แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
น. ขับรถบรรทุกของโจทก์ผู้เป็นนายจ้างบรรทุกลัง คอนเทนเนอร์ของบริษัท ช. ซึ่งรวมกับความสูงของรถบรรทุกแล้ว สูง 4.90 เมตรมาตามถนนราชปรารภมุ่งหน้าไปรังสิต เมื่อจะลอดใต้ สะพานลอยสำหรับให้คนข้ามถนนที่จำเลยสร้างขึ้นและติดป้ายแสดงความสูงว่า 5 เมตรแต่ความจริงส่วนที่ใกล้เกาะกลางถนนมีความสูงจากพื้นถนน 4.90 เมตรน. ให้ ท. คนท้ายรถลงจากรถไปคอยดู ว่ารถจะแล่นลอดใต้ สะพานไปได้หรือไม่ แล้ว น. ขับรถไปช้า ๆ ตามคำสั่งของ ท.เมื่อท.บอกให้หยุด น. ได้เหยียบห้ามล้อหยุดรถทันที แต่แรงเฉื่อย ของสินค้าที่บรรทุกหนักทำให้รถแล่นไปอีกและส่วนสูงสุดของสินค้าเฉี่ยว ชนคานสะพานลอยสินค้าที่โจทก์รับจ้างบรรทุกมาเสียหาย การกระทำดังกล่าวเป็นการใช้ความระมัดระวังแล้ว การที่จำเลยได้ทำการเสริมถนนให้เป็นหลังเต่า สูงขึ้นกว่าเดิม เพื่อป้องกันน้ำท่วมทำให้ความสูงของสะพานลอยน้อยกว่า 5 เมตร และจำเลยไม่ได้เปลี่ยนป้ายบอกความสูงของสะพานที่เกิดเหตุให้ตรงกับความเป็นจริง ทำให้ น. เชื่อ ว่าสะพานนั้นมีความสูง 5 เมตร ตามที่ปิดป้ายบอกไว้เช่น สะพานลอย6 สะพานที่ น. ขับลอด ผ่านมาแล้ว การกระทำของจำเลยเป็นการประมาทเลินเล่อจำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ผู้รับช่วงสิทธิจากบริษัท ช. การที่ น. มิได้ขับรถในช่องทางเดินรถด้านซ้าย ซึ่งติดกับขอบทางเท้าแต่ขับคร่อมเส้นแบ่งครึ่งช่องทางเดินรถช่องซ้าย และช่องขวาและบรรทุกสินค้าสูงกว่า 3 เมตร จากพื้นถนนโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานจราจร อันเป็นการฝ่าฝืนกฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 4(พ.ศ. 2522) ข้อ 1(3) ซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ. จราจรทางบกพ.ศ. 2522 จนเป็นเหตุให้เกิดชนคานใต้ สะพานลอยนั้นเป็นเพียงความผิดตาม พ.ร.บ. จราจรทางบกซึ่งมิได้เป็นผลโดยตรงที่ก่อให้เกิดการละเมิดดังกล่าว และรถบรรทุกสิ่งของอาจจะบรรทุกสิ่งของสูงเกินกว่า 3 เมตรได้หากได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ การที่โจทก์ใช้รถบรรทุกคอนเทนเนอร์สูงเกินกว่า 3 เมตร จึงมิได้เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามของกฎหมายที่บัญญัติห้ามโดยเด็ดขาด โจทก์จึงมิได้ประมาทเลินเล่อแต่อย่างใด.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนวิศวกรรมจราจร จัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ฯลฯ ได้ก่อสร้างสะพานลอยสำหรับประชาชนใช้เดินทางข้ามถนนซึ่งจำเลยต้องประกาศว่าระดับความสูงของสะพานลอยมีความสูงจากผิวจราจรเท่าใด เพื่อป้องกันมิให้เกิดอันตรายแก่ประชาชนหรือผู้ขนส่งของที่มีความสูงแต่สะพานลอยสำหรับคนเดินข้ามถนนที่ถนนราชปรารถ จำเลยได้เขียนป้ายประกาศแจ้งความสูงของสะพานไว้ว่าสูง 5 เมตร ทั้ง ๆที่มีความสูงจริงไม่ถึง 5 เมตร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2524 เวลากลางวันโจทก์ได้บรรทุกสินค้า โดยรถยนต์บรรทุกจากท่าเรือคลอยเตยจะไปส่งยังตำบลรังสิต โจทก์ได้วัดความสูงของรถรวมทั้งสินค้าที่บรรทุกแล้วมีความสูงไม่เกิน 5 เมตร เมื่อลูกจ้างของโจทก์ขับรถบรรทุกสินค้ามาถึงบริเวณสะพานลอยดังกล่าว ลูกจ้างของโจทก์เห็นป้ายบอกความสูงซึ่งจำเลยเขียนแสดงไว้ว่าสูงถึง 5 เมตร จึงเชื่อโดยสุจริตและขับรถลอดไป แต่ปรากฏว่าลอดไม่ได้เป็นเหตุให้สินค้าที่บรรทุกมาคือ เครื่องอุปกรณ์ไฮโดรลิก และเครื่องปั่นไฮโดรลิกของเครื่องพับเหล็กไฮโดรลิกจากต่างประเทศได้รับความเสียหาย ซึ่งโจทก์ได้ชำระค่าเสียหายให้แก่เจ้าของสินค้าไปแล้วเป็นเงิน 40,000 บาทการที่จำเลยปล่อยปละละเลยไม่ตรวจวัดความสูงของสะพานว่ามีเท่าใดแน่อันเป็นความประมาทเลินเล่อ ทั้งยังเขียนป้ายบอกความสูงอันเป็นเท็จทำให้โจทก์ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของสินค้าดังกล่าวจำเลยต้องชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 43,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากต้นเงิน 40,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า เดิมจำเลยก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามถนนราชปรารถ โดยมีความสูงเกินกว่า 5 เมตร ต่อมาเกิดน้ำท่วมจึงได้เสริมพื้นถนนให้สูงขึ้นเป็นเหตุให้ความสูงของสะพานลอยดังกล่าวบางจุดสูงไม่ถึง 5 เมตร การที่รถยนต์บรรทุกสินค้าของโจทก์เกิดอุบัติเหตุชนสะพานลอยเป็นความประมาทเลินเล่อของลูกจ้างโจทก์เองเพราะบรรทุกสินค้าซึ่งเมื่อวัดรวมกับตัวรถแล้วมีความสูงเกินกว่า3 เมตรจากพื้นผิวถนนอันเป็นการฝ่าฝืนกฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 4(พ.ศ. 2522) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522ข้อ 1(3) โดยลูกจ้างของโจทก์ได้ขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวแล่นมาด้วยความเร็วสูงเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และไม่ชะลอความเร็วของรถลงเพื่อตรวจดูความปลอดภัยที่เบื้องหน้าเสียก่อนเมื่อถึงสะพานลอยว่าจะสามารถขับรถลอดผ่านไปด้วยความปลอดภัยได้หรือไม่แต่กลับขับรถไปตามช่องทางเดินรถด้านขวาอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติจราจรทางบกมาตรา 35 เป็นเหตุให้รถบรรทุกที่ลูกจ้างโจทก์ขับรถชนสะพานลอย การที่ลูกจ้างของโจทก์กระทำละเมิดต่อจำเลยในขณะที่ปฏิบัติงานในทางการที่จ้างทำให้จำเลยได้รับความเสียหายโจทก์ในฐานะนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างของโจทก์ชดใช้ค่าเสียหายในการซ่อมแซมสะพานลอยให้แก่จำเลย ขอให้พิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ชำระเงินค่าเสียหายจำนวน 8,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2524 ซึ่งเป็นวันทำละเมิดจนถึงวันฟ้องแย้งเป็นเงิน 650 บาท และนับจากวันถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจากต้นเงิน 8,000 บาท จนกว่าโจทก์จะชำระเงินเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งจำเลยว่า ความสูงของสะพานลอยโดยแท้จริงแล้วไม่ถึง 5 เมตร ลูกจ้างของโจทก์ขับรถด้วยความระมัดระวังตลอดทางมิได้ทำผิดกฎหมายและมิได้ประมาทเลินเล่อแต่อย่างใด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน43,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน40,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท ฟ้องแย้งของจำเลยให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฏีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์จำเลยนำสืบรับฟังได้ต้องกันว่าเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2524 รถบรรทุกสินค้าของโจทก์คันหมายเลขทะเบียน ก.ท.70-1843 ซึ่งบรรทุกลังคอนเทนเนอร์บรรจุเครื่องอุปกรณ์ไฮโดรลิกและเครื่องปั่นไฮโดรลิกของเครื่องพับเหล็กไฮโดรลิกจากท่าเรือคลองเตยเพื่อไปส่งให้บริษัทชาญนครวิศวกรรมจำกัดที่ตำบลรังสิตได้แล่นลอดใต้สะพานลอยสำหรับคนข้ามถนนราชปรารถบริเวณประตูน้ำ แต่ส่วนสูงของลังคอนเทนเนอร์เฉี่ยวชนใต้สะพานลอยเป็นเหตุให้สินค้าที่บรรจุอยู่ในคอนเทนเนอร์ได้รับความเสียหาย และในการเดินเผชิญสืบสะพานลอยที่เกิดเหตุของศาลได้ความว่าสะพานลอยที่เกิดเหตุมีป้ายบอกความสูงไว้ว่า 5 เมตร จุดชนใต้สะพานลอยซึ่งอยู่ติดกับป้ายบอกความสูงของสะพานอยู่ในช่องทางเดินรถขวามือใกล้เกาะกลางถนน วัดความสูงจากพื้นดินถึงคานสะดานได้ 4.90 เมตรและวัดความสูงจากพื้นถนนในช่องทางเดินรถด้านซ้ายมือห่างริมถนนครึ่งเมตรได้ความสูงประมาณ 5.04 หรือ 5.05 เมตร และวัดความสูงจากผิวถนนตรงกลางช่องทางเดินรถซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างช่องทางเดินรถด้านซ้ายกับด้านขวาสูง 4.90 เมตร ถนนเกิดเหตุไม่มีเส้นแบ่งช่องทางเดินรถสำหรับรถประจำทางโดยเฉพาะ มีปัญหาว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อ โจทก์มีนายหนูโพธิ์ เกนด่านพนักงานขับรถบรรทุกของโจทก์วันเกิดเหตุ นายทวน โพธิบัลลังก์ และนายขันทอง มาเบิกความรับฟังได้ว่านายหนูโพธิ์ได้รับรถออกจากท่าเรือคลองเตยตามหลังรถเทรลเลอร์ซึ่งวิ่งนำหน้า 2 คัน มาตามถนนสุนทรโกษาเลี้ยวเข้าถนนพระราม 4 และมาเลี้ยวขวาเข้าถนนราชดำริรถได้ลอดใต้สะพานลอย 6 แห่งแต่ละสะพานเขียนป้ายความสูงไว้ 5.00 เมตรรถแล่นผ่านไปได้ เมื่อมาถึงสะพานเกิดเหตุถนนไม่สม่ำเสมอด้านซ้ายต่ำมีร่องน้ำปรากฏตามภาพถ่ายหมาย จ.1 ส่วนด้านขวาสูง ก่อนนายหนูโพธิ์ขับรถลอดใต้สะพานซึ่งมีป้ายบอกความสูงไว้ 5 เมตร ได้แหงนมองดูใต้สะพานเห็นมีรอยถูกชน 2 แห่ง เป็นรอยปูนกะเทาะปรากฏตามภาพถ่ายหมาย จ.1 รถเทรลเลอร์ 2 คันแรกผ่านไปได้ นายหนูโพธิ์ได้ให้นายทวนลงจากรถไปดูว่ารถจะแล่นลอดผ่านไปได้หรือไม่ ซึ่งได้กระทำการตรวจทุกครั้งที่มีการแล่นผ่านลอดสะพาน นายทวนลงไปดูแล้วเห็นใต้สะพานมีรอยถูกชนและผิวถนนที่เกิดเหตุโค้งเป็นหลังเต่าด้านซ้ายต่ำเป็นร่องน้ำด้านขวาสูงขึ้นไป ขณะนั้นรถโจทก์ล้อขวาทับเส้นแบ่งช่องเดินรถซึ่งแบ่งถนนเป็น 2 ช่อง รถโจทก์คร่อมเส้นแบ่งเพราะด้านซ้ายเป็นร่องน้ำชิดซ้ายไม่ได้ แต่ล้อซ้ายอยู่ห่างทางเดินเท้าด้านซ้าย 1 เมตร นายทวนได้ให้สัญญาณนายหนูโพธิ์ว่าค่อยไปแต่เมื่อบอกให้หยุด นายหนูโพธิ์ก็ห้ามล้อหยุดทันที แต่รถก็เลื่อนไปชนสะพานโดยส่วนสูงของสินค้าได้เฉี่ยวชนติดกับส่วนใต้ของสะพานลอยนายหนูโพธิ์จึงให้ปล่อยลมยางรถยนต์ทุกล้อ รถจึงลอดใต้สะพานที่เกิดเหตุไปได้ พิเคราะห์คำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวแล้วน่าเชื่อว่าขณะนายหนูโพธิ์ขับรถจะลอดสะพานลอยที่เกิดเหตุ ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้วกล่าวคือได้ให้นายทวนลงจากรถไปคอยดูว่ารถจะแล่นลอดใต้สะพานลอยไปได้หรือไม่และในขณะแล่นจะลอดใต้สะพานก็ขับรถไปช้า ๆ ตามคำสั่งของนายทวน เมื่อนายทวนบอกให้หยุดก็เหยียบห้ามล้อหยุดทันที ปรากฏตามคำเบิกความของนายศรีศักดิ์สุวรรณโชติ ผู้ควบคุมการก่อสร้างของโจทก์และจบการศึกษาเป็นช่างก่อสร้างจากโรงเรียนอุเทนถวายพยานโจทก์ซึ่งไปตรวจสะพานที่เกิดเหตุ ว่าความเสียหายไม่กระทบกระเทือนส่วนอื่นหรือโครงสร้างของตัวสะพาน นายแสงตะวัน พลานันทกุลธร หัวหน้างานปรับปรุงและบูรณะสะพาน กองก่อสร้างและบูรณะ สำนักการโยธากรุงเทพมหานคร พยานจำเลยซึ่งจบวิศวกรรมศาสตร์สาขาวิศวกรรมโยธาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ไปตรวจความเสียหายของสะพานภายหลังโจทก์ฟ้องคดีนี้ก็มิได้เบิกความโต้แย้งคัดค้านพยานของโจทก์ดังกล่าวมาแล้วแต่อย่างใด หากรถโจทก์ไม่ได้ขับโดยระมัดระวังและแล่นมาด้วยความเร็วปกติแล้วย่อมเชื่อได้ว่าตรงจุดชนของสะพานจะต้องเสียหายถึงกับโครงสร้างของสะพานกระทบกระเทือนไม่อาจให้ประชาชนใช้เดินผ่านสัญจรไปมาได้ ซึ่งนายแสงตะวันยอมรับว่าขณะเบิกความยังไม่มีการซ่อมสะพานที่เกิดเหตุแต่อย่างใด แสดงว่าสะพานที่เกิดเหตุยังใช้สัญจรไปมาได้ การที่จำเลยได้มีการเสริมถนนให้เป็นหลังเต่าสูงขึ้นกว่าเดิมเพื่อป้องกันน้ำท่วมทำให้ความสูงของสะพานลอยสูงน้อยกว่า5 เมตร และจำเลยไม่ได้เปลี่ยนปล้ายบอกความสูงของสะพานที่เกิดเหตุตามความเป็นจริงตามคำเบิกความของนายแสงตะวันทำให้นายหนูโพธิ์เชื่อว่าสะพานที่เกิดเหตุมีความสูง 5 เมตร ตามที่ปิดป้ายบอกไว้เช่นสะพานลอยอื่น ๆ ที่นายหนูโพธิ์ขับลอดผ่านมาแล้ว และขับรถบรรทุกคอนเทนเนอร์ที่วัดจากผิวถนนถึงส่วนสูงของคอนเทนเนอร์สูง 4.90 เมตรเพื่อผ่านไปโดยการใช้ความระมัดแล้วแต่ไม่สามารถผ่านไปได้ เพราะสินค้าบนรถเฉี่ยวชนสะพานลอย ดังนี้ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการประมาทเลินเล่อแล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ที่จำเลยอ้างว่านายหนูโพธิ์มิได้ขับรถในช่องทางเดินรถด้านซ้ายซึ่งติดกับของทางเท้า หากแต่ขับคร่อมเส้นแบ่งครึ่งช่องทางเดินรถช่องซ้ายและช่องขวาเพราะช่องทางเดินรถช่องนี้ได้จัดไว้สำหรับรถบรรทุก หรือรถที่มีความเร็วช้าและการที่โจทก์บรรทุกสินค้าสูงกว่า 3 เมตร จากพื้นถนนโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานจราจรอันเป็นการฝ่าฝืนกฎกระทรวงมหาดไทยฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2522) ข้อ 1(3) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายขึ้นแน่ ย่อมถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 422 นั้น เห็นว่ารถบรรทุกของโจทก์เป็นรถที่มีความกว้างแม้จะขับชิดซ้ายให้ทางด้านซ้ายของตัวรถลอดผ่านได้ แต่ส่วนด้านขวาซึ่งล้อรถอยู่บนผิวจราจรที่เป็นหลังเต่า และสูงวัดถึงใต้สะพาน4.90 เมตร ก็ไม่อาจแล่นผ่านลอดไปได้ ส่วนที่โจทก์ขับรถบรรทุกสิ่งของสูงเกินกว่า 3 เมตร โดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นเป็นเพียงความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกซึ่งมิได้เป็นผลโดยตรงที่ก่อให้เกิดการละเมิดในคดีนี้ และรถบรรทุกสิ่งของอาจจะบรรทุกสิ่งของสูงเกินกว่า 3 เมตรได้หากได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วการที่โจทก์ใช้รถบรรทุกคอนเทนเนอร์สูงเกินกว่า 3 เมตร จึงมิได้เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามของกฎหมายที่บัญญัติห้ามโดยเด็ดขาด ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่าโจทก์มิได้ประมาทเลินเล่อนแต่อย่างใดข้ออ้างของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.