แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การที่สัญญาเช่าซื้อกำหนดหน้าที่ให้โจทก์ต้องประกันภัยรถยนต์ที่โจทก์เช่าซื้อจากจำเลยนั้น แม้โจทก์จะออกเช็คสั่งจ่ายเงินให้จำเลยเพื่อชำระคืนเงินเบี้ยประกันภัยที่จำเลยได้ชำระแทนโจทก์ไปแล้วก็ตามแต่เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คเช่นนี้ แสดงว่าโจทก์ยังไม่ได้ชำระเงินเบี้ยประกันภัยตามข้อตกลง และจำเลยได้ทวงถามแล้วแต่ โจทก์ ก็ไม่ปฏิบัติตามจึงเป็นการผิดข้อตกลงซึ่งในกรณีเช่นนี้ สัญญาเช่าซื้อ ดังกล่าวมีข้อสัญญาให้ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นอัน ยกเลิกสิ้นสุดลงทันที จำเลยจึงมีสิทธิเอาคืนและครอบครองรถ ที่โจทก์เช่าซื้อได้ การกระทำ ของจำเลยจึงไม่เป็นการละเมิด
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อ จำเลยยึดรถของโจทก์โดยมิชอบ เป็นการกระทำละเมิดตามฟ้องโจทก์ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย และให้โจทก์ใช้ค่าประกันภัยและค่าเช่าซื้อค้างชำระรวม 9,771 บาท ตามฟ้องแย้งแก่จำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยที่ 1 ชอบที่จะยึดรถคืนได้ ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งสามไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “โจทก์ฎีกาว่า ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 4 กำหนดหน้าที่โจทก์ต้องประกันภัยรถยนต์ที่โจทก์เช่าซื้อจากจำเลยเมื่อโจทก์ได้เอาประกันภัยรถยนต์ที่เช่าซื้อโดยให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ได้รับประโยชน์ ก็ต้องถือว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 4 ครบถ้วนแล้วดังนั้นหากเช็คฉบับที่โจทก์ชำระเป็นค่าเบี้ยประกันภัยถูกปฏิเสธการจ่ายเงินบริษัทรับประกันภัยย่อมเป็นผู้ติดตามทวงถามจากโจทก์เอง จำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่ต้องคอยทวงถามหรือทดรองจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยแทนโจทก์ โจทก์จึงไม่เป็นผู้ผิดสัญญาเช่าซื้อ จำเลยทั้งสามยึดรถที่โจทก์เช่าซื้อไปเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ต้องใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ได้เอาประกันภัยรถยนต์ที่โจทก์เช่าซื้อจากจำเลยที่ 1 กับบริษัทสหวัฒนาประกันภัยจำกัด ตามกรมธรรม์ประกันภัยหมาย จ.2 โดยระบุให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับประโยชน์ตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2520 อันเป็นวันเดียวกับที่โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.1 นั้นเอง แต่โจทก์ไม่ได้ชำระเบี้ยประกันให้บริษัทรับประกันภัยแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระเบี้ยประกันภัยนั้นไป โดยโจทก์ได้ออกเช็คหมาย ล.1 สั่งจ่ายเงินล่วงหน้าเป็นวัที่ 27 กุมภาพันธ์ 2520 ชำระเงินเบี้ยประกันภัยที่จำเลยที่ 1 จ่ายทดรองแทนโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งสัญญาเช่าซื้อข้อ 4 มีว่า “ค่าธรรมเนียมในการโอน ค่าภาษี ค่าประกันภัยในนามของเจ้าของระหว่างการผ่อนส่ง ผู้เช่าเป็นผู้เสียด้วยทุนทรัพย์ของผู้เช่าเองทั้งสิ้น” และข้อ 6มีว่า “ในระหว่างเวลาเช่าซื้อรถอยู่นี้ ผู้เช่าจะชำระเงินค่าปรับไหม และเงินที่ต้องชำระทั้งมวลสำหรับใบอนุญาต ค่าภาษี และค่าจดทะเบียน และค่าอื่น ๆ อันพึงต้องเสียเกี่ยวกับรถนั้น และหากเจ้าของเป็นผู้จ่ายเงินที่ต้องชำระรายใดเช่นว่ามานี้แล้ว ผู้เช่าจะชำระเงินที่ได้ชำระไปแล้วนั้นคืนให้แก่เจ้าของเมื่อทวงถาม” ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 นำเช็คที่โจทก์ออกสั่งจ่ายเงินจำนวน 5,221 บาท ให้จำเลยที่ 1 เพื่อชำระคืนเงินเบี้ยประกันภัยที่จำเลยที่ 1 ได้ชำระให้บริษัทรับประกันภัยแทนโจทก์ไปเบิกเงินจากธนาคารไม่ได้ เพราะธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินนั้นตามเอกสารหมาย ล.2 แสดงว่าโจทก์ยังไม่ได้ชำระเงินเบี้ยประกันภัยตามข้อตกลงข้อ 4 เมื่อจำเลยที่ 1 มีหนังสือลงวันที่ 3 มีนาคม 2520 ตามเอกสารหมาย ล.3 ทวงถามให้โจทก์ชำระเบี้ยประกันภัยที่จำเลยที่ 1 ชำระแทนโจทก์นั้นภายใน 3 วัน ตามข้อตกลงข้อ 6 แต่โจทก์เพิกเฉย จำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือลงวันที่ 10 มีนาคม 2520 ตามเอกสารหมาย ล.4, ล.5 เตือนให้โจทก์ชำระเบี้ยประกันภัยซ้ำอีกภายใน 3 วัน โจทก์ทราบแล้ว แต่ก็ไม่นำเงินเบี้ยประกันภัยชำระให้จำเลยที่ 1 จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ทวงถามให้โจทก์ชำระเงินเบี้ยประกันภัยที่จำเลยที่ 1 จ่ายทดรองแทนโจทก์แล้ว แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตาม เป็นการผิดข้อตกลงและเงื่อนไขในสัญญาเช่าซื้อข้อ 4 ข้อ 6 ซึ่งกรณีเช่นนี้สัญญาเช่าซื้อข้อ 11 ให้ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นอันยกเลิกสิ้นสุดลงทันที และจำเลยที่ 1 มีสิทธิเอาคืนและครอบครองรถที่โจทก์เช่าซื้อได้ การกระทำของจำเลยไม่เป็นการทำละเมิด”
พิพากษายืน