คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2282/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯมาตรา 49 นั้น หมายถึงการเลิกจ้างที่ไม่มีเหตุอันสมควร มิได้หมายความว่าถ้านายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างมิได้กระทำผิดแล้วจะถือว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมไม่จำเลยให้การว่าจำเลยประสบปัญหาเรื่องการเงินและขาดเงินทุนดำเนินการ จำเลยจึงปรับปรุงกิจการโดยยุบเลิกตำแหน่งและหน่วยงานซึ่งโจทก์ดำรงอยู่และไม่สามารถจัดหาตำแหน่งอื่นทดแทนแก่โจทก์ได้คำให้การของจำเลยดังนี้ แสดงเหตุของการเลิกจ้างไว้โดยชัดแจ้ง หาใช่คำให้การ ที่ไม่มีประเด็นไม่
ฟ้องโจทก์กล่าวอ้างเหตุแห่งการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมว่าจำเลยเลิกจ้างโดยอ้างว่ายุบเลิกตำแหน่งและหน่วยงานที่โจทก์ดำรงอยู่ ซึ่งไม่เป็นความจริงและหาได้กล่าวอ้างถึงเหตุอื่นไม่ ฉะนั้นโจทก์จะยกเหตุอื่นนอกเหนือจากเหตุที่กล่าวในฟ้องมาเป็นข้ออุทธรณ์หาได้ไม่ เพราะมิได้เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง
สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ใช่หนี้เงินซึ่งกฎหมายกำหนดให้นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้างทันทีที่เลิกจ้าง ดังนั้นนายจ้างจะผิดนัดต่อเมื่อลูกจ้างทวงถามเมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิได้ดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้อง ส่วนค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ 45 กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง โดยไม่ต้องทวงถาม เมื่อจำเลยไม่จ่าย จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันเลิกจ้าง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโดยอ้างว่าได้ยุบเลิกตำแหน่งและหน่วยงานที่โจทก์ดำรงอยู่ซึ่งความจริงจำเลย มิได้ยุบเลิกตำแหน่งและหน่วยงานดังกล่าว จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะสาเหตุที่โจทก์ปฏิบัติงานขัดแย้งกับผู้อำนวยการกับพวก เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์สำนวนแรกและค่าเสียหาย และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์สำนวนที่สองตามลำดับ พร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะกิจการของจำเลยขาดทุน รัฐบาลให้จำเลยปรับปรุงกิจการ จำเลยจึงยกเลิกข้อบังคับเดิมออกข้อบังคับใหม่ยุบเลิกตำแหน่งและหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งตำแหน่งและหน่วยงานซึ่งโจทก์ทั้งสองดำรงอยู่ คงเหลือไว้เฉพาะหน่วยงานที่จำเป็น จำเลยไม่สามารถจัดหาตำแหน่งอื่นทดแทนแก่โจทก์ได้ มิได้มีเจตนากลั่นแกล้ง โจทก์สำนวนแรกไม่ตอกบัตรลงเวลาเลิกงานหลายครั้ง เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลย จำเลยบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าโจทก์สำนวนแรกถูกต้องตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสองสำนวนไม่ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนถือว่าสละสิทธิ โจทก์สำนวนแรกหยุดพักผ่อนประจำปีครบถ้วนแล้วโจทก์ไม่ได้ทวงถามจำเลยจึงไม่ต้องชำระดอกเบี้ย

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์สำนวนแรก ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีพร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์สำนวนที่สอง

โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ พ.ศ. 2522 มาตรา 49 หมายถึงการเลิกจ้างที่ไม่มีเหตุอันสมควร มิได้หมายความว่า กรณีที่นายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างมิได้กระทำผิดแล้วจะถือว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมไม่ การที่จำเลยให้การว่าจำเลยประสบปัญหาเรื่องการเงินและขาดเงินทุนดำเนินการ จำเลยจึงออกข้อบังคับใหม่ปรับปรุงกิจการของจำเลยโดยยุบเลิกตำแหน่งและหน่วยงานซึ่งโจทก์ทั้งสองสำนวนดำรงอยู่และไม่สามารถจัดหาตำแหน่งอื่นทดแทนให้ได้ คำให้การของจำเลยแสดงเหตุของการเลิกจ้างไว้โดยชัดแจ้ง คดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยยุบเลิกตำแหน่งและหน่วยงานซึ่งโจทก์ทั้งสองดำรงอยู่หรือไม่ และมีความจำเป็นมากหรือน้อยเพียงใด หาใช่คำให้การไม่มีประเด็นไม่

ส่วนการที่ข้อบังคับฉบับใหม่ของจำเลยกำหนดโครงสร้างงานใหม่แม้จำเลยจะลดฐานะสำนักงานตรวจการลงมาเป็นกองตรวจการและให้ไปสังกัดสำนักงานตรวจสอบซึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่โดยมีกองอื่น ๆ รวมอยู่ด้วย ถึงจะเรียกว่าลดฐานะหรือยุบเลิก ผลก็ไม่แตกต่างกันเพราะตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานตรวจการย่อมไม่มีในกิจการของจำเลย ซึ่งเท่ากับถูกยุบเลิกนั่นเอง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์สำนวนแรกเพราะเหตุนี้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนมติของคณะกรรมการ

ที่โจทก์ทั้งสองสำนวนกล่าวอ้างในฟ้องถึงเหตุไม่เป็นธรรมในการเลิกจ้างว่าจำเลยอ้างว่ายุบเลิกตำแหน่งและหน่วยงานซึ่งโจทก์ทั้งสองดำรงอยู่ แต่ความจริงจำเลยมิได้ยุบเลิกตำแหน่งหรือหน่วยงานดังกล่าว นั้น โจทก์มิได้กล่าวอ้างถึงเหตุอื่นอันเป็นเหตุเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ฉะนั้น โจทก์ทั้งสองสำนวนจะยกเหตุอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวในฟ้องมาเป็นข้ออุทธรณ์หาได้ไม่ เพราะมิได้เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 31

สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 มิใช่หนี้เงินซึ่งกฎหมายกำหนดให้นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้างทันทีที่เลิกจ้างนายจ้างจะผิดนัดต่อเมื่อลูกจ้างทวงถาม เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์สำนวนแรกทวงถามจำเลย โจทก์สำนวนแรกจึงมีสิทธิได้ดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้อง ส่วนค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 45 กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างโดยที่ลูกจ้างมิได้มีความผิดตาม ข้อ 47 จึงเป็นหนี้เงินที่นายจ้างต้องจ่ายทันทีที่เลิกจ้างโดยไม่ต้องทวงถาม เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำเลยย่อมเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันเลิกจ้าง ต้องจ่ายดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสองสำนวนตั้งแต่วันเลิกจ้าง

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยของค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ทั้งสองสำนวนตั้งแต่วันเลิกจ้าง

Share