แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ซื้อทาวน์เฮาส์ พิพาทไว้เพื่อจะขายต่อเอากำไร และได้ชำระเงินค่าทาวน์เฮาส์ ให้แก่ผู้ขายครบถ้วนแล้ว แต่ยังมิได้จดทะเบียนโอนกัน การที่โจทก์ให้บริษัทผู้ขายโอนทาวน์เฮาส์ ให้แก่บริษัท ย.โดยตรงโดยโจทก์ได้รับค่าตอบแทนจากอ. แม้มิได้ทำสัญญาซื้อขายก็มีความหมายเช่นเดียวกับการขายทาวน์เฮาส์ มิใช่เป็นการขายสิทธิในการซื้อทาวน์เฮาส์ ตามที่โจทก์อ้าง และถือได้ว่าเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบการค้า ต้องเสียภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากรมาตรา 77,78 ประกอบด้วยบัญชีอัตราภาษีการค้าประเภทการค้า 11 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 บัญญัติไว้เป็นหลักทั่วไปว่า ความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดีย่อมตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่แพ้คดี ดังนั้น ศาลย่อมมีหน้าที่ต้องวินิจฉัยสั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตามกฎหมายอยู่แล้วแม้จำเลยจะมิได้มีคำขอเกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ก็มีหน้าที่ต้องสั่งเกี่ยวกับเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า การประเมินภาษีรายได้บุคคลธรรมดาภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาล และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เงินเพิ่ม รวม 453,287.96 บาท และภาษีการค้าเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และภาษีบำรุงเทศบาล รวม 284,779 บาท ให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวเสีย จำเลยทั้งสี่ให้การว่า โจทก์ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะโจทก์ซื้อทาวน์เฮาส์เพื่อเก็งกำไร มิใช่เพื่ออยู่อาศัยโดยขอจองซื้อถึง2 หลัง แต่คืนผู้ขายไป 1 หลัง และอีก 5 เดือนต่อมาก็ขายให้แก่บริษัทเยอร์เกนเซ่น อินเวสเม้นท์ แอนด์ เทรดดิ้ง จำกัดโดยผู้ซื้อจ่ายเงินค่าซื้อให้โจทก์ โจทก์จึงมีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์โดยไม่ได้แจ้งไว้ใน ภ.ง.ด.9 จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีตามมาตรา 42(9) แห่งประมวลรัษฎากร นอกจากนี้โจทก์ยังต้องเสียภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล เพราะโจทก์ขายทาวน์เฮาส์เพื่อเก็งกำไร เป็นการมุ่งค้า เข้าประเภทการค้าอสังหาริมทรัพย์ตามบัญชีอัตราภาษีการค้า ประเภทการค้า 11 แม้ไม่มีการโอนทางทะเบียนก็ต้องถือว่าเป็นการขาย การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามแบบ ภ.ส.7เลขที่ 279/2527 ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2527 ที่ประเมินให้โจทก์เสียภาษีการค้า เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และภาษีบำรุงเทศบาลจำนวน284,779 บาท โจทก์และจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ แต่ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในปัญหาเรื่องโจทก์จะต้องเสียภาษีการค้าหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อเดือนเมษายน2522 โจทก์ได้จองซื้อทาวน์เฮาส์ 2 หลัง จากห้างหุ้นส่วนจำกัดสมชายอินเตอร์เนชั่นแนลก่อสร้างราคาหลังละ 3,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 6,000,000 บาท ในเดือนกันยายน 2522 โจทก์ชำระเงินให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดสมชายอินเตอร์เนชั่นแนลก่อสร้าง 3,000,000บาท ต่อมาต้นปี 2523 โจทก์ขอยกเลิกการจองทาวน์เฮาส์เสีย 1 หลังคงเหลือ 1 หลัง ซึ่งโจทก์ได้ทำการตบแต่งภายในเรียบร้อย ต่อมาเดือนมีนาคม 2523 โจทก์ให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดสมชายอินเตอร์เนชั่นแนลก่อสร้างโอนกรรมสิทธิ์ทาวน์เฮาส์และที่ดินให้นางสาวอีน่าร์ เยอร์เกนเซ่น โดยตรง และให้นางสาวอีน่าร์ ชำระเงินแก่โจทก์ 4,000,000 บาท แต่นางสาวอีน่าร์เป็นคนต่างด้าวไม่สามารถถือกรรมสิทธิ์ที่ดินได้จึงให้บริษัทเยอร์เกนเซ่น อินเวสเม้นท์ แอนด์ เทรดดิ้ง จำกัด เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน โจทก์เบิกความว่า โจทก์จองทาวน์เฮาส์ดังกล่าวเพื่อทำเป็นที่อยู่อาศัย โดยจองสำหรับตนเอง 1 หลัง และสำหรับเพื่อนชื่อนายเทสอีก 1 หลัง และหลังจากโจทก์ได้ชำระเงิน3,000,000 บาท ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดสมชายอินเตอร์เนชั่นแนลก่อสร้างในเดือนกันยายน 2522 ซึ่งการก่อสร้างทาวน์เฮาส์เกือบจะเสร็จแล้ว โจทก์ก็ได้ซื้อวัสดุและจ้างคนงานมาทำการตบแต่งภายในทาวน์เฮาส์ของโจทก์ที่จะอยู่อาศัยสิ้นเงินไป 900,000 บาท ขณะที่โอนสิทธิการซื้อให้นางสาวอีน่าร์การตบแต่งภายในเกือบจะเสร็จแล้ว ระยะตั้งแต่เดือนกันยายน 2522จนถึงเดือนมีนาคม 2523 นายสมชายไม่สามารถโอนทาวน์เฮาส์ให้แก่โจทก์ที่โจทก์โอนสิทธิการซื้อให้นางสาวอีน่าร์ เนื่องจากในต้นปี2523 โจทก์เห็นว่าทาวน์เฮาส์พิพาทมีลักษณะเป็นที่ประกอบการค้าและธุรกิจมิใช่เป็นที่อยู่อาศัย และนายสมชายได้นำที่ดินซึ่งเป็นที่จอดรถบริเวณทาวน์เฮาส์ไปจำนองไว้กับธนาคาร มิได้โอนให้แก่ผู้เป็นเจ้าของทาวน์เฮาส์ประกอบกับนางสาวอีน่าร์ไม่มีที่พักอาศัยโจทก์จึงโอนสิทธิการซื้อให้ไปตามคำเบิกความของโจทก์ดังกล่าวที่อ้างว่า โจทก์จองทาวน์เฮาส์สำหรับตัวโจทก์เอง 1 หลัง และสำหรับนายเทส เพื่อนของโจทก์อีก 1 หลังคงมีแต่เพียงคำเบิกความของโจทก์ปากเดียวลอย ๆ ทั้งไม่ปรากฏว่านายเทสได้เคยมาติดต่อกับห้างหุ้นส่วนจำกัดสมชายอินเตอร์เนชั่นแนลก่อสร้าง และเมื่อโจทก์ขอยกเลิกการจองทาวน์เฮาส์ 1 หลัง คือหลังที่อ้างว่าจองไว้สำหรับนายเทส ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ปรึกษาหารือกับนายเทสอย่างใด พฤติการณ์ดังกล่าวจึงฟังไม่ได้ว่า โจทก์จองทาวน์เฮาส์ไว้สำหรับนายเทสด้วย กรณีเชื่อได้ว่าโจทก์ได้จองทาวน์เฮาส์ทั้ง 2 หลัง ไว้เพื่อประโยชน์ของโจทก์เอง โจทก์เบิกความว่า ได้ขอกู้เงินจากบริษัทวอลเลย์ไทยแลนด์ จำกัด ด้วย แสดงว่าโจทก์มิใช่เป็นผู้มีเงินมากมายที่จะซื้อทาวน์เฮาส์ทั้ง 2 หลังสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของโจทก์ ที่โจทก์เบิกความว่าได้ทำการตบแต่งภายในทาวน์เฮาส์หลังหนึ่งเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยเองแต่ต้องโอนให้แก่นางสาวอีน่าร์นั้น นายเอนก ศรีสนิท พยานโจทก์กลับเบิกความว่า ในช่วงที่โจทก์ตกลงซื้อขายทาวน์เฮาส์ให้นางสาวอีน่าร์นั้น ยังไม่มีการตบแต่งภายใน และนายคาร์ จอห์น ซีตูน ผู้จัดการบริษัทเยอร์เกนเซ่น อินเวสเม้นท์แอนด์ เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับโอนแทนนางสาวอีน่าร์ก็เคยให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ไว้ว่า ในการตกลงซื้อขายดังกล่าว นายคารร์เป็นผู้แจ้งให้โจทก์ตบแต่งภายในทาวน์เฮาส์ ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.19 ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ตบแต่งภายในแล้วขณะที่มีการขายทาวน์เฮาส์ให้นางสาวอีน่าร์ โจทก์เบิกความถึงเหตุผลการขายทาวน์เฮาส์อีกข้อหนึ่งว่า นายสมชาย หุ้นส่วนผู้จัดการห้างผู้ทำการก่อสร้างทาวน์เฮาส์ได้นำที่ดินทางเข้าและที่จอดรถไปจำนองไว้กับธนาคาร แต่นายสมชายพยานโจทก์เบิกความว่า ถนนที่เชื่อมจากถนนวิทยุไปสู่ทาวน์เฮาส์เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์รวมของผู้ซื้อทุกคน มีที่จอดรถส่วนตัวและมีลานจอดรถสำหรับผู้มาติดต่อเนื้อที่ประมาณ 60 ตารางวา จึงฟังไม่ได้ตามที่โจทก์อ้างเช่นกัน สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งโจทก์เบิกความว่า สภาพแวดล้อมของทาวน์เฮาส์เปลี่ยนแปลงไปในลักษณะใช้เป็นที่ประกอบการค้าและธุรกิจไม่เหมาะจะใช้เป็นที่อยู่อาศัยปรากฏว่าโจทก์ชำระเงินค่าทาวน์เฮาส์ 3,000,000 บาท ในเดือนกันยายน 2522 โดยอ้างว่าเพื่อจะอยู่อาศัยเอง แต่ครั้นต้นปี 2523ซึ่งเป็นเวลาห่างกันเพียง 3-4 เดือน โจทก์กลับเห็นว่าสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมาะสำหรับที่จะใช้อยู่อาศัย เมื่อคำนึงถึงว่าโจทก์เป็นนักธุรกิจ โดยเฉพาะเป็นผู้ช่วยผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดร่วมประสงค์ มีหน้าที่ควบคุมการให้เช่าอาคารสำนักงานและอาคารที่เก็บของซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนเพชรบุรี โจทก์ย่อมเข้าใจได้ดีตามสมควรว่าสภาพอาคารอย่างใดเหมาะจะใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือใช้เป็นที่ประกอบการค้าและธุรกิจ ดังนั้น ข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่มีเหตุผลที่จะเชื่อถือ จากข้อเท็จจริงและเหตุผลต่าง ๆ ดังวินิจฉัยมา ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ซื้อทาวน์เฮาส์พิพาทไว้เพื่อจะขายต่อเอากำไร หาใช่ต้องการซื้อไว้อยู่อาศัยเองไม่โจทก์ได้ชำระเงินค่าทาวน์เฮาส์ให้แก่ผู้ขายครบถ้วนแล้วเพียงแต่ยังมิได้มีการจดทะเบียนโอนกันเท่านั้น ดังนั้น การที่โจทก์ให้บริษัทผู้ขายโอนทาวน์เฮาส์ให้แก่บริษัทเยอร์เกนเซ่นอินเวสเม้นท์แอนด์ เทรดดิ้ง จำกัด โดยตรง โดยโจทก์ได้รับค่าตอบแทนจากนางสาวอีน่าร์ แม้มิได้ทำสัญญาซื้อขายก็มีความหมายเช่นเดียวกับการขายทาวน์เฮาส์นั่นเอง มิใช่เป็นการขายสิทธิในการซื้อทาวน์เฮาส์ตามที่โจทก์อ้าง และถือได้ว่าเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบการค้า ต้องเสียภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 77, 78 ประกอบด้วยบัญชีอัตราภาษีการค้าประเภทการค้า 11 ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนในปัญหาที่ว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมเป็นการชอบหรือไม่นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 บัญญัติไว้เป็นหลักทั่วไปว่า ความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดีย่อมตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่แพ้คดี ดังนั้น ในการพิพากษาคดีแพ่ง ศาลย่อมมีหน้าที่ต้องวินิจฉัยสั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตามกฎหมายอยู่แล้ว คดีนี้แม้จำเลยจะมิได้มีคำขอเกี่ยวกับเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็มีหน้าที่ต้องสั่งเกี่ยวกับเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมด้วย คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมจึงเป็นการชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน