คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2291/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อบังคับโรงงานน้ำตาล กรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2527 มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจ่ายเงินบำเหน็จแตกต่างจากค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 46 เพราะตามข้อบังคับดังกล่าวข้อ 10 นั้น แม้กรณีที่พนักงานตายหรือลาออกก็มีสิทธิได้รับบำเหน็จ ถือได้ว่าเงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลยเป็นเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง แม้ข้อบังคับข้อ 12 วรรคแรกจะระบุว่า ‘พนักงานที่ออกจากงานโดยมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานแล้วไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามข้อบังคับนี้ แต่ถ้าค่าชดเชยที่มีสิทธิได้รับนั้นต่ำกว่าเงินบำเหน็จที่จะได้รับตามข้อบังคับนี้ ก็ให้จ่ายเพิ่มให้เท่าจำนวนที่ต่ำกว่านั้น’ ก็ตาม แต่ความในวรรคสองของข้อบังคับดังกล่าวก็ระบุว่า ‘ความในวรรคแรก มิให้ใช้บังคับกับพนักงานที่เข้าทำงานอยู่ก่อนวันที่ 30 พฤษภาคม 2526’ เมื่อปรากฏว่าโจทก์เข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2509 ข้อบังคับนี้จึงไม่มีผลใช้บังคับแก่โจทก์
การที่จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2527 ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2527 ระบุยกเว้นมิให้ถือว่าค่าครองชีพเป็นค่าจ้างด้วยนั้นถือได้ว่าเป็นการแก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย และข้อบังคับใหม่ก็ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างข้อบังคับในส่วนนี้จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๐๙ จำเลยจ้างโจทก์ทั้ง ๑๑ คน เป็นลูกจ้างประจำ ต่อมา วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๘ จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุเกษียณอายุ โดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมาย นอกจากนี้ยังจ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ที่ ๔ ถึง ๑๑ ไม่ถูกต้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ทั้ง ๑๑ คน และชำระเงินบำเหน็จส่วนที่ขาดให้โจทก์ที่ ๔ ถึง ๑๑ ด้วย
จำเลยให้การว่าจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ทั้ง ๑๑ คนและได้จ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ที่ ๔ ถึง ๑๑ ถูกต้องแล้ว
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ทั้ง ๑๑ คน และจ่ายเงินบำเหน็จที่ขาดให้โจทก์ที่ ๔ ถึง ๑๑
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อบังคับโรงงานน้ำตาลกรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่าด้วย กองทุนบำเหน็จ พ.ศ. ๒๕๒๗ มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจ่าย แตกต่างจากค่าชดเชย ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๖ เพราะประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวบังคับให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง แต่ตามข้อบังคับของจำเลยข้อ ๑๐ นั้น แม้กรณีที่พนักงานตาย หรือลาออกก็มีสิทธิได้รับบำเหน็จ ถือได้ว่าเงินบำเหน็จเป็นเงินประเภทอื่น ซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง แม้ข้อบังคับของจำเลยข้อ ๑๒ วรรคแรก จะระบุว่า ‘พนักงานที่ออกจากงานโดยมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานแล้ว ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามข้อบังคับนี้ แต่ถ้าค่าชดเชยที่มีสิทธิได้รับนั้น ต่ำกว่าเงินบำเหน็จที่จะได้รับตามข้อบังคับนี้ ก็ให้จ่ายเพิ่มให้เท่าจำนวนที่ต่ำกว่านั้น’ ก็ตาม แต่ความในวรรคสองก็ระบุว่า ‘ความในวรรคแรกมิให้ใช้บังคับกับพนักงานที่เข้าทำงานอยู่ก่อนวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๒๖ เมื่อปรากฏว่าโจทก์ทั้ง ๑๑ คนเข้าทำงานตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๐๙ ฉะนั้น ข้อบังคับนี้จึงไม่มีผลใช้บังคับแก่โจทก์
ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยจะต้องนำค่าครองชีพมาเป็นฐานในการคำนวณเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์ที่ ๔ ถึง ๑๑ ด้วยหรือไม่นั้นปรากฏว่าจำเลยได้แก้ไขข้อบังคับฉบับใหม่ระบุยกเว้นมิให้ถือว่าค่าครองชีพเป็นค่าจ้าง การที่จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. ๒๕๒๗ ลงวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๒๗ ดังกล่าวซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายและข้อบังคับใหม่ก็ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง ข้อบังคับของจำเลยในส่วนนี้จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ที่ ๔ ถึง ๑๑

Share