คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5848-5849/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ญาติของผู้เสียหายไปแจ้งความแก่เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอหาดใหญ่แต่เพียงว่า ผู้เสียหายได้หายตัวไปโดยไม่ทราบสาเหตุ จึงมาแจ้งความเพื่อขอให้เจ้าพนักงานตำรวจช่วยสืบหาตัวผู้เสียหายให้เท่านั้น ไม่มีรายละเอียดอื่น ไม่มีแม้แต่ข้อความที่ระบุว่าผู้แจ้งเชื่อว่ามีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้น การแจ้งความเช่นนี้ จึงมิใช่คำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ ตามนัยแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) (8) ไม่ก่อให้เกิดปัญหาว่าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอหาดใหญ่จะเป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนคดีนี้ตามมาตรา 19 วรรคสอง (ข) เพราะข้อเท็จจริงตามคำแจ้งความดังกล่าว ไม่ทำให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอหาดใหญ่จะสามารถเป็นได้แม้กระทั่งพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจสอบสวนคนหนึ่งในหลายท้องที่ที่มีการกระทำความผิดต่อเนื่องกันตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง
กรณีว่าพนักงานสอบสวนท้องที่ใดจะเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามมาตรา 19 วรรคสอง จะต้องเป็นกรณีที่ได้ผ่านบทบัญญัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง มาก่อนแล้ว และเกิดมีปัญหาที่พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องต่างมีอำนาจสอบสวนเท่านั้น สถานีตำรวจภูธรอำเภอบันนังสตาเป็นท้องที่ที่พบการกระทำผิดก่อน โดยผู้เสียหายถูกเอาตัวไปที่บริเวนหน้าสำนักสงฆ์ถ้ำกระแชง และเป็นสถานีตำรวจที่ ด. ได้ไปกล่าวโทษไว้ เช่นนี้ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบันนังสตาจึงย่อมเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนตามมาตรา 19 วรรคสอง (ข)

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1033/2547 โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสามสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เรียกจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1033/2547 ว่า จำเลยที่ 4 และเรียกจำเลยสำนวนที่สองว่า จำเลยที่ 5 แต่คดีสำหรับจำเลยที่ 4 ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีสองสำนวนนี้
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310, 313, 83 คืนของกลางแก่เจ้าของ เว้นแต่เงิน 90,000 บาท ซึ่งผู้เสียหายรับคืนไปแล้ว
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคแรก, 313 (2) (3) วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานเอาตัวบุคคลไปหน่วงเหนี่ยวกักขังเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 15 ปี คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 10 ปี
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 313 (2) (3) วรรคแรก, 316 จำคุกคนละ 7 ปี 6 เดือน ลดโทษให้จำเลยที่ 1 หนึ่งในสามแล้ว จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 5 ปี คืนของกลางให้แก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว จำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์ ส่วนจำเลยที่ 4 ยื่นฎีกาและต่อมาขอถอนฎีกา ศาลชั้นต้นอนุญาต คดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 4 จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 ตามลำดับ รับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 เป็นคนร้ายที่ร่วมกับพวกกระทำความผิดตามฟ้อง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 4 หรือไม่ ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติในชั้นฎีกาว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ที่ 4 กับพวก 5 คน ร่วมกันเอาตัวนายยิว ผู้เสียหายชาวมาเลเซียไปกักขังไว้เพื่อเรียกค่าไถ่ ต่อมาญาติของผู้เสียหายไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ว่าผู้เสียหายเป็นชาวมาเลเซียเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยแล้วหายตัวไปเกรงว่าจะได้รับอันตราย ขอให้เจ้าพนักงานตำรวจช่วยสืบหาตัวผู้เสียหายให้ พลตำรวจโทธีรวุฒิ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 มอบหมายให้พันตำรวจเอกดำรงค์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการเรื่องนี้ พันตำรวจเอกดำรงค์สืบทราบว่าผู้เสียหายถูกจับตัวไปขณะท่องเที่ยวอยู่บริเวณหน้าสำนักสงฆ์ถ้ำกระแชง หมู่ที่ 5 ตำบลบันนังสตา อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา โดยคนร้ายคนหนึ่งคือจำเลยที่ 1 ซึ่งขณะนั้นบวชเป็นพระอยู่ที่สำนักสงฆ์ดังกล่าว จึงไปแจ้งความกล่าวโทษที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอบันนังสตา วันเดียวกันได้สืบทราบว่าฝ่ายของผู้เสียหายและคนร้ายนัดหมายส่งมอบเงินค่าไถ่ให้กันจำนวนหนึ่งที่หน้าสถานีรถไฟหาดใหญ่ จึงวางแผนจับกุม โดยพันตำรวจโทคมกฤช เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอหาดใหญ่กับพวกสะกดรอยติดตามจากฝ่ายของผู้เสียหาย คือนายวา และนายลิม เพื่อนของผู้เสียหายที่มาจากประเทศมาเลเซียพร้อมกับผู้เสียหาย ซึ่งขณะนั้นพักอยู่ที่โรงแรมสากล อำเภอหาดใหญ่ โดยมีการถ่ายรูประหว่างการติดตามตลอดเวลา นายวาและนายลิม ได้พบจำเลยที่ 1 ที่หน้าสถานีรถไฟหาดใหญ่ แล้วส่งมอบถุงใบหนึ่งให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ตรวจดูสิ่งของในถุงแล้วนำติดตัวไปขึ้นรถยนต์กระบะที่จำเลยที่ 3 ขับจอดรออยู่ จากนั้นก็ขับออกไป สักครู่รถยนต์คันดังกล่าวก็ขับย้อนกลับมารับจำเลยที่ 2 ซึ่งมายืนรอแล้วขับมุ่งหน้าไปทางจังหวัดปัตตานี บ่ายวันเดียวกันนั้น พันตำรวจโทอิสกานดาร์ กับพวกสกัดจับรถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน บง 2558 ยะลา ตามที่ได้รับแจ้งว่าเป็นยานพาหนะของคนร้ายที่ไปรับเงินค่าไถ่จากเพื่อนของผู้เสียหายที่บริเวณหน้าสถานีรถไฟหาดใหญ่ในช่วงเช้าได้ที่จุดตรวจป้อมขุนไว อำเภอเมือง จังหวัดยะลา พบจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในรถยนต์คันดังกล่าว ตรวจพบเงินสด 12,000 บาท ที่ตัวจำเลยที่ 2 และ 40,000 บาท ที่ตัวจำเลยที่ 3 และยึดของกลางได้หลายอย่างรวมทั้งจีวรพระ พันตำรวจโทอิสกานดาร์กับพวกได้ให้จำเลยที่ 2 นำทางไปจับกุมจำเลยที่ 1 ซึ่งขณะนั้นแต่งกายแบบคนธรรมดาได้ที่โรงแรมเซฟเฮาส์ จังหวัดปัตตานี จากการตรวจค้นหัองพักของจำเลยที่ 1 ในโรงแรมพบเงินสดส่วนที่เหลือ 38,000 บาท เจ้าพนักงานตำรวจแจ้งข้อหาว่า เอาตัวบุคคลอายุกว่า 15 ปี ไปโดยใช้อุบายหลอกลวงขู่เข็ญใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพและเล่ารายละเอียดของเรื่องราวทั้งหมด โดยซัดทอดว่าจำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้วางแผนสั่งการในเรื่องนี้ รวมทั้งเป็นผู้นำตัวผู้เสียหายไปกักขังไว้ในขณะนั้น พันตำรวจเอกดำรงค์มอบหมายให้พันตำรวจโทเลียบ สารวัตรหน่วยปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลาดำเนินการ พันตำรวจโทเลียบกับพวกสามารถนำตัวผู้เสียหายออกจากสถานที่กักขังที่ตำบลอาซ่อง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ได้โดยปลอดภัย เมื่อเวลา 22 นาฬิกา คืนเดียวกัน ต่อมาภายหลังจึงได้จับกุมตัวจำเลยที่ 4 และที่ 5
จำเลยที่ 2 ฎีกาประการเดียวเป็นข้อกฎหมายว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะการสอบสวนไม่ชอบเนื่องจากกระทำโดยพนักงานสอบสวนผู้ไม่มีอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 เนื่องจากความผิดตามฟ้องโจทก์เป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป แม้พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ แต่เมื่อพันตำรวจเอกดำรงค์เบิกความยอมรับว่า ขณะนายยิว ญาติของผู้เสียหายไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอหาดใหญ่นั้น ยังจับผู้ต้องหาไม่ได้ จึงต้องถือว่า พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอหาดใหญ่เป็นผู้พบเห็นการกระทำผิดก่อน จึงย่อมต้องเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนคดีนี้รวมทั้งสรุปความเห็นส่งไปพร้อมกับสำนวนไปยังพนักงานอัยการ เห็นว่า แม้ว่าตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีของสถานีตำรวจภูธรอำเภอหาดใหญ่ นายยิวไปแจ้งความไว้เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2542 อันเป็นวันก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2542 ที่พันตำรวจเอกดำรงค์ไปกล่าวโทษและมอบหมายให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบันนังสตาเป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนในคดีนี้อย่างเป็นทางการ แต่ตามเอกสารฉบับนี้ นายยิวแจ้งแต่เพียงว่าผู้เสียหายได้หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2542 โดยไม่ทราบสาเหตุ เกรงว่าจะได้รับอันตราย จึงได้มาแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจช่วยสืบหาตัวผู้เสียหายให้เท่านั้น ไม่มีรายละเอียดใด ๆ ไม่มีแม้กระทั่งข้อความที่ระบุว่าผู้แจ้งเชื่อว่าได้มีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้นกับผู้เสียหาย จึงเป็นเพียงการมาแจ้งเพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอหาดใหญ่ช่วยสืบสวนถึงสาเหตุที่ผู้เสียหายได้หายตัวไปเท่านั้น การแจ้งเช่นนี้ จึงไม่ใช่คำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (7) (8) ไม่ก่อให้เกิดปัญหาว่าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอหาดใหญ่จะเป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนคดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 วรรคสอง (ข) ดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาหรือไม่ เพราะข้อเท็จจริงตามคำแจ้งไม่ทำให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอหาดใหญ่จะสามารถเป็นได้แม้กระทั่งพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจสอบสวนคนหนึ่งในหลายท้องที่ที่มีการกระทำความผิดต่อเนื่องกันตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง กรณีตามฎีกาของจำเลยที่ 2 จะต้องเป็นกรณีที่ได้ผ่านบทบัญญัติมาตรา 19 วรรคหนึ่ง มาก่อนแล้วเกิดมีปัญหาในท้องที่ที่พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องต่างมีอำนาจสอบสวนเท่านั้น สถานีตำรวจภูธรอำเภอบันนังสตาเป็นท้องที่ที่พบการกระทำผิดก่อน โดยผู้เสียหายถูกเอาตัวไปที่บริเวณหน้าสำนักสงฆ์ถ้ำกระแชงและเป็นสถานีตำรวจที่พันตำรวจเอกดำรงค์ได้ไปกล่าวโทษไว้ เช่นนี้ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบันนังสตาจึงย่อมเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวน ตามมาตรา 19 วรรคสอง (ข) การที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบันนังสตาดำเนินการสอบสวนตั้งแต่ต้นจนกระทั่งส่งฟ้องต่อพนักงานอัยการ จึงเป็นการสอบสวนที่ชอบ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องตามมาตรา 140 และมาตรา 120 ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น

Share