คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2283/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ใช้อุบายอ้างตนเป็นตำรวจร่วมกับจำเลยที่ 2 ซึ่งแสดงตนว่าเป็นตำรวจ โดยจำเลยที่ 1 แกล้งจับ ป. ใส่กุญแจมือและจะจับผู้เสียหายหาว่าค้าฝิ่นเถื่อน แต่เมื่อผู้เสียหายถอยหลังออกไปไม่ยอมให้จับข้อมือ จำเลยที่ 1 ก็พูดว่า ‘เอาอย่างนี้ก็แล้วกันลุง ลุงเอาเงินให้ฉันพันหนึ่ง แล้วลุงขายฝิ่นต่อไปก็แล้วกัน’ โดยจำเลยที่ 1 หรือที่ 2 มิได้ข่มขืนใจด้วยการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญจะทำอันตรายต่อชีวิต เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้เสียหาย หรือของบุคคลที่สามอย่างไรต่อไปผู้เสียหายเรียกบุตรชายซึ่งเดินมาจะเข้าบ้าน จำเลยทั้งสองและป. ก็เดินออกไป เช่นนี้ การกระทำของจำเลยทั้งสองยังไม่เข้าลักษณะเป็นความผิดฐานกรรโชก จึงไม่เป็นพยายามกรรโชก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งรับราชการเป็นตำรวจร่วมกับจำเลยที่ 1 และเด็กชายประทีป ใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งของจำเลยที่ 2 โดยมิชอบ โดยจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้อุบายข่มขืนใจแกล้งกล่าวหานายประเสริฐว่าจำหน่ายฝิ่นโดยไม่รับอนุญาต จำเลยกับพวกจะจับกุมนายประเสริฐส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี แต่ถ้านายประเสริฐยินยอมจ่ายเงินให้จำเลยกับพวก 1,000 บาท ก็จะไม่จับตัวไป การกระทำของจำเลยไม่บรรลุผลโดยนายประเสริฐไม่ยินยอมมอบเงินให้ และจำเลยที่ 2 ยังได้กระทำความผิดฐานอื่นอีกด้วย ขอให้ลงโทษและเพิ่มโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 83, 337, 339, 371, 376, 90, 91, 92, 80 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ให้ริบของกลางทั้งหมด เว้นแต่ขอสร้อยคอทองคำ 1 อันให้คืนเจ้าทรัพย์ และให้จำเลยที่ 2 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 860 บาทแก่เจ้าทรัพย์

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ จำเลยที่ 1 รับว่าเคยต้องโทษพ้นโทษจริงตามฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148, 86 และมาตรา 337, 80, 83 ให้ลงโทษตามมาตรา 148, 86ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 4 ปี เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามมาตรา 92 เป็นจำคุก5 ปี 4 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 และ 337, 80, 83, 371, 376 และพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 ซึ่งเป็นกระทงหนักที่สุด ให้จำคุก 6 ปี ข้อหาฐานชิงทรัพย์ให้ยก ริบของกลางทั้งหมดเว้นแต่ขอสร้อยคอทองคำ 1 อัน ให้คืนผู้เสียหาย

โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานชิงทรัพย์ด้วย

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานชิงทรัพย์อีกกระทงหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 และให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาร่วมกันพยายามกรรโชก นอกจากนี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันพยายามกรรโชกด้วย

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้เสียหายและนายเล็ก นายประทีป อยู่ใต้ถุนบ้านผู้เสียหาย จำเลยทั้งสองเข้ามาแล้วจำเลยที่ 1 คว้าข้อมือนายประทีปใส่กุญแจมือข้างหนึ่ง และคว้าข้อมือผู้เสียหายดึงมาจะใส่กุญแจมือคู่กับนายประทีป ผู้เสียหายไม่ยอม สะบัดมือหลุดและถามว่า”คุณมาจับผมเรื่องอะไร” จำเลยที่ 1 ตอบว่า ผู้เสียหายค้าฝิ่นเถื่อนผู้เสียหายถามว่า “แล้วคุณเป็นอะไร” จำเลยที่ 1 ตอบว่าเป็นตำรวจผู้เสียหายถามถึงบัตรประจำตัว จำเลยที่ 1 หันไปบอกจำเลยที่ 2 เอาบัตรให้ดู จำเลยที่ 2 ถลกชายเสื้อคว้าปืนสั้นออกมาพูดว่า “ใช้ได้เหมือนกัน เป็นปืนตำรวจ” แล้วเก็บปืนไว้อย่างเดิม จำเลยที่ 1 จะเข้าจับมือผู้เสียหาย ผู้เสียหายถอยหลังจะหนี จำเลยที่ 1 พูดว่า “เอาอย่างนี้ก็แล้วกันลุง เอาเงินมาให้ฉันพันหนึ่ง แล้วลุงขายฝิ่นต่อไปก็แล้วกัน” ขณะนั้นนายสว่างบุตรผู้เสียหายเดินมาจะเข้าบ้าน ผู้เสียหายจึงเรียกนายสว่าง จำเลยทั้งสองก็พากันเดินออกไปพร้อมกับนายประทีป แล้วจึงไปเกิดเรื่องจำเลยที่ 2 ชิงทรัพย์นางระเบียบและยิงปืนตามฟ้อง จึงวินิจฉัยว่า จะเห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ใช้อุบายอ้างตนเป็นตำรวจร่วมกับจำเลยที่ 2 ซึ่งแสดงตนว่าเป็นตำรวจ โดยจำเลยที่ 1 แกล้งจับนายประทีปใส่กุญแจมือ และจะจับผู้เสียหายหาว่า ค้าฝิ่นเถื่อน แต่เมื่อผู้เสียหายถอยหลังออกไปไม่ยอมให้จับข้อมือจำเลยที่ 1 กลับพูดว่า “เอาอย่างนี้ก็แล้วกันลุง ลุงเอาเงินให้ฉันพันหนึ่ง แล้วลุงขายฝิ่นต่อไปก็แล้วกัน” โดยจำเลยที่ 1 หรือที่ 2 มิได้ข่มขืนใจด้วยการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้เสียหายหรือของบุคคลที่สาม อย่างไรต่อไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 การกระทำของจำเลยทั้งสองยังไม่เข้าลักษณะเป็นความผิดฐานกรรโชก จึงไม่เป็นพยายามกรรโชกตามฟ้อง

พิพากษายืน

Share