แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์เฉพาะภายในเส้นสีแดงประตามรูปแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง ปรากฏว่าตามรูปแผนที่ได้แสดงเขตที่กล่าวหาว่าจำเลยบุกรุกไว้ 3 ด้าน ด้านเหนือจดถนนสาธารณะ ด้านใต้จดลำน้ำแม่ประจันต์ ด้านตะวันตกจดลำห้วย แผนที่สังเขปท้ายฟ้องเป็นส่วนหนึ่งของฟ้อง ฟ้องของโจทก์ดังกล่าวได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาทำให้จำเลยเข้าใจได้แล้ว จึงไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม
ในระหว่างการพิจารณาได้มีการทำแผนที่พิพาทใหม่ จำเลยที่ 2 ไม่รับรองความถูกต้อง แต่เป็นผลมาจากการที่จำเลยที่ 2 แถลงว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำแผนที่ใหม่ หากโจทก์จะทำแผนที่ใหม่ก็ให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมไปเอง ซึ่งเท่ากับจำเลยยินยอมให้โจทก์กระทำไปฝ่ายเดียวได้ แม้แผนที่พิพาทที่ทำมาใหม่ตามที่โจทก์นำชี้จะเหมือนกับแผนที่สังเขปท้ายฟ้องของโจทก์ ก็เป็นแผนที่พิพาทที่ชอบ และแม้คำขอท้ายฟ้องจะขอให้ศาลพิพากษาว่า ที่ดินภายในวงสีแดงตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องเป็นของโจทก์ ศาลก็มีอำนาจพิพากษาว่า ที่พิพาทในเส้นประสีแดงในแผนที่พิพาทเป็นของโจทก์ได้ หาได้พิพากษาผิดไปจากคำขอท้ายฟ้องแต่ประการใดไม่
เมื่อที่พิพาทเป็นของโจทก์ โจทก์เป็นผู้ครอบครอง การที่จำเลยร่วมซื้อที่พิพาทจากจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่ใช่เจ้าของ ไม่มีอำนาจโอนขาย จำเลยร่วมหาได้สิทธิ์ในที่พิพาทไม่ ถึงหากจะซื้อที่พิพาทไว้โดยสุจริตก็จะนำมาตรา 1299, 1300 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาบังคับมิได้
จำเลยร่วมซื้อที่พิพาทจากจำเลยที่ 2 หลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้ว โดยคำแนะนำของทนายจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รู้ดีว่าโจทก์ จำเลยที่ 2 กำลังมีเรื่องพิพาทกันอยู่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทนี้ แต่ก็ยังแนะนำให้จำเลยร่วมซื้อจากจำเลยที่ 2 เมื่อเป็นเช่นนี้จะฟังว่าการซื้อขายที่ดินพิพาทของจำเลยร่วมเป็นไปโดยสุจริตหาได้ไม่ โจทก์จึงมีสิทธิ์ห้ามจำเลยร่วมเข้าเกี่ยวข้องกับที่พิพาทได้
เมื่อมีการละเมิดย่อมมีความเสียหาย การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 บุกรุกเข้าไปในที่พิพาทของโจทก์ โจทก์จึงได้รับความเสียหายที่ขาดประโยชน์อันควรจะได้รับในที่พิพาท แม้โจทก์จะยังไม่เข้าทำประโยชน์อย่างใดในที่พิพาท ศาลก็ยังกำหนดว่าค่าเสียหายให้จำเลยชดใช้ให้แก่โจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินภายในวงเส้นสีแดงตามรูปแผนที่สังเขปท้ายฟ้องเป็นของโจทก์ จำเลยบุกรุกเข้าไปปลูกถั่ว กล้วย ผลไม้ล้มลุก และตัดฟืนในที่ดินดังกล่าวของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย ขาดประโยชน์คิดเป็นเงินไม่น้อยกว่าเดือนละ ๖๐๐ บาท ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินภายในวงเส้นสีแดงตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสองเข้าเกี่ยวข้องและให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเดือนละ ๖๐๐ บาท
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดแล้ว
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ไม่กล่าวให้ละเอียดว่าจำเลยบุกรุกตรงไหน เขตติดต่อกับผู้ใด ที่ดินภายในเส้นสีแดงท้ายฟ้องเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินจำเลยที่ ๒ จำเลยไม่เคยบุกรุกที่ดินโจทก์ ค่าเสียหายไม่เป็นความจริง โจทก์ไม่เคยเข้าทำกินในที่ดินแปลงพิพาท หากจะปลูกพืชผลในที่ดินก็จะได้ผลประโยชน์ไม่เกินเดือนละ ๕๐ บาท ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกนางกาญจนา สุรรัตน์ เข้ามาเป็นจำเลยร่วม เพราะจำเลยที่ ๒ ได้ขายที่ดินพิพาทให้นางกาญจนาโดยนางกาญจนาทราบดีแล้วว่าที่พิพาทกำลังเป็นความกันอยู่ ทำให้โจทก์เสียหาย อาจเป็นเหตุให้เรียกค่าทดแทนจากนางกาญจนาได้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เรียกนางกาญจนาเข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๗(๓) ข.
ก่อนสืบพยานโจทก์ โจทก์จำเลยที่ ๒ ขอให้ศาลสั่งเจ้าพนักงานที่ดินทำแผนที่พิพาทเสียก่อน เจ้าพนักงานทำมาแล้วโจทก์ จำเลยที่ ๒ ไม่รับรอง โจทก์ขอให้ศาลสั่งเจ้าพนักงานศาลไปทำแผนที่พิพาทใหม่ แต่จำเลยที่ ๒ ไม่ประสงค์จะทำแผนที่พิพาท ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้เจ้าพนักงานศาลไปทำแผนที่พิพาทได้ เมื่อเจ้าพนักงานทำแผนที่พิพาทมาแล้ว จำเลยที่ ๒ ไม่รับรองว่าถูกต้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม ที่พิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยร่วมซื้อที่พิพาทจากจำเลยที่ ๒ โดยไม่สุจริต จำเลยทั้งสองบุกรุกเข้าไปในที่พิพาทเป็นการละเมิดต่อโจทก์ สมควรกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยใช้ให้โจทก์เดือนละ ๕๐ บาท พิพากษาว่าที่ดินภายในเส้นประสีแดงในแผนที่พิพาทที่โจทก์นำชี้เป็นของโจทก์ มีสิทธิ์ครอบครอง ห้ามจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมเข้าเกี่ยวข้อง ให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเดือนละ ๕๐ บาท
จำเลยที่ ๒ และจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ และจำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์ โจทก์เป็นผู้ครอบครอง ส่วนปัญหาที่ว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่นั้น เห็นว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์เฉพาะภายในเส้นสีแดงประ ตามรูปแผนที่สังเขปท้ายฟ้องเอกสารหมาย ๑ และปรากฏว่าตามรูปแผนที่ดังกล่าวได้แสดงหมายเขตที่กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองบุกรุกไว้ ๓ ด้านแล้ว คือทางด้านทิศเหนือจดถนนสาธารณะ ทิศตะวันตกจดลำห้วย และทิศใต้จดลำน้ำแม่ประจันต์ แผนที่สังเขปท้ายฟ้องดังกล่าวก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของฟ้อง จึงเท่ากับว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้โดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา ทำให้จำเลยเข้าใจได้แล้วว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ บุกรุกที่ดินของโจทก์ตามที่ดินที่มีอาณาเขตดังปรากฏตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ไม่เคลือบคลุม
ในปัญหาที่ว่าศาลมิได้พิพากษาตามคำขอท้ายฟ้องนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จริงอยู่ในชั้นเดิมขณะโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองนั้นได้มีแผนที่ท้ายฟ้องแนบมาด้วย แต่ต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นได้มีการทำแผนที่พิพาทกันใหม่ เมื่อเจ้าพนักงานศาลทำแผนที่พิพาทมาแล้ว แม้จำเลยที่ ๒ ไม่รับรองว่าถูกต้องก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ ๒ แถลงว่า จำเลยที่ ๒ ไม่มีความจำเป็นต้องทำแผนที่พิพาทใหม่ หากโจทก์จะทำแผนที่ใหม่ก็ให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมไปเอง เท่ากับว่าเป็นการยินยอมให้โจทก์กระทำไปฝ่ายเดียวได้ ซึ่งก็ปรากฏว่าเหมือนกันกับแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง เมื่อเป็นเช่นนี้แผนที่พิพาทที่โจทก์นำชี้ให้เจ้าพนักงานศาลทำมานั้น จึงชอบแล้วและศาลชั้นต้นมีอำนาจที่จะพิพากษาว่าที่พิพาทภายในเส้นประสีแดงในแผนที่พิพาทเป็นของโจทก์ได้ หาได้พิพากษาผิดไปจากคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แต่ประการใดไม่
ในปัญหาที่ว่าจำเลยร่วมซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตหรือไม่นั้น เมื่อฟังได้ดังวินิจฉัยมาแล้วว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์ โจทก์เป็นผู้ครอบครอง การที่จำเลยร่วมซื้อที่พิพาทจากจำเลยที่ ๒ ซึ่งมิใช่เจ้าของไม่มีอำนาจโอนขาย จำเลยร่วมจึงหาได้สิทธิ์ในที่พิพาทไม่ ถึงหากจำเลยร่วมจะซื้อที่พิพาทไว้โดยสุจริตก็จะนำมาตรา ๑๒๙๙, ๑๓๐๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับมิได้ อย่างไรก็ดีปรากฏว่าจำเลยร่วมซื้อที่พิพาทหลังจากที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เป็นคดีนี้แล้ว ในการซื้อที่ดินดังกล่าวได้ความจากคำเบิกความของจำเลยร่วมเองว่าเพิ่งซื้อที่ดินพิพาทนี้เป็นครั้งแรกโดยคำแนะนำของนายวีรี เภกะนันท์ ทนายจำเลยที่ ๒ ซึ่งย่อมเป็นผู้รู้ดีว่าโจทก์และจำเลยที่ ๒ กำลังมีเรื่องพิพาทกันอยู่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทนี้ แต่ก็ยังแนะนำให้จำเลยร่วมซื้อจากจำเลยที่ ๒ เมื่อเป็นเช่นนี้จะฟังว่าการซื้อขายที่ดินพิพาทของจำเลยร่วมได้เป็นไปโดยสุจริตได้อย่างไร โจทก์จึงมีสิทธิ์ห้ามมิให้จำเลยร่วมเข้าเกี่ยวข้องในที่พิพาทได้
ปัญหาข้อสุดท้ายคือในเรื่องค่าเสียหายซึ่งศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ ๕๐ บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จำเลยที่ ๒ และจำเลยร่วมฎีกาว่าโจทก์ยังมิได้เข้าทำประโยชน์แต่อย่างใด ศาลจึงยังกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ไม่ได้นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าเมื่อมีการละเมิดย่อมมีความเสียหาย คดีนี้ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ บุกรุกเข้าไปในที่พิพาทของโจทก์ โจทก์จึงได้รับความเสียหายที่ขาดประโยชน์อันควรจะได้รับในที่พิพาทดังกล่าวและไม่ปรากฏว่าจำเลยได้นำสืบหักล้างในเรื่องค่าเสียหายแต่อย่างใด กลับรับในคำให้การของจำเลยที่ ๒ เองว่าโจทก์เสียหายเดือนละ ๕๐ บาท ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ในอัตราดังกล่าวจึงต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษายืน.