คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2281/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในการพิจารณาตามคำขอเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างต้องคำนึงว่ากรณีมีเหตุผลสมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างนั้นหรือไม่ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการพิจารณาว่าการเลิกจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่ การกระทำของผู้คัดค้านที่เอาเศษเหล็กจำนวนมากของผู้ร้องออกไปนอกโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นการผิดระเบียบปฏิบัติและถูกกักของที่ประตูทางออกและต้องนำกลับไปเก็บไว้ที่เดิม แม้จะไม่ถือว่าเป็นการกระทำความผิดวินัยร้ายแรงที่จะต้องถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชย แต่ก็มีลักษณะทำให้ผู้ร้องขาดความเชื่อใจ ไม่อาจไว้วางใจให้ผู้คัดค้านทำงานต่อไปได้ กรณีมีเหตุผลสมควรที่ผู้ร้องจะเลิกจ้างผู้คัดค้าน

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลแรงงานภาค 2 มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านได้
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า ผู้คัดค้านเป็นลูกจ้างของผู้ร้องและเป็นกรรมการลูกจ้าง ในการทำงานมีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2556 ผู้คัดค้านขับรถยนต์กระบะบรรทุกพาเลทที่ซ่อมเสร็จจะนำไปส่งคืนลูกค้า โดยมีใบอนุญาตนำพาเลทดังกล่าวออกไปจากโรงงาน แต่เมื่อผ่านทางออกบริษัทผู้ร้อง นายไพฑูรย์ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตรวจพบเศษเหล็กจำนวนมาก อยู่ท้ายรถยนต์กระบะโดยไม่มีใบอนุญาตนำเศษเหล็กออกไปนอกโรงงานด้วย ผู้คัดค้านรับว่านำเศษเหล็กดังกล่าวออกไปเพื่อใช้ในการรองพาเลท แต่จากภาพถ่ายเศษเหล็กมีเศษเหล็กที่สามารถใช้รองพาเลทได้เพียงบางส่วน นอกนั้นเป็นเศษเหล็กท่อนเล็กท่อนน้อยจำนวนมากที่มีขนาดเล็กซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ในการรองพาเลทหรือใช้ในหน้าที่ของผู้คัดค้าน เศษเหล็กดังกล่าวเป็นของผู้ร้องเก็บไว้ขายน้ำหนักรวม 100 กิโลกรัม มีมูลค่าประมาณ 12,000 บาท เมื่อนายไพฑูรย์พบเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวจึงแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ต่อมานางสาวญาณิสา เจ้าหน้าที่แผนกบุคคลไปที่เกิดเหตุและแจ้งให้ผู้คัดค้านนำเศษเหล็กไปเก็บไว้ที่โรงเก็บเศษเหล็กของโรงงาน แล้วศาลแรงงานภาค 2 วินิจฉัยว่า พฤติการณ์ของผู้คัดค้านหมิ่นเหม่ต่อการนำทรัพย์สินของผู้ร้องออกนอกโรงงานโดยพลการ อาจนำมาซึ่งความเสียหายต่อผู้ร้อง นำไปสู่การเริ่มต้นของการทุจริตต่อหน้าที่ และอาจเป็นตัวอย่างของการนำทรัพย์สินของผู้ร้องไปโดยมิชอบ ส่งผลเสียหายต่อทรัพย์สินของผู้ร้อง ระบบบริหารจัดการ การควบคุมภายในและการบริหารงานบุคคลของผู้ร้อง การกระทำของผู้คัดค้านถือว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่เป็นเรื่องสำคัญและเป็นการกระทำที่ไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต กรณีมีเหตุผลสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านได้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านว่า คำพิพากษาของศาลแรงงานภาค 2 ที่อนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านได้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้อง หมวดที่ 8 ไม่มีข้อใดระบุว่าการนำสิ่งของออกจากโรงงานของผู้ร้องโดยไม่ได้ระบุไว้ในใบอนุญาตนำสิ่งของออกนอกโรงงานเป็นความผิดร้ายแรงและจะถูกเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ที่ศาลแรงงานภาค 2 อนุญาตให้เลิกจ้างผู้คัดค้านจึงไม่ชอบด้วยข้อบังคับดังกล่าว ถือเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น เห็นว่า ในการพิจารณาอนุญาตตามคำขอเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างต้องคำนึงว่ากรณีมีเหตุผลสมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างนั้นหรือไม่ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการพิจารณาว่าการเลิกจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่ การกระทำของผู้คัดค้านที่เอาเศษเหล็กจำนวนมากของผู้ร้องออกไปนอกโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นการผิดระเบียบปฏิบัติ ทั้งเศษเหล็กดังกล่าวมีมูลค่าถึง 12,000 บาท และมีจำนวนมากเกินความจำเป็นที่จะใช้ในการทำงานเป็นฐานรองพาเลท บ่งชี้ถึงเจตนาทุจริตแสวงหาผลประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบ แม้ผู้คัดค้านจะถูกกักของไว้ที่ประตูทางออกและถูกห้ามจนไม่สามารถนำเศษเหล็กออกไปจากโรงงานได้และต้องนำกลับไปเก็บไว้ที่เดิม โดยผู้ร้องยังไม่ได้รับความเสียหาย และตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องจะกำหนดการกระทำที่ถือว่าเป็นการกระทำความผิดวินัยร้ายแรง ต้องถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชยไว้ว่าต้องเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายหรือลักทรัพย์ของผู้ร้องก็ตาม แต่การกระทำของผู้คัดค้านดังกล่าวก็มีลักษณะที่ทำให้ผู้ร้องขาดความเชื่อใจ ไม่อาจวางใจให้ผู้คัดค้านทำงานเป็นลูกจ้างต่อไปได้ กรณีมีเหตุผลสมควรที่ผู้ร้องจะเลิกจ้างผู้คัดค้านได้ตามขอ ที่ศาลแรงงานภาค 2 มีคำสั่งอนุญาตให้เลิกจ้างผู้คัดค้านได้ตามคำร้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share