คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2289/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์เป็นเวลา 3 เดือน เมื่อครบกำหนดตามสัญญาจำเลยไม่เลิกจ้างโจทก์ แต่ลดค่าจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ทำให้ยอดการขายตก ดังนี้ เมื่อโจทก์ไม่ได้ตกลงด้วยจำเลยก็หาอาจลดค่าจ้างโจทก์ได้ไม่เพราะการที่โจทก์ทำให้ยอดการขายตกลงนั้นเป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องว่ากล่าวกับโจทก์อีกส่วนหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำโดยจำเลยตกลงจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์เดือนละ 15,000 บาท แล้วจำเลยลดค่าจ้างลงเหลือเดือนละ 5,000 บาท โดยให้โจทก์ทำงานในตำแหน่งเดิมซึ่งจำเลยไม่มีอำนาจกระทำได้ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์เดือนละ 15,000 บาท

จำเลยให้การว่า จำเลยกับโจทก์มีสัญญาจ้างกันโดยกำหนดจำนวนขายไว้ 500 หน่วยภายใน 3 เดือน โจทก์ทำจำนวนขายไม่ได้ตามที่ตกลงกันไว้จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์เดือนละ15,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2525 เป็นต้นไป

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์โดยจะจ่ายค่าจ้างให้โจทก์เดือนละ 15,000 บาท สัญญาจ้างมีอายุ 3 เดือนครบกำหนดตามสัญญาจำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ แต่กลับลดค่าจ้างโจทก์เหลือเดือนละ 5,000 บาท โดยอ้างว่าโจทก์ทำให้ยอดการขายตก กรณีจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 581 ว่า คู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาจ้างกันใหม่โดยความอย่างเดียวกันกับสัญญาเดิมซึ่งหมายความว่าเงื่อนไขต่าง ๆ ต้องเป็นไปตามสัญญาเดิม จำเลยจะลดค่าจ้างโจทก์ไม่ได้ ส่วนการที่โจทก์ทำให้ยอดการขายตก จำเลยจะต้องว่ากล่าวเอากับโจทก์อีกส่วนหนึ่ง จะกระทำโดยวิธีลดค่าจ้างโดยโจทก์ไม่ได้ตกลงด้วยหาได้ไม่

พิพากษายืน

Share