คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2294/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บุตรโจทก์ถูก ส.ขับรถยนต์ชนถึงแก่ความตาย โจทก์จัดการแทนบุตรที่ตายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5(2) จำเลยเป็นนายตำรวจผู้สืบสวนสอบสวนคดีนั้น ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ คือ จดคำพยานไม่ตรงกับคำให้การของพยานโดยไม่ชอบ เพื่อช่วยเหลือ ส. มิให้ต้องรับโทษ หรือให้รับโทษน้อยลง ถือว่าการกระทำผิดของจำเลยเป็นการกระทำต่อโจทก์ โจทก์เป็นผู้เสียหายโดยตรง. จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,200
โจทก์ฟ้องจำเลยมาครั้งหนึ่งแล้ว ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องปรากฏว่าเป็นเพราะคำฟ้องคดีนั้นโจทก์มิได้บรรยายฟ้องโดยแจ้งชัดถึงอำนาจฟ้องของโจทก์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ด้วยข้อหาเดียวกันนั้นต่อศาลชั้นต้นเดียวกันโดยบรรยายอำนาจฟ้องของโจทก์ให้ชัดขึ้น ดังนี้ สิทธินำคดีมาฟ้องของโจทก์ยังหาได้ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(4) ไม่ เพราะศาลยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดในการกระทำความผิดของจำเลย
การฟ้องกล่าวหาว่าเจ้าพนักงานจดคำพยานไม่ตรงกับคำให้การของพยานนั้น เมื่อมิได้บรรยายฟ้องให้ได้ความชัดว่าคำให้การของพยานคนไหนบ้าง และเป็นข้อความตอนใดที่จำเลยจดไม่ถูกต้องตรงกับที่พยานให้การอย่างไร ย่อมถือว่าเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา158(5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายประทุม เจริญเกตุ บุตรของโจทก์ถูกรถยนต์โดยสารซึ่งนายสำรวน หรือรวน ทองใบ จำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 52/2515ของศาลชั้นต้น เป็นผู้ขับชนตาย โจทก์ในฐานะบิดาของนายประทุมจึงเป็นผู้เสียหาย มีอำนาจจัดการแทนนายประทุมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 วรรค 2 จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่สืบสวนคดีอาญา และเป็นพนักงานสอบสวนคดีที่นายประทุมถูกรถยนต์ชนตายดังกล่าว จำเลยทั้งสองโดยเจตนาทุจริต ได้ร่วมกันทำการสืบสวนสอบสวนคดีดังกล่าว โดยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ คือ จดคำพยานหลักฐานไม่ถูกต้องตรงกับคำให้การของพยาน อันเป็นการมิชอบ เพื่อช่วยเหลือนายสำรวนหรือรวนผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดมิให้ต้องรับโทษ หรือให้รับโทษน้อยลง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 200, 83

ศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้องโจทก์แล้ว พิพากษาว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง และไม่มีอำนาจจัดการแทนดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (2) อีกทั้งคดีนี้เป็นเรื่องเดียวกับคดีอาญาแดงที่ 18/2516 ของศาลชั้นต้น ซึ่งได้พิพากษาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และให้ยกฟ้องไปแล้ว จึงให้ยกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ โจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา และเป็นพนักงานสอบสวน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริต เพื่อช่วยเหลือนายสำรวนหรือรวน ทองใบ ซึ่งถูกฟ้องหาว่าขับรถโดยประมาทชนนายประทุมเจริญเกตุ บุตรของโจทก์ตาย เห็นว่า ที่โจทก์หาว่าจำเลยจดคำพยานไม่ถูกต้องตรงกับคำให้การของพยานโดยมิชอบนี้ จำเลยกระทำในคดีที่นายสำรวนหรือรวน ทองใบ เป็นผู้ต้องหา ซึ่งตามคำฟ้องคดีนี้พอเข้าใจได้ว่าโจทก์คดีนี้เป็นผู้จัดการแทนนายประทุม เจริญเกตุผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 3 และ 5(2) ในคดีที่นายสำรวนหรือรวน ทองใบ เป็นผู้ต้องหานั้นการกระทำผิดของจำเลยจึงเป็นการกระทำต่อโจทก์คดีนี้ จึงถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายโดยตรงและเห็นว่า แม้โจทก์จะได้ฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นศาลเดียวกันนี้ด้วยข้อหาเดียวกันนี้มาครั้งหนึ่งแล้วศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแต่ปรากฏว่าเป็นเพราะคำฟ้องคดีนั้นโจทก์มิได้บรรยายโดยแจ้งชัดถึงอำนาจฟ้องของโจทก์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ใหม่ โดยบรรยายอำนาจฟ้องของโจทก์ให้ชัดขึ้น ดังนี้ สิทธินำคดีมาฟ้องของโจทก์ยังหาได้ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) ไม่ เพราะศาลยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดในการกระทำความผิดของจำเลยแต่ที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องว่าจำเลยทั้งสองโดยเจตนาทุจริต ได้ร่วมกันทำการสืบสวนสอบสวนคดี โดยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ คือ จดคำพยานหลักฐานไม่ถูกต้องตรงกับคำให้การของพยาน อันเป็นการมิชอบ ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือนายสำรวนหรือรวน ทองใบ มิให้ต้องโทษหรือให้รับโทษน้อยลง นั้น โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้ได้ความชัดว่าคำให้การของพยานคนไหนบ้าง และเป็นข้อความตอนใดที่จำเลยจดไม่ถูกต้องตรงกับที่พยานให้การอย่างไรต้องถือว่าเป็นคำฟ้องที่ไม่ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด มาให้เพียงพอที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) และเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้

พิพากษายืน

Share