คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2296/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยกล่าวต่อหน้าบุคคลอื่นว่า “นายกกินเนื้อของนายเนี้ยววันละ 8 กิโลจึงอนุญาตให้ฆ่า ถ้าไม่กินเนื้อวันละ 8 กิโล เขาก็คงไม่อนุญาต” ซึ่งมีความหมายว่าโจทก์ร่วมนายกเทศมนตรีจังหวัดชัยภูมิร่วมรับสินบนของนายสมชายหรือเนี้ยว คำกล่าวเช่นนี้ถือเป็นการหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ร่วมให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๑๑ เวลากลางวัน จำเลยได้บังอาจหมิ่นประมาทใส่ความนายถัด ชัยบุตร นายกเทศมนตรีเมืองชัยภูมิต่อบุคคลที่สามมีข้อความว่า “นายก (หมายถึงนายถัด ชัยบุตร นายกเทศมนตรีเมืองชัยภูมิ) ไม่ยุติธรรม กินเนื้อ (หมายถึงเนื้อโคหรือเนื้อกระบือชำแหละ) ไอ้เนี้ยว (หมายถึงนายสมชาย หาญสวัสดิ์) วันละ ๘ กิโล จึงอนุญาตให้ติดตะรางก็ไม่กลัว ถ้าไม่กินเนื้อวันละ ๘ กิโล จะอนุญาตได้อย่างไร” อันเป็นการดูหมิ่นนายถัด ชัยบุตร ตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองชัยภูมิโดยประการที่น่าจะทำให้นายถัด ชัยบุตร เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังทั้งในฐานะส่วนตัวและในฐานะตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองชัยภูมิได้เหตุเกิดบนสำนักงานเทศมนตรีเมืองชัยภูมิ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายถัด ชัยบุตร ผู้เสียหายร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ ศาลอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ ปรับจำเลย ๖๐๐ บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาในข้อกฎหมายว่า คำกล่าวของจำเลยไม่เป็นการหมิ่นประมาทใส่ความ
ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาแล้ว คดีนี้ มีปัญหาแต่เฉพาะข้อกฎหมายในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนั้น ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ร่วมเป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองชัยภูมิ จำเลยและนายสมชายหรือเนี้ยว หาญสวัสดิ์ ต่างมีอาชีพเป็นพ่อค้าเนื้อสัตว์ โดยปกติขออาชญาบัตรทำการฆ่าสัตว์ต่อเทศบาลเมืองชัยภูมิเพื่อจำหน่ายและตามระเบียบของเทศบาลผู้ที่ยื่นคำขอรับอาชญาบัตรฆ่าสัตว์จะต้องนำสัตว์มาให้เทศบาลตรวจภายในเวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา ของวันที่ยื่นคำร้องขออนุญาต ถ้าหากไม่ปฏิบัติตามระเบียบ เป็นเรื่องที่นายกเทศมนตรีจะพิจารณาสั่งในการขออนุญาตเป็นราย ๆ ไป ในวันเกิดเหตุ นายสมชายได้ยื่นคำร้องต่อทางเทศบาลว่าโคของนายสมชายได้เข้าโรงฆ่าสัตว์เพื่อตรวจ แต่โคตื่นรถเมล์หลุดมือคนจูง หนีไปบ้านและโคได้เข้าโรงฆ่าสัตว์เวลาประมาณ ๑๑.๐๐ นาฬิกา ขอพิจารณาให้ฆ่าด้วย นายชื่นเทศมนตรีเสนอโจทก์ร่วมว่าควรอนุโลมให้สักครั้ง โจทก์ร่วมสั่งอนุโลมให้นายสมชายจึงได้รับอาชญาบัตรให้ฆ่าโคได้ จำเลยไปที่สำนักงานเทศบาลทราบเรื่องก็ไปถามนายชื่นเทศมนตรีถึงเรื่องที่นายสมชายไม่นำโคเข้าตรวจตามระเบียบเหตุใดจึงอนุญาตออกอาชญาบัตรให้นายชื่นบอกจำเลยว่า นายกเทศมนตรีสั่งอนุโลมให้ฆ่าได้ จำเลยไม่พอใจจึงพูดขึ้นว่า “นายกกินเนื้อของนายเนี้ยววันละ ๘ กิโล จึงอนุญาตให้ฆ่า ถ้าไม่กินเนื้อวันละ ๘ กิโล เขาก็คงไม่อนุญาต” จำเลยได้กล่าวข้อความดังกล่าวต่อหน้านายชื่นและบุคคลอื่นอีก
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวนั้นมีความหมายว่า โจทก์ร่วมรับสินบนของนายสมชายหรือเนี้ยว เป็นข้อความใส่ความโจทก์ร่วมทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังได้ เป็นการหมิ่นประมาทใส่ความตามกฎหมายแล้ว หาใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตใจไม่
พิพากษายืน

Share