แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การฟ้องคดีส่วนจำเลยที่ 1 โจทก์ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 10 โจทก์กล่าวในฟ้องอ้างราคาทรัพย์หลักประกันซึ่งมีการตีราคาโดยเจ้าหนี้เดิมก่อนฟ้องคดีล้มละลายประมาณ 7 ปี เป็นเงิน 1,472,000 บาท ขณะเดียวกันก็ได้ความว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาทรัพย์หลักประกันดังกล่าวเมื่อโจทก์นำยึดห่างจากวันฟ้องคดีล้มละลายคดีนี้ประมาณ 4 เดือน เป็นเงิน 1,950,750 บาท โดยโจทก์รับรองว่าถูกต้องและเห็นชอบด้วย จึงน่าเชื่อว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นราคาทรัพย์หลักประกันขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีล้มละลาย และเมื่อนำราคาหลักประกันดังกล่าวมาหักกับหนี้โจทก์ที่คงค้าง 2,706,332.85 บาท จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ไม่ถึง 1,000,000 บาท โจทก์ไม่อาจนำมูลหนี้ส่วนนี้มาฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีล้มละลายได้
การนำสืบข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่นั้น โจทก์อาจจะนำสืบถึงทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดของจำเลยที่ 2 ที่แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน หรืออาจจะนำสืบถึงข้อเท็จจริงอันใดอันหนึ่งตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 8 อันเป็นข้อสันนิษฐานว่า จำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัว ทั้งนี้การพิจารณาถึงฐานะหรือข้อเท็จจริงอันเป็นข้อสันนิษฐานนั้นจะต้องปรากฏว่าเป็นข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วในเวลาที่โจทก์ฟ้องคดีล้มละลาย คดีนี้โจทก์นำสืบถึงมูลหนี้ของโจทก์และการดำเนินการของโจทก์เท่านั้น มิได้แสดงให้เห็นถึงทรัพย์สินและหนี้สินของจำเลยที่ 2 จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัว ส่วนที่โจทก์อ้างข้อสันนิษฐานตามมาตรา 8 (9) นั้น การทวงถามให้ชำระหนี้ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะต้องเป็นการทวงถามในมูลหนี้ตามคำพิพากษาคดีแพ่งที่โจทก์นำมาฟ้องให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย คดีนี้มีการทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาเพียงครั้งเดียว การทวงถามบอกกล่าวบังคับจำนองในมูลหนี้ก่อนที่จะฟ้องคดีแพ่งหาใช่เป็นการทวงถามให้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาที่โจทก์นำมาฟ้องคดีล้มละลายไม่ส่วนที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์ได้สืบหาทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 แล้ว ไม่มีทรัพย์สินอย่างอื่นใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้นั้น โจทก์ดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ภายหลังจากที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีล้มละลายแล้ว จึงหาใช่ข้อเท็จจริงที่มีอยู่แล้วในเวลาเริ่มต้นการฟ้องคดีล้มละลายไม่ กรณีจึงไม่ต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาฟังมิได้ว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “…คดีนี้ปรากฏว่าโจทก์มีเพียงทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ที่จำนองไว้เป็นประกันหนี้ โจทก์จึงมีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันเฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 1 เท่านั้น การฟ้องคดีส่วนจำเลยที่ 1 โจทก์จึงต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 10 ซึ่งบัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 9 เจ้าหนี้มีประกันจะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ… (2) กล่าวในฟ้องว่า ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้วจะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย หรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องซึ่งเมื่อหักกับจำนวนหนี้ของตนแล้วเงินยังขาดอยู่สำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 2,000,000 บาท ตามบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้เจ้าหนี้มีประกันซึ่งจะยื่นฟ้องคดีล้มละลายตีราคาหลักประกันมาในคำฟ้องเพื่อจะได้ทราบว่าทรัพย์หลักประกันที่นำมาฟ้องนั้นมีมูลค่าเท่าใด คดีนี้จำเลยที่ 1 ให้การโต้แย้งว่า การตีราคาทรัพย์หลักประกันของโจทก์ไม่ชอบ จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าทรัพย์หลักประกันมีราคาเพียงใด ปรากฏว่าโจทก์กล่าวในฟ้องอ้างราคาทรัพย์หลักประกันซึ่งได้ประเมินโดยธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้เดิมผู้รับจำนอง เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2542 เป็นเงิน 1,472,000 บาท ซึ่งราคาทรัพย์หลักประกันดังกล่าวมีการตีราคาก่อนที่จะฟ้องคดีล้มละลายประมาณ 7 ปี ขณะเดียวกันก็ได้ความว่า ในการที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2549 เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาทรัพย์หลักประกันเป็นเงินรวม 1,950,750 บาท โดยโจทก์รับรองว่าถูกต้องและเห็นชอบด้วย ปรากฏอีกว่าราคาประเมินในขณะที่มีการยึดทรัพย์ออกขายทอดตลาดห่างจากวันฟ้องคดีล้มละลายคดีนี้ประมาณ 4 เดือน จึงน่าเชื่อว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่โจทก์เห็นชอบด้วยเป็นราคาของทรัพย์หลักประกันขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีล้มละลาย เมื่อฟังว่าราคาทรัพย์หลักประกันขณะฟ้องคดีล้มละลายมีราคา 1,950,750 บาท และโจทก์กล่าวในฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์ 2,706,332.85 บาท เมื่อนำราคาทรัพย์หลักประกันดังกล่าวมาหักกับหนี้ที่คงค้างแล้ว จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ไม่ถึง 1,000,000 บาท โจทก์จึงไม่อาจนำมูลหนี้ส่วนนี้มาฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีล้มละลายได้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยฟ้องโจทก์ในส่วนจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ เห็นว่า การนำสืบว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่นั้น โจทก์อาจจะนำสืบถึงข้อเท็จจริงที่แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน กล่าวคือนำสืบถึงทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดของจำเลยที่ 2 หรืออาจจะนำสืบถึงข้อเท็จจริงอันใดอันหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 อันเป็นข้อสันนิษฐานว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัว ทั้งนี้การพิจารณาถึงฐานะหรือข้อเท็จจริงอันเป็นข้อสันนิษฐานนั้นจะต้องปรากฏว่าเป็นข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วในเวลาที่โจทก์ฟ้องคดีล้มละลาย คดีนี้โจทก์มีนายสัญชัย มาเบิกความถึงมูลหนี้ของโจทก์และการดำเนินการของโจทก์เท่านั้น มิได้แสดงให้เห็นถึงทรัพย์สินและหนี้สินของจำเลยที่ 2 จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัว ที่โจทก์อ้างว่า โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้หลายครั้งแล้ว และระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน จำเลยที่ 2 ไม่ชำระหนี้ จึงเข้าข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (9) เห็นว่า การทวงถามตามบทบัญญัติดังกล่าวจะต้องเป็นการทวงถามในมูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย คดีนี้โจทก์ได้นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาคดีแพ่งมาฟ้องให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย แต่กลับมีการทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวเพียงครั้งเดียวเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2549 จึงไม่ต้องด้วยข้อสันนิษฐานของพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (9) ทั้งโจทก์จะนำการทวงถามของเจ้าหนี้เดิมซึ่งได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้เมื่อเดือนธันวาคม 2543 มาเป็นการทวงถามตามพระราชบัญญัติล้มละลายหาได้ไม่ เพราะเป็นการทวงถามบอกกล่าวบังคับจำนองในมูลหนี้ก่อนที่จะฟ้องคดีแพ่ง หาใช่เป็นการทวงถามให้ชำระหนี้ตามมูลหนี้ตามคำพิพากษาที่โจทก์นำมาฟ้องคดีล้มละลายไม่ ส่วนที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์ได้สืบหาทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ต่อสำนักงานที่ดินที่จำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีทรัพย์สิน เห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2549 แต่โจทก์ดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2549 และวันที่ 14 พฤศจิกายน 2549 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีล้มละลายแล้ว จึงหาใช่ข้อเท็จจริงที่มีอยู่แล้วในเวลาที่เริ่มต้นการฟ้องคดีล้มละลายไม่ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีทรัพย์สินอย่างอื่นใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ กรณีจึงไม่ต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมาย พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาฟังมิได้ว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัว ที่ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสองมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ