แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยปลดโจทก์ออกจากงานเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์กระทำผิดระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรง คำให้การของจำเลยจึงเท่ากับต่อสู้ว่า เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมศาลแรงงานกลางได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ฉะนั้นการจะวินิจฉัยว่าเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมหรือไม่ จึงต้องพิเคราะห์ว่ามีเหตุสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้หรือไม่ การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการกระทำของโจทก์แม้จะไม่ผิดต่อระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรง แต่ก็เป็นการกระทำที่ไม่สมควรการเลิกจ้างโจทก์จึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ดังนี้เป็นการวินิจฉัยตามคำฟ้อง คำให้การและประเด็นพิพาทที่กำหนดไว้หาเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกคำให้การไม่.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม2524 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเป็นเงินเดือนเดือนละ 13,360 บาทและค่าครองชีพเดือนละ 350 บาท ต่อมาวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2532 จำเลยได้มีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากงานโดยกล่าวหาว่าโจทก์กระทำโดยมิชอบ โดยไม่มีรายละเอียดและข้อเท็จจริงว่าโจทก์ผิดอะไร ทั้งไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ไม่จ่ายค่าชดเชย ไม่คืนเงินสะสมจำนวน 69,137.11 บาทความจริงโจทก์ไม่ได้กระทำผิด จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมมีสิทธิที่จะได้ค่าชดเชยตามกฎหมายเท่ากับ 180 วัน ของค่าจ้างอัตราสุดท้าย โจทก์มีสิทธิได้สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ยังมีเงินสะสมตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2524 ถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์2532 ซึ่งจำเลยไม่คืนให้โจทก์ และโจทก์มีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และโจทก์เป็นผู้มีความรู้ความสามารถหลายสาขาร่างกายก็ยังแข็งแรง ยังสามารถทำงานได้อีกไม่น้อยกว่า10 ปี การที่จำเลยปลดโจทก์ออกจากงานทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ขอคิดค่าเสียหายส่วนนี้คือเงินเดือน เดือนละ 13,360 บาท เป็นเวลา 120เดือน ค่าครองชีพเดือนละ 350 บาท เป็นเวลา 120 เดือน เงินโบนัสปีละ 53,440 บาท เป็นเวลา 10 ปี เงินสะสมเดือนละ 660 บาท เป็นเวลา120 เดือน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,259,760 บาท โจทก์เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในสังคม การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทำให้โจทก์ถูกดูหมิ่นทำให้เสียชื่อเสียง โจทก์ขอเรียกค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงิน5,000,000 บาท จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชำระค่าชดเชยจำนวน 82,260บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 27,420 บาท เงินสะสมจำนวน69,137.11 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 3 รายการคือ ค่าเสียหายเนื่องจากไม่ได้ทำงานจนเกษียณอายุเป็นเงิน 150,810บาท ค่าเสียหายจากการไม่ได้ทำงานหลักเกษียณอายุจำนวน 10 ปี เป็นเงิน2,259,760 บาท และค่าเสียหายจากการเสียเกียรติยศชื่อเสียง จำนวน5,000,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 7,589,387.11 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2524 โจทก์ได้กระทำการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรง กล่าวคือระหว่างที่โจทก์เป็นหัวหน้าส่วนประจำฝ่ายการเงิน มีหน้าที่ดูแลสินเชื่อโจทก์ได้เสนอตัวเป็นนายหน้าโดยมีบำเหน็จให้แก่นายวิรัตน์พลีประเสริฐ หุ้นส่วนผู้จัดการของหุ้นส่วนจำกัดวิรัตน์ ซึ่งเป็นลูกค้าของจำเลย โดยโจทก์ได้เสนอขายที่ดินที่นายวิรัตน์ พลีประเสริฐนำมาทำสัญญาจำนองเป็นประกันหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไว้กับจำเลย ซึ่งการกระทำของโจทก์เป็นการแสวงประโยชน์เพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบต่อหน้าที่ของโจทก์ และเมื่อโจทก์เป็นนายหน้าของลูกค้าแล้ว โจทก์ได้หักเงินบางส่วนของลูกค้าไปชำระหนี้ค่านายหน้าซึ่งเป็นหนี้ส่วนตัวของโจทก์เอง เป็นเหตุให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดวิรัตน์ต้องเสียดอกเบี้ยจากเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลย จำเลยเป็นสถาบันการเงินเป็นที่ไว้วางใจของทางราชการและของประชาชนทั่วไปจำเป็นต้องรักษาชื่อเสียงไว้ให้เป็นที่เชื่อถือของบุคคลทั่วไปจำเป็นต้องรักษาชื่อเสียงไว้ให้เป็นที่เชื่อถือของบุคคลทั่วไปมิฉะนั้นจะเป็นที่เสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดระเบียบและวินัยควบคุมพนักงานของจำเลยมิให้กระทำการเป็นที่เสียหายต่อชื่อเสียงของจำเลย โดยพนักงานต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ใช้อำนาจหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว การกระทำของโจทก์ เป็นการกระทำฝ่าฝืนระเบียบของจำเลยอย่างร้ายแรงดังกล่าวมาข้างต้น ดังนั้นจำเลยจึงมีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากงานตั้งแต่วันที่6 กุมภาพันธ์ 2532 เป็นต้นไป โดยจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย กับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายและดอกเบี้ยตามฟ้องให้แก่โจทก์ ส่วนเงินสะสมนั้น ตามระเบียบของจำเลยไม่จ่ายเงินสะสมให้แก่พนักงานที่ออกจากงานเพราะกระทำผิดวินัย หรือกระทำการเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหาย โจทก์ถูกปลดออกจากงานเนื่องจากกระทำผิด จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินสะสมส่วนเงินโบนัสนั้นไม่มีในระเบียบของจำเลย แต่จำเลยมีระเบียบการจ่ายเงินช่วยเหลือค่าครองชีพพิเศษเพื่อตอบแทนพนักงานของจำเลยที่ปฏิบัติหน้าที่มาด้วยความขยันหมั่นเพียร บำเพ็ญตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของธนาคาร สมควรที่จะได้รับประโยชน์ตอบแทนโดยจะจ่ายเงินช่วยเหลือค่าครองชีพพิเศษให้แก่พนักงานจำนวนปีละ4 เท่าของเงินเดือน ไม่รวมเงินเพิ่มอื่นใด แบ่งจ่ายงวดบัญชีละ 2เดือน โดยมีเงื่อนไขว่าพนักงานธนาคารจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเรียบร้อยครบงวดบัญชี ไม่เป็นผู้ที่ได้รับการลงโทษจากธนาคาร ไม่ว่าสถานใดสถานหนึ่ง แม้ถูกตำหนิโทษหรือถูกภาคทัณฑ์ในระหว่างงวดบัญชีและพนักงานต้องมีตัวปฏิบัติงานอยู่ในวันครบงวดบัญชีคือวันสิ้นเดือนมิถุนายนและเดือนธันวาคมของแต่ละคนเมื่อโจทก์ถูกลงโทษให้ปลดออกตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2532 ประกอบกับโจทก์ไม่มีตัวทำงานอยู่ในวันครบงวดบัญชีคือวันที่ 30 มิถุนายน 2532 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือค่าครองชีพพิเศษ
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้ฝ่าฝืนระเบียบของจำเลยกรณีที่ร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและต้องคืนเงินสะสม โจทก์ถูกเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2532 ไม่มีฐานะเป็นพนักงานของจำเลยในวันครบงวดบัญชี จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือพิเศษจากจำเลย การที่โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานตำแหน่งหัวหน้าส่วน มีหน้าที่พิจารณาสินเชื่อได้เข้าไปมีส่วนได้เสียเรื่องค่านายหน้ากับลูกค้าของจำเลย มีผลกระทบถึงความเชื่อถือของประชาชนที่มีต่อจำเลย เป็นเรื่องที่ไม่สมควรการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ จึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน82,260 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 24,678 บาท และเงินสะสมจำนวน 69,137.11 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินค่าชดเชยนับแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2532 และในต้นเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ากับเงินสะสมนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกวาจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน ครั้งสุดท้ายทำงานในตำแหน่งหัวหน้าส่วนประจำสำนักงานกรรมการผู้จัดการใหญ่ มีหน้าที่วิเคราะห์พิจารณาสินเชื่อแล้วเสนอผู้บังคับบัญชาเพื่ออนุมัติการให้สินเชื่อได้รับค่าจ้างเป็นเงินเดือน เดือนละ 13,360 บาท และค่าครองชีพเดือนละ350 บาท รวม 13,710 บาท โจทก์รับเป็นนายหน้าขายที่ดินของนายวิรัตน์พลีประเสริฐ ลูกค้าของจำเลย เมื่อขายที่ดินได้แล้วโจทก์ได้รับเงินค่านายหน้าโดยวิธีหักกลบลบหนี้เป็นเงิน 130,000 บาท แต่ยังมีข้อโต้เถียงกันอยู่ โดยโจทก์อ้างว่าได้ตกลงค่านายหน้ากัน 200,000 บาทยังขาดอยู่อีก 70,000 บาท ส่วนนายวิรัตน์อ้างว่าตกลงค่านายหน้าเพียง 100,000 บาท จึงขอเงินคืนจากโจทก์ 30,000 บาท โจทก์ไม่ยอมคืนให้ นายวิรัตน์จึงร้องเรียนต่อจำเลย จำเลยทำการสอบสวนแล้วมีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากงานเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2532
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่ ซึ่งจำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยเป็นธนาคารพาณิชย์ เป็นสถาบันการเงินอันเป็นที่ไว้วางใจของทางราชการและของประชาชนจำเป็นต้องกำหนดระเบียบวินัยควบคุมพนักงานมิให้กระทำการที่จะทำให้เสียหายต่อชื่อเสียงของจำเลย ซึ่งจำเลยก็ได้กำหนดระเบียบไว้อย่างกว้าง ๆเพราะไม่สามารถออกระเบียบปลีกย่อยได้ เมื่อการกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบการทำงานของจำเลยกรณีที่ร้ายแรงแล้ว จำเลยจึงเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย เห็นว่า ระเบียบที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ฝ่าฝืนนั้นคือระเบียบตามเอกสารหมาย ล.3 ภาค 8 ข้อ 10 ซึ่งกำหนดว่าพนักงานของจำเลยต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตไม่กระทำหรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำ หรือใช้อำนาจหน้าที่การงานของตนเองหรือของพนักงานผู้อื่นแสวงหาประโยชน์โดยทางตรงหรือทางอ้อมให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น หรือจงใจกระทำการใด ๆ อันก่อให้เกิดความเสียหายต่อเกียรติยศ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของธนาคาร จากระเบียบของจำเลยดังกล่าวเห็นได้ว่าจำเลยมิได้ห้ามพนักงานของจำเลยกระทำการเป็นนายหน้า และการที่โจทก์กระทำการเป็นนายหน้าขายที่ดินให้แก่ลูกค้าของจำเลยก็ไม่เกี่ยวข้องกับหน้าที่การงานของโจทก์โดยตรง การที่โจทก์มีเรื่องพิพาทกับลูกค้าของจำเลยเกี่ยวกับค่านายหน้า เป็นเพียงเรื่องที่ไม่สมควรเท่านั้น ไม่ถึงกับถือว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย เป็นกรณีที่ร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3)…
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าการที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์แม้จะไม่ผิดระเบียบ แต่เป็นเรื่องไม่สมควรเพราะมีผลกระทบถึงความเชื่อถือของประชาชนที่มีต่อจำเลย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากเหตุดังกล่าว จึงถือว่ามีเหตุสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกคำให้การหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว โจทก์ฟ้องว่า จำเลยปลดโจทก์ออกจากงานเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์กระทำผิดระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรง เท่ากับต่อสู้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมซึ่งศาลแรงงานกลางได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ในข้อ 5 ว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จะวินิจฉัยว่าเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมหรือไม่นั้นจำต้องพิเคราะห์ว่ามีเหตุสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์หรือไม่ดังนั้นการที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์แม้จะไม่ผิดต่อระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรง แต่ก็เป็นการกระทำที่ไม่สมควร การที่เลิกจ้างโจทก์จึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จึงเป็นการวินิจฉัยตามคำฟ้อง คำให้การและตามประเด็นพิพาทที่กำหนดไว้ หาเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกคำให้การดังโจทก์อุทธรณ์ไม่…”.