คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2286/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

มติคณะรัฐมนตรีในเรื่องการยุติการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2540 และวันที่ 4 พฤศจิกายน 2540 ไม่ใช่กฎหมายที่จะตัดอำนาจฟ้องของผู้ถูกโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายแพ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า โจทก์เห็นว่าตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ไม่ใช่สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 5 และถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลที่ใช้ในกิจการของรัฐบาลหรือใช้ในกิจการสาธารณะซึ่งมีไว้เพื่อประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ย่อมได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำชี้ขาด ถือว่าเป็นการฟ้องร้องว่า ตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ไม่ใช่กรณีที่โจทก์เห็นว่าจำนวนเงินที่ประเมินและตามคำชี้ขาดสูงเกินสมควร โจทก์จึงไม่ต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาลดหย่อนค่ารายปีตามมาตรา 31 วรรคท้าย และคำชี้ขาดดังกล่าวยังไม่เด็ดขาดโจทก์มีอำนาจฟ้อง
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 5 บัญญัตินิยามของคำว่าโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ให้กินความถึงแพด้วยเท่านั้น มิได้กำหนดหมายไว้โดยเฉพาะ เมื่อตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์มีลักษณะเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างหนึ่ง แม้จะวางอยู่บนแท่นคอนกรีตและสามารถยกเคลื่อนย้ายได้ไม่ยากเพราะไม่ได้เชื่อมติดกับทางสาธารณะหรือพื้นดินเป็นการถาวรและไม่มีลักษณะเป็นส่วนควบกับที่ดิน ทั้งไม่มีลักษณะเป็นสิ่งปลูกสร้างที่เข้าอยู่อาศัยได้หรือใช้เป็นที่ไว้สินค้า แต่ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ก็มิได้กำหนดให้จัดเก็บภาษีเฉพาะสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะติดอยู่กับที่ดินเป็นการถาวรหรือเป็นส่วนควบกับที่ดินเท่านั้นและในขณะที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินภาษี ตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ก็มิได้มีการเคลื่อนย้ายแต่ได้ใช้คุ้มครองป้องกันมิให้เครื่องโทรศัพท์เสียหาย และให้บริการประชาชนผู้ใช้โทรศัพท์ให้มีความปลอดภัย สะดวกสบาย จึงเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประกอบกิจการก่อให้เกิดประโยชน์และรายได้แก่โจทก์และถือเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นตามมาตรา 5
บริษัทโจทก์มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจและกฎหมายมิได้บัญญัติให้ยกเว้นภาษีดังเช่นทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ใช้ในกิจการรถไฟโดยตรง ตู้โทรศัพท์สาธารณะซึ่งเป็นทรัพย์สินของโจทก์จึงไม่ได้รับการยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 9 (2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีกระทรวงการคลังถือหุ้นทั้งหมดเพียงผู้เดียว เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นายธีรวิทย์กรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ได้มอบอำนาจให้นายสาโรจน์ผู้จัดการส่วนกฎหมายที่ 4 ภาคบริการภูมิภาคที่ 4 ดำเนินคดีแทน และให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงให้บุคคลอื่นกระทำการแทนได้ นายสาโรจน์มอบอำนาจช่วงให้นายอานนท์ดำเนินคดีนี้ เดิมโจทก์ชื่อว่า “องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย” เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดดำเนินการและนำมาซึ่งความเจริญของกิจการโทรศัพท์เพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน และดำเนินธุรกิจอันเกี่ยวกับกิจการโทรศัพท์และโทรศัพท์สาธารณะ ตลอดจนธุรกิจอื่นที่ต่อเนื่องใกล้เคียงกันหรือที่เป็นประโยชน์แก่กิจการโทรศัพท์อันเป็นกิจการสาธารณูปโภคและหรือสาธารณูปโภคของรัฐบาล มีอำนาจให้บริการต่างๆ เกี่ยวกับโทรศัพท์ในเรื่องเครื่องโทรศัพท์พื้นฐาน โทรศัพท์สาธารณะ อุปกรณ์เครื่องใช้ รายได้ที่ได้รับในปีหนึ่งๆ เมื่อได้หักค่าใช้จ่ายสำหรับดำเนินกิจการค่าภาระต่างๆ ที่เหมาะสมแล้ว เหลือเท่าใดต้องนำส่งเป็นรายได้ของรัฐ กิจการโทรศัพท์สาธารณะจึงเป็นกิจการของรัฐบาล ตามพระราชบัญญัติโทรเลขและโทรศัพท์ พ.ศ.2477 มาตรา 5 ประกอบพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2497 มาตรา 11 และ 16 ปี 2545 โจทก์ถูกจัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีโดยให้แปลงสภาพ “ทุน” ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยมาเป็น “หุ้น” ในรูปแบบบริษัทมหาชนจำกัด แต่ยังคงมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ และให้โจทก์รับไปซึ่งกิจการ สิทธิ หน้าที่ หนี้ ความรับผิด และกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทั้งหมด ตลอดจนกิจการโทรศัพท์สาธารณะขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย โดยตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติรองรับให้โจทก์ยังคงมีอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ตามที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเคยมีอยู่ตามกฎหมายจัดตั้งองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยและตามกฎหมายอื่นให้ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป ต่อมาโจทก์จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อจาก “บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)” เป็น “บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน)” โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตู้โทรศัพท์สาธารณะและเครื่องโทรศัพท์สาธารณะที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้งในเขตเทศบาลเมืองสุราษฎร์ธานี เครื่องโทรศัพท์สาธารณะที่โจทก์ให้บริการแก่ประชาชนมีอยู่ 3 ชนิด คือ แบบใช้การ์ดหรือบัตรโทรศัพท์ แบบหยอดเหรียญ และแบบใช้การ์ดหรือบัตรโทรศัพท์และหยอดเหรียญ ซึ่งเครื่องโทรศัพท์สาธารณะนี้ติดตั้งไว้ในอาคารที่สามารถให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปได้หรืออาจติดตั้งนอกอาคารก็ได้ การติดตั้งเครื่องโทรศัพท์สาธารณะนอกอาคารโจทก์จะมีตู้โทรศัพท์สาธารณะเอาไว้เพื่อความสะดวกปลอดภัยแก่ประชาชนในการเข้าไปใช้บริการโทรศัพท์สาธารณะ โดยตู้โทรศัพท์สาธารณะดังกล่าวมีลักษณะเป็นตู้กระจกใสขอบอะลูมิเนียมสี่เหลี่ยมทรงสูงส่วนบนปิดทึบ ภายในตู้มีกล่องเหล็กสำหรับติดเครื่องโทรศัพท์สาธารณะ ขาตู้กระจกทั้งสี่ขาถูกยึดด้วยนอตติดบนแท่นคอนกรีตสี่เหลี่ยมหนาสำเร็จรูป แท่นคอนกรีตนี้บางแท่นวางอยู่บนทางเท้าหรือพื้นดินโดยไม่ได้ใช้ปูนซิเมนต์ฉาบรอบขอบฐานแท่นคอนกรีตติดทางเท้าหรือพื้นดิน บางแท่นวางอยู่บนทางเท้าหรือพื้นดินโดยใช้ปูนซีเมนต์ฉาบบางๆ รอบขอบฐานแท่นคอนกรีตเพื่อป้องกันมิให้ฝุ่นละอองสะสมใต้ฐานหรือก่อให้เกิดความสกปรกแก่ทางเท้าหรือพื้นถนน ตู้โทรศัพท์สาธารณะดังกล่าวสามารถเคลื่อนย้ายได้ง่ายโดยการยกตู้โทรศัพท์สาธารณะพร้อมแท่นคอนกรีตไปได้โดยไม่เสียรูปทรง สำหรับตู้โทรศัพท์สาธารณะที่มีแท่นคอนกรีตฉาบด้วยปูนซีเมนต์บางๆ รอบฐานดังกล่าวก็เพียงกะเทาะเอาปูนซีเมนต์ที่ฉาบบางๆ ออกก็สามารถยกเคลื่อนย้ายตู้โทรศัพท์สาธารณะพร้อมแท่นคอนกรีตสำเร็จรูปจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้โดยง่ายไม่เสียรูปทรงเช่นกัน แม้ไม่มีแท่นคอนกรีตสี่เหลี่ยมหนาที่ฐานตู้โทรศัพท์สาธารณะก็สามารถตั้งอยู่บนพื้นดินหรือทางเท้าได้แต่ไม่สวยงาม วันที่ 6 กรกฎาคม 2548 พนักงานเก็บภาษีของจำเลยแจ้งรายการประเมินค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ทั่วเทศบาลเมืองสุราษฎร์ธานี ประจำปีภาษี 2547 (ที่ถูกคือ 2548) โดยประเมินค่ารายปี 547,200 บาท (จำนวน 272 ตู้) พร้อมแจ้งให้โจทก์ชำระค่าภาษีเป็นเงิน 68,400 บาท โจทก์จึงยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ วันที่ 2 สิงหาคม 2548 โจทก์ได้รับแจ้งคำชี้ขาดจากนายกเทศบาลเมืองสุราษฎร์ธานีว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของเทศบาลเมืองสุราษฎร์ธานีชี้ขาดยืนตามการประเมิน โจทก์ไม่เห็นด้วย กล่าวคือ การติดตั้งเครื่องโทรศัพท์สาธารณะเพื่อให้ประชาชนใช้บริการไม่จำเป็นต้องติดตั้งในตู้โทรศัพท์สาธารณะเสมอไป อาจทำเพียงติดตั้งในลักษณะแขวนไว้ที่เสาพร้อมติดแผงกันน้ำหรือแสงแดดเหนือเครื่องโทรศัพท์สาธารณะ การติดตั้งในรูปของตู้โทรศัพท์สาธารณะเป็นรูปแบบการให้บริการที่คำนึงถึงความสะดวกและความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้บริการ เพื่อลดเสียงรบกวนจากภายนอกและป้องกันการเกิดไฟฟ้าลัดวงจรโดยเฉพาะการใช้เครื่องโทรศัพท์สาธารณะในถดูฝน โจทก์ผู้ประกอบการต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นคือ ค่าทำตู้โทรศัพท์สาธารณะ ดังนั้น เมื่อพิจารณาตามสภาพของตู้โทรศัพท์สาธารณะแล้วไม่ควรตีความว่าเป็น “โรงเรือน” หรือ “สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น” เพราะเพียงรูปลักษณ์การก่อสร้างวัสดุในรูปโรงเรือนและไม่อาจตีความว่าตู้โทรศัพท์สาธารณะเป็น “ที่เก็บสินค้า” เพราะวัตถุประสงค์ของตู้โทรศัพท์สาธารณะมิใช่สร้างขึ้นมาเพื่อเก็บสินค้าของโจทก์ และเครื่องโทรศัพท์สาธารณะก็มิใช่สินค้าของโจทก์ ตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์เป็นสังหาริมทรัพย์เนื่องจากสามารถเคลื่อนย้ายจากที่แห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่งได้โดยง่ายและไม่เสียรูปทรง เมื่อคำว่าโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นตามกฎหมายมิได้หมายถึงสังหาริมทรัพย์ ตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์จึงไม่เข้าข่ายเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน อุปกรณ์หลักสำคัญที่ใช้ในการโทรศัพท์คือเครื่องโทรศัพท์สาธารณะไม่ใช่ตู้โทรศัพท์สาธารณะ หากมีเฉพาะเครื่องโทรศัพท์สาธารณะโดยไม่มีตู้โทรศัพท์สาธารณะประชาชนก็ใช้บริการได้ ตู้โทรศัพท์สาธารณะจึงไม่ใช่สาระสำคัญในการให้บริการโทรศัพท์สาธารณะ ตู้โทรศัพท์สาธารณะเป็นทรัพย์สินของโจทก์ซึ่งแปลงสภาพมาจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยและยังคงมีสถานะทางกฎหมายเช่นเดียวกับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจึงถือได้ว่าตู้โทรศัพท์สาธารณะและเครื่องโทรศัพท์สาธารณะดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลที่ใช้ในกิจการของรัฐบาลและกิจการสาธารณะซึ่งมีไว้เพื่อประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันย่อมได้รับการยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 9 ก่อนยื่นฟ้องคดีนี้โจทก์ได้ชำระค่าภาษีแก่จำเลยตามที่ถูกแจ้งการประเมินแล้ว ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินตามใบแจ้งรายการประเมิน (ภ.ร.ด.8) เล่มที่ 57 เลขที่ 85 ลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2548 และเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เทศบาลเมืองสุราษฎร์ธานีตามใบแจ้งคำชี้ขาด (ภ.ร.ด.11) เล่มที่ 1 เลขที่ 19 ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2548 ให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินแก่โจทก์จำนวน 68,400 บาท ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด หากไม่คืนภายในกำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันครบกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจถือเป็นหน่วยงานของรัฐ ในกรณีที่มีข้อพิพาททางแพ่งระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจกับจำเลยซึ่งเป็นราชการส่วนท้องถิ่น โจทก์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2540 และวันที่ 4 พฤศจิกายน 2540 ที่บังคับให้โจทก์ส่งเรื่องที่มีกรณีพิพาทกับจำเลยในคดีนี้ให้สำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินการส่งเรื่องให้คณะกรรมการชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาตัดสินชี้ขาดแล้วเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป แต่โจทก์ไม่ดำเนินการ และเมื่อโจทก์ผู้รับประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินเป็นรัฐวิสาหกิจ หากไม่พอใจคำชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ ต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำชี้ขาด และคำชี้ขาดของคณะรัฐมนตรีย่อมเป็นที่สุด ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 31 วรรคท้าย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และโจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้นางเยาวเรศยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่จึงถือว่าโจทก์ไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 25 และ 27 การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่จึงเป็นที่สุด โจทก์ไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 7 และ 8 นอกจากนี้ตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์เป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะสภาพการใช้ประโยชน์อย่างสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น และใช้ต่อเนื่องกับสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 5 และ 6 อีกทั้งทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 9 (2) หมายถึง ทรัพย์สินของรัฐบาลที่ใช้ในกิจการของรัฐบาลหรือสาธารณะ ไม่รวมถึงรัฐวิสาหกิจทรัพย์สินของโจทก์ใช้ในการประกอบกิจการก่อให้เกิดรายได้แก่โจทก์ย่อมไม่ได้รับการยกเว้นภาษี การประเมินและคำชี้ขาดการประเมินของจำเลยจึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลาง พิพากษาให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของจำเลยตามใบแจ้งรายการประเมิน ตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ2475 (ภ.ร.ด.8) เล่มที่ 57 เลขที่ 85 ลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2548 และใบแจ้งคำชี้ขาด ตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 (ภ.ร.ด.11) เล่มที่ 1 เลขที่ 19 ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2548 ให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีจำนวน 68,400 บาท ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด หากไม่คืนภายในกำหนดให้ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันครบกำหนด 3 เดือน จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่อุทธรณ์โต้แย้งฟังเป็นยุติว่า โจทก์มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์มีลักษณะตามภาพถ่ายหมาย จ.1 แผ่นที่ 33 จำเลยแจ้งรายการประเมินค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ทั่วเทศบาลเมืองสุราษฎร์ธานีประจำปีภาษี 2548 พร้อมแจ้งให้โจทก์ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินเป็นเงิน 68,400 บาท ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 26 ถึง 29 จากนั้นวันที่ 27 กรกฎาคม 2548 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 47 ถึง 54 และต่อมาโจทก์ได้รับแจ้งคำชี้ขาดจากนายกเทศมนตรีเมืองสุราษฎร์ภาษีว่าคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ชี้ขาดยืนตามการประเมิน ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 42 และ 43 ซึ่งโจทก์ได้ชำระภาษีตามการประเมินแล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกมีว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากไม่ได้มอบอำนาจให้นางเยาวเรศยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่หรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า กรณีไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้นางเยาวเรศผู้ลงลายมือชื่อในคำร้องกระทำการแทนหรือเป็นตัวแทนของโจทก์ในการยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า เมื่อศาลภาษีอากรกลางได้นั่งพิจารณาเพื่อฟังการตกลงยอมรับข้อเท็จจริงของคู่ความก่อนถึงวันนัดสืบพยานตามคำแถลงของทนายจำเลย ทนายจำเลยได้แถลงรับข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้มอบอำนาจให้นางเยาวเรศยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่จริง จึงขอสละประเด็นนี้ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 13 มีนาคม 2549 ถือว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว จึงเป็นอันยุติไปและไม่เป็นประเด็นที่ศาลภาษีอากรกลางต้องวินิจฉัยอีกต่อไป อุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นนี้จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในประการต่อไปมีว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีและกฎหมายหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2540 และวันที่ 4 พฤศจิกายน 2540 โดยต้องส่งเรื่องที่พิพาทกับจำเลยให้สำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินการและกรณีที่โจทก์ไม่พอใจคำชี้ขาดต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตีภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำชี้ขาด การที่โจทก์ไม่ดำเนินการถือว่าโจทก์ยอมรับคำชี้ขาดค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามคำชี้ขาดจึงเป็นจำนวนเด็ดขาดและถึงที่สุด ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 31 วรรคท้าย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า มติคณะรัฐมนตรีในเรื่องการยุติการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2540 และวันที่ 4 พฤศจิกายน 2540 ตามเอกสารท้ายคำร้องขอแก้ไขคำให้การ ไม่ใช่กฎหมายที่จะตัดอำนาจฟ้องของผู้ถูกโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายแพ่ง เมื่อตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่าถูกโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ส่วนปัญหาว่ากรณีที่โจทก์ไม่พอใจคำชี้ขาดต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 31 วรรคท้าย หรือไม่ นั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยกับการประเมินและคำชี้ขาด เพราะเป็นการประเมินและคำชี้ขาดโดยไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยโจทก์เห็นว่าตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ไม่ใช่สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 5 และถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลที่ใช้ในกิจการของรัฐบาลหรือใช้ในกิจการของรัฐบาลหรือใช้ในกิจการสาธารณะซึ่งมีไว้เพื่อประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ย่อมได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำชี้ขาด ถือว่าเป็นการฟ้องอ้างว่าตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ไม่ใช่กรณีที่โจทก์เห็นว่าจำนวนเงินที่ประเมินและตามคำชี้ขาดสูงเกินสมควรแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่ต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาลดหย่อนค่ารายปีตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 31 วรรคท้าย และคำชี้ขาดดังกล่าวยังไม่เด็ดขาดโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจตามอุทธรณ์ของจำเลยประการสุดท้ายมีว่า ตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามที่จำเลยประเมินหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า ตู้โทรศัพท์สาธารณะเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 5 และ 8 และตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ใช้ในการประกอบกิจการก่อให้เกิดรายได้แก่โจทก์และไม่ได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 9 (2) เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 5 บัญญัตินิยามของคำว่าโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ให้กินความถึงแพด้วยเท่านั้น โดยมิได้กำหนดความหมายไว้โดยเฉพาะ เมื่อพิจารณาลักษณะตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ตามภาพถ่ายหมาย จ.1 แผ่นที่ 33 แล้ว เห็นได้ว่า มีลักษณะเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างหนึ่ง แม้จะวางอยู่บนแท่นคอนกรีตและสามารถยกเคลื่อนย้ายได้ไม่ยากเพราะไม่ได้เชื่อมติดกับทางสาธารณะหรือพื้นดินเป็นการถาวรและไม่มีลักษณะเป็นส่วนควบกับที่ดิน ทั้งไม่มีลักษณะเป็นสิ่งปลูกสร้างที่เข้าอยู่อาศัยได้หรือใช้เป็นที่ไว้สินค้า แต่พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ก็มิได้กำหนดให้จัดเก็บภาษีเฉพาะสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะติดอยู่กับที่ดินเป็นการถาวรหรือเป็นส่วนควบกับที่ดินเท่านั้น และในขณะที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินภาษีนั้น ตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์มิได้มีการเคลื่อนย้ายแต่ได้ใช้คุ้มครองป้องกันมิให้เครื่องโทรศัพท์เสียหาย และให้บริการประชาชนผู้ใช้โทรศัพท์ให้มีความปลอดภัย สะดวกสบาย จึงเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประกอบกิจการก่อให้เกิดประโยชน์และรายได้แก่โจทก์และถือเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 5 ส่วนกรณีทรัพย์สินที่จะได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 (2) นั้น จะต้องเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลที่ใช้ในกิจการของรัฐบาลหรือสาธารณะ เมื่อโจทก์มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจและกฎหมายมิได้บัญญัติให้ยกเว้นภาษีดังเช่นทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ใช้ในการรถไฟโดยตรง ตู้โทรศัพท์สาธารณะซึ่งเป็นทรัพย์สินของโจทก์จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 9 (2) ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share