คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2293/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินร่วมกับเจ้าของรวมอีกคนหนึ่ง โจทก์ได้ครอบครองที่ดินนั้นเป็นส่วนสัดอยู่ก่อนจำเลยได้รับซื้อฝากที่ดินสืบต่อมาจากเจ้าของรวมคนนั้นแล้ว และจำเลยได้รู้เห็นยินยอมในการที่โจทก์กับเจ้าของรวมคนดังกล่าวขอรังวัดแบ่งแยกโฉนดไปตามส่วนของที่ดิน ที่โจทก์ครอบครอง ขอบังคับจำเลยให้แบ่งแยกโฉนดตามที่เจ้าพนักงานรังวัดไว้นั้น ดังนี้ เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยปฏิบัติตามข้อผูกพันที่จำเลยได้รู้และมีอยู่ก่อนจำเลยได้รับซื้อฝากที่ดิน ไม่ใช่เรื่องฟ้องขอให้บังคับตามสัญญา หรือตามเรื่องประนีประนอมยอมความ กรณีเช่นนี้ แม้มิได้มีหนังสือระหว่างโจทก์จำเลย โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องจำเลย
การที่ศาลชั้นต้นสั่งว่า ตามคำฟ้อง คำให้การ คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงงดสืบพยานแล้วพิพากษาคดีไปโดยข้อกฎหมายนั้น เป็นการที่ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในข้อกฎหมายซึ่งทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 227 ดังนั้น แม้โจทก์จะมิได้โต้แย้งคำสั่งไว้ โจทก์ก็มีสิทธิ์อุทธรณ์คำสั่งได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินโฉนดที่ ๙๐ เนื้อที่ ๔๙ ไร่ ๒ งาน ๖๐ ตารางวา ตำบลคู้ฝั่งเหนือ อำเภอหนองจอก กรุงเทพฯ มีชื่อนายมะดีถือกรรมสิทธิ์ ๓๙ ไร่ ๒ งาน ๖๐ วา กับนางมูนะถือกรรมสิทธิ์ ๑๐ ไร่ เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๐๙ นายมะดีขายให้โจทก์ที่ ๒ เนื้อที่ ๖ ไร่ ๒ งาน วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๐ นางมูนะขายที่ดินทั้งหมด ๑๐ ไร่ ให้โจทก์ที่ ๑ โจทก์ทั้งสองเข้าทำกินเป็นส่วนสัด เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๒ ได้มีการแบ่งแยกโฉนดตามแผนที่ท้ายฟ้อง ในระหว่างการรังวัดแบ่งแยก เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๑๓ นายมะดีขายส่วนของตนทั้งหมดให้แก่นายสนั่น และต่อมาวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๑๔ นายสนั่นขายฝากที่ดินให้จำเลย ถึงกำหนดไม่ไถ่ถอน ที่ดินส่วนนี้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย จำเลยรู้แล้วว่าที่ดินแปลงนี้ โจทก์ทั้งสองมีกรรมสิทธิ์ตามส่วนดังกล่าว เหลือนอกนั้นเป็นของนายสนั่น นายสนั่นและจำเลยรู้ว่ามีการรังวัดแบ่งแยกและครอบครองเป็นส่วนสัด จำเลยก็ร่วมมือในการแบ่งแยกด้วย แต่จำเลยผิดสัญญาไม่ยอมไปจัดการแบ่งแยกตามหน้าที่ ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยไปดำเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกโฉนดเป็นส่วนของโจทก์ทั้งสองและจำเลยตามที่เจ้าพนักงานรังวัดแบ่งแยกไว้ หากจำเลยไม่ดำเนินการก็ถือคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาจดทะเบียนแบ่งแยก
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยเห็นโจทก์ทั้งสองครอบครองที่พิพาทเป็นส่วนสัด จำเลยซื้อที่ดินจากนายสนั่น ระบุเนื้อที่ซื้อขายตามส่วนของนายสนั่น นายสนั่นไม่เคยตกลงแบ่งเนื้อที่ให้แตกต่างไปจากส่วนที่ระบุไว้ในโฉนด จำเลยไม่ทราบข้อตกลงในการแบ่งแยกที่ดินระหว่างโจทก์ทั้งสองและนายสนั่น หากมีข้อตกลงก็ไม่ผูกพันจำเลย
วันชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้อง คำให้การแล้ว เห็นว่า คดีวินิจฉัยได้แล้วจึงงดสืบพยานสองฝ่าย วินิจฉัยว่าจำเลยไม่ได้ตกลงในการรังวัดแบ่งแยกที่ดินด้วย และข้อตกลงเช่นนี้ต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่กรณี มิฉะนั้นจะฟ้องร้องบังคับมิได้ ทั้งยังเป็นฟ้องที่ต้องห้ามเพราะจำเลยเป็นบุคคลภายนอก โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ทั้งสองได้รับโอนที่ตามที่บรรยายส่วนไว้ในโฉนด ร่วมกับเจ้าของที่ดินคนหนึ่งในโฉนด โดยโจทก์ต่างครอบครองเป็นส่วนสัดตามที่รับโอนระหว่างที่จำเลยรับซื้อฝากที่ดินส่วนของเจ้าของที่ดินนั้นไว้ โจทก์ทั้งสองร่วมกับเจ้าของที่ดินขอแบ่งแยกโฉนด เมื่อดำเนินการแบ่งแยกโฉนดอยู่ จำเลยได้กรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนนั้น โจทก์อ้างว่าจำเลยได้รู้และได้ร่วมมือในการแบ่งแยกโฉนด แต่ไม่ยอมไปจัดการแบ่งแยกโฉนด จึงขอให้บังคับจำเลย ฟ้องโจทก์จึงเป็นเรื่องอ้างว่า โจทก์ทั้งสองกับเจ้าของร่วมคนหนึ่งได้แบ่งแยกกันครอบครองที่ดินกรรมสิทธิ์รวมเป็นส่วนสัดอยู่ก่อน จำเลยได้รับซื้อฝากที่ดินสืบต่อมาจากเจ้าของรวมคนนั้น และจำเลยได้รู้เห็นยินยอมในการรังวัดแบ่งแยกโฉนดไปตามส่วนของที่ดินที่โจทก์ครอบครอง เห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยปฏิบัติตามข้อผูกพันที่จำเลยได้รู้และมีอยู่ก่อนจำเลยได้รับซื้อฝากที่ดิน หาใช่เรื่องฟ้องขอให้บังคับตามสัญญาหรือตามเรื่องประนีประนอมยอมความดังข้อวินิจฉัยของศาลชั้นต้น กรณีเช่นนี้แม้มิได้มีหนังสือระหว่างโจทก์จำเลย โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องจำเลยได้
ที่จำเลยฎีกาว่า เมื่อศาลชั้นต้นงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้ว โจทก์มิได้โต้แย้งคำสั่งไว้ ไม่มีสิทธิ์อุทธรณ์ขอให้สืบพยานกันต่อไปนั้น เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นสั่งว่าตามคำฟ้อง คำให้การคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงงดสืบพยานทั้งสองฝ่าย แล้วพิพากษาคดีไปโดยข้อกฎหมาย เช่นนี้ ย่อมเป็นการที่ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในข้อกฎหมาย ซึ่งทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔ ไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ดังบัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๒๗ ดังนั้น แม้โจทก์จะมิได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งให้งดสืบพยานไว้ โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิ์อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวได้
พิพากษายืน

Share