พร้อมดอกเบี้ย นอกจากที่แก้นี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างของนายดำรงค์ และโจทก์ที่ 4 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน ขก.13522 จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 3
ในปัญหาที่ว่า จำเลยที่ 3 จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แก่จำเลยที่ 1จำเลยที่ 3 รับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกค่าเสียหายดังกล่าวได้หรือไม่จำเลยที่ 3 นำสืบได้ความว่าจำเลยที่ 3 รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน รบ.16627 และคุ้มครอบผู้ขับรถตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ในสำนวนหลัง เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคนขับได้รับบาดเจ็บและเสียค่ารักษาพยาบาล จำเลยที่ 3 จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นการจ่ายตามกรมธรรม์ประกันภัยที่จำเลยที่ 3ตกลงคุ้มครอง หาใช่การประกันชีวิตไม่ จึงเป็นค่าเสียหายที่จำเลยที่ 3 ได้รับจากความประมาทของนายดำรงค์ลูกจ้างโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 3จึงเข้ารับช่วงสิทธิจากจำเลยที่ 1 มาฟ้องเรียกร้องเอาค่าเสียหายดังกล่าวจากโจทก์ที่ 1 และที่ 4 ได้…”
พิพากษายืน.

Share