คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 230/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การยื่นคำขอให้ขยายเวลายื่นอุทธรณ์คดีอาญาภายหลังล่วงเลยกำหนด 15 วันแล้ว จะต้องเข้าหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นางจูมได้ไปแจ้งการเกิดต่อจำเลยซึ่งเป็นสารวัตรกำนันผู้ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่รับแจ้งการเกิดว่า นางจูมได้เกิดบุตรชายชื่อ รัศมี หอมจำปา แต่ไม่ได้แจ้งว่าใครเป็นบิดา จำเลยได้แก้สูติบัตรเปลี่ยนนามสกุลเป็นของโจทก์ และเติมชื่อโจทก์ในช่องบิดาทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๖๒, ๑๖๑ และขอให้แก้ชื่อ นามสกุลโจทก์ออก
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๐๙
โจทก์ยื่นอุทธรณ์วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๐๙ และยื่นคำร้องในวันเดียวกันว่าไม่สามารถยื่นในวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๐๙ ซึ่งเป็นวันครบกำหนด เพราะเหตุสุดวิสัย
ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับ ว่าไม่ใช่เหตุสุดวิสัย
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์เพิ่มว่าในส่วนแพ่งโจทก์ยื่นในกำหนด ให้รับอุทธรณ์ส่วนแพ่ง
โจทก์ฎีกาขอให้รับอุทธรณ์ในคดีส่วนอาญาด้วย
ศาลฎีกาเห็นว่า การยื่นคำขอให้ศาลขยายเวลายื่นอุทธรณ์ในคดีอาญาภายหลังที่ล่วงเลยกำหนด ๑๕ วันมาแล้ว จะต้องเข้าหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๓ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕ คือจะต้องเป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัย
โจทก์อ้างว่ามีเหตุสุดวิสัยโดยโจทก์ป่วยเป็นหวัด ท้องร่วงอย่างแรง ตามหนังสือรับรองแพทย์ว่าเป็นหวัด พยาธิตัวตืดมีอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดท้อง เบื่ออาหาร ควรรักษาตัว ๗ วัน แม้บ้านพักของโจทก์อยู่ห่างศาล ๓๘ กิโลเมตร แต่ใบแสดงความเห็นของแพทย์ลงวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๐๙ ว่า เขียนและตรวจที่โรงพยาบาลอุบลราชธานี แสดงว่าโจทก์มาให้แพทย์โรงพยาบาลอุบลราชธานีตรวจที่จังหวัดอุบลราชธานีในวันที่ ๗ นั้นแล้ว ก็เมื่อโจทก์มาในเมืองขอให้แพทย์ตรวจร่างกายได้ก็น่าจะมาศาลเพื่อยื่นอุทธรณ์ได้ จึงไม่แสดงว่ามีเหตุสุดวิสัย
พิพากษายืน.

Share