แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เดิมจำเลยมีเจตนาที่จะกู้ยืมเงินจากโจทก์เพื่อนำมาชำระค่าซื้อรถพิพาทที่ยังขาดอยู่ แต่เมื่อโจทก์ต้องการให้โอนกรรมสิทธิ์ในรถพิพาทให้เป็นของโจทก์ก่อนแล้วให้จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถพิพาทกับโจทก์ จำเลยก็ได้ยินยอมตกลงตามประสงค์ของโจทก์ โดยได้มีการทำหนังสือสัญญาเช่าซื้อรถพิพาท ระหว่างโจทก์กับจำเลย ทั้งจำเลยก็ได้ผ่อนชำระเงินค่าเช่าซื้อมาหลายงวดย่อมถือว่าคู่กรณีมีเจตนาทำสัญญาเช่าซื้อกัน สัญญาเช่าซื้อจึงมิใช่เป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงิน ขณะที่จำเลยขับรถพิพาทไป ได้เกิดไฟลุกไหม้รถพิพาทเสียหายทั้งคัน สัญญาเช่าซื้อรถพิพาทย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 567 ประกอบด้วยมาตรา 572 แม้สัญญาเช่าซื้อมีข้อตกลงว่า ผู้เช่าซื้อจะต้องรักษาทรัพย์สินให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยและมีการซ่อมแซมที่ดี และรับผิดชอบแต่ผู้เดียวสำหรับการเสี่ยงต่อการสูญหายหรือเสียหายทุกชนิดของทรัพย์สิน รวมทั้งอัคคีภัยด้วยแต่ข้อตกลงดังกล่าวย่อมหมายถึงการสูญหายหรือเสียหายซึ่งผู้เช่าซื้อต้องรับผิดเท่านั้นแต่โจทก์มิได้นำสืบว่าเป็นความผิดของจำเลยอย่างไรหรือไม่ในกรณีที่รถพิพาทถูกไฟไหม้ การที่จำเลยขับรถพิพาทไปแล้วเกิดไฟลุกไหม้อาจจะเกิดจากสภาพของรถก็ดี ทั้งไม่ปรากฎว่าจำเลยได้ เสี่ยง ต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระราคารถพิพาทให้โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน 8 จ – 4276 กรุงเทพมหานคร จากโจทก์ในราคาเช่าซื้อ399,000 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวด งวดละเดือน เดือนละ11,084 บาท จำเลยที่ 1 ตกลงว่าจำเลยที่ 1 จะรักษาทรัพย์สินให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยและมีการซ่อมแซมที่ดี และรับผิดชอบแต่ผู้เดียวสำหรับการเสี่ยงต่อการสูญหายหรือเสียหายทุกชนิดรวมทั้งอัคคีภัยด้วยในวันเดียวกันนั้นเอง จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1ไว้ต่อโจทก์ โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์รวม 13 งวด แล้วผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตลอดมาโจทก์ให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกสัญญาแล้ว หากรถยนต์อยู่ในความครอบครองของโจทก์ก็อาจนำไปให้บุคคลอื่นเช่าได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 11,084 บาท ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 8 เดือน เป็นเงิน 88,672 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน399,000 บาท แก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 88,672 บาท พร้อมทั้งค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 11,084 บาทนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือชำระราคาแทนแก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 ซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน 8 จ – 4276 กรุงเทพมหานคร จากตลาดซื้อขายรถยนต์ใช้แล้วในราคา 400,000 บาท จำเลยที่ 1 ไม่อาจชำระราคาได้ในครั้งเดียว ผู้ขายเสนอให้จำเลยที่ 1 ชำระก่อนบางส่วน ที่เหลือจะหาสถาบันการเงินให้จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงิน จำเลยที่ 1 จึงชำระเงินให้ผู้ขายเป็นจำนวน 100,000 บาท แล้วผู้ขายพาจำเลยที่ 1 ไปกู้ยืมเงินจากโจทก์ชำระค่าซื้อขายส่วนที่เหลืออีก 300,000 บาท โดยทำสัญญาเช่าซื้ออำพรางการกู้ยืมเงิน จำเลยที่ 2 ค้ำประกันการกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 มิได้ค้ำประกันการเช่าซื้อของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1ไม่เคยผิดสัญญา ชำระหนี้ตลอดเวลาที่ครอบครองรถดูแลรักษารถมาด้วยดีและโจทก์ไม่เคยทักท้วงว่าจำเลยที่ 1 ละเลยการดูแลรักษารถเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2531 เวลาประมาณ 18 นาฬิกา จำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 ได้นั่งรถพิพาทไปตามถนนศรีนครินทร์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับระหว่างรถพิพาทกำลังแล่นปรากฏว่าได้มีไฟลุกไหม้ขึ้นที่หน้ารถ เป็นเหตุให้รถพิพาทถูกไฟลุกไหม้ทั้งคันซึ่งเกิดจากสภาพของตัวรถพิพาทที่โจทก์ต้องรับผิดชอบ เพราะความเสียหายมิได้เกิดจากเหตุภายนอก หรือเกิดจากจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเพราะเกิดจากเหตุสุดวิสัย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงิน254,908 บาท แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อแรกมีว่า สัญญาเช่าซื้อเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินหรือไม่ เห็นว่า แม้เดิมจำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะกู้ยืมเงินจากโจทก์เพื่อนำมาชำระค่าซื้อรถพิพาทที่ยังขาดอยู่ 300,000 บาท แต่เมื่อโจทก์ต้องการให้โอนกรรมสิทธิ์ในรถพิพาทให้เป็นของโจทก์ก่อนแล้วให้จำเลยที่ 1ทำสัญญาเช่าซื้อรถพิพาทกับโจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ได้ยินยอมตกลงตามความประสงค์ของโจทก์ โดยได้มีการทำหนังสือสัญญาเช่าซื้อรถพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4ทั้งจำเลยที่ 1 ก็ได้ผ่อนชำระเงินค่าเช่าซื้อมา 13 งวด ย่อมถือว่าคู่กรณีมีเจตนาทำสัญญาเช่าซื้อกัน สัญญาเช่าซื้อจึงมิใช่เป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา
ปัญหาข้อต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระราคารถพิพาทให้โจทก์หรือไม่ ปัญหานี้ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ขณะที่จำเลยที่ 2 ขับรถพิพาทไปนั้นได้เกิดไฟลุกไหม้รถพิพาทเสียหายทั้งคันเห็นว่า เมื่อรถพิพาทอันเป็นทรัพย์สินที่เช่าซื้อเสียหายไปทั้งคันสัญญาเช่าซื้อรถพิพาทย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 567 ประกอบด้วยมาตรา 572 แม้สัญญาเช่าซื้อมีข้อตกลงว่าผู้เช่าซื้อจะต้องรักษาทรัพย์สินให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยและมีการซ่อมแซมที่ดี และรับผิดชอบแต่ผู้เดียว สำหรับการเสี่ยงต่อการสูญหายหรือเสียหายทุกชนิดของทรัพย์สิน รวมทั้งอัคคีภัยด้วย แต่ข้อตกลงดังกล่าวย่อมหมายถึงการสูญหายหรือเสียหายซึ่งผู้เช่าซื้อต้องรับผิดเท่านั้น แต่โจทก์มีนายวีรศักดิ์ เอื้ออรุณพานิช มาเบิกความเพียงปากเดียวเฉพาะเรื่องที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อเท่านั้น นายวีรศักดิ์หาได้เบิกความถึงไม่ว่าเป็นเพราะความผิดของจำเลยที่ 1 อย่างไรหรือไม่ในกรณีที่รถพิพาทถูกไฟไหม้ การที่จำเลยที่ 2 ข้อรถพิพาทไปแล้วเกิดไฟลุกไหม้อาจจะเกิดจากสภาพของรถก็ได้ทั้งไม่ปรากฏว่าฝ่ายจำเลยได้เสี่ยงต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด ดังนั้นจำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชำระราคารถพิพาทให้โจทก์
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง