คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 228/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยสั่งโจทก์พิมพ์หนังสือไดเร็คตอรี่ จำนวน 5,000 เล่ม เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2525 โดยกำหนดให้ส่งมอบในวันที่ 8 ธันวาคม2525 มีเวลาให้โจทก์ทำงานและส่งมอบเพียง 13 วัน ซึ่งโจทก์ไม่สามารถทำได้ทันแต่จำเลยได้ตกลงผ่อนผันให้ทะยอนส่งและให้ทำอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ จำเลยไม่ได้ถือเอาวันที่ 8ธันวาคม 2525 เป็นข้อสำคัญ ทั้งจำเลยก็ส่งต้นฉบับไปให้โจทก์ล่าช้า แต่โจทก์ก็ได้จัดพิมพ์และทะยอยส่งให้จำเลยครบเมื่อวันที่7 กุมภาพันธ์ 2526 เมื่อจำเลยรับไว้โดยมิได้บอกกล่าวเลิกสัญญาต่อโจทก์ จึงไม่ถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยทั้งเจ็ดได้ว่าจ้างโจทก์พิมพ์นามบัตร ใบสมัครสมาชิก หนังสือไดเร็คตอรี่ นามบัตรขอบคุณและหัวกระดาษจดหมายหลายครั้งเป็นเงิน 179,150 บาท จำเลยรับเอกสารและหนังสือไปเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้ชำระค่าจ้าง โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยทั้งเจ็ดยังเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระเงินค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ให้การและฟ้องแย้งว่า ไม่เคยว่าจ้างโจทก์หรือมอบหมายให้จำเลยที่ 2 ว่าจ้างโจทก์พิมพ์เอกสาร นามบัตรและบัตรขอบคุณ แต่ได้ว่าจ้างโจทก์พิมพ์เฉพาะหนังสือไดเร็คตอรี่เป็นเงิน 241,600 บาท โจทก์ได้รับมัดจำไว้บางส่วนเป็นเงิน 100,000บาท โจทก์ตกลงส่งมอบสิ่งของในวันที่ 8 ธันวาคม 2525 และจำเลยจะชำระเงินที่เหลือให้โจทก์ภายใน 60 วัน นับแต่วันส่งมอบ โจทก์ไม่ได้ส่งมอบสิ่งของให้จำเลยตามกำหนด ทำให้สมาชิกของจำเลยที่สั่งจองหนังสือถอนชื่อจากการสั่งจองถึง 400 รายเศษ จำเลยขาดกำไรที่ควรจะได้รับถึง 231,240 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ย ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ และให้โจทก์ชำระเงิน 242,802 บาท ให้จำเลยทั้งหก
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่เคยผิดนัด โจทก์ไม่เสียหายขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งเจ็ดจ้างโจทก์พิมพ์เอกสารตามฟ้องจริงเป็นเงิน 179,140 บาท จำเลยวางมัดจำไว้ 100,000 บาทจึงต้องชำระให้โจทก์อีก 79,150 บาท และโจทก์ไม่ได้ผิดนัด จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง พิพากษาให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระเงิน 79,150 บาท ให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2526 จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองฝ่ายให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ชำระเต็มตามฟ้อง
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ชำระค่าเสียหายตามฟ้องแย้ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระเงิน 179,150 บาท ให้โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…จำเลยทั้งเจ็ดได้ว่าจ้างโจทก์พิมพ์หนังสือไดเร็คตอรี่รายชื่อห้างร้านบริษัทที่บริษัทเคาท์ดาวน์ จำกัดได้ติดต่อไว้เพื่อแจกให้สมาชิกจำนวน 5,000 เล่ม ราคา 241,600 บาทวางมัดจำไว้ 100,000 บาท กำหนดส่งมอบในวันที่ 8 ธันวาคม 2525จำเลยจะชำระเงินจำนวนที่เหลือภายใน 60 วัน นับแต่วันรับหนังสือนางสาวสุณิธิรับหนังสือไดเร็คตอรี่ไว้เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2526ซึ่งช้ากว่ากำหนด จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ฎีกาเป็นข้อแรกว่า นางสาวสุณิธิ เปล่งศรีงาม ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบริษัทเคาท์ดาวน์ จำกัดและไม่ได้เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยทั้งเจ็ด จำเลยทั้งเจ็ดไม่ได้ว่าจ้างโจทก์พิมพ์หนังสือเชิญชวน (โบรชัวร์) บัตรขอบคุณ ใบสมัครนามบัตรตามฟ้อง เห็นว่า ตามหนังสือบริคณห์สนธิบริษัทเคาท์ดาวน์จำกัด ผู้เริ่มก่อการ 7 คน นอกจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 แล้ว ยังมีนางสาวทวิพร เปล่งศรีงาม อยู่บ้านเลขที่ 259/122 ซอยสุขุมวิท 71แขวงพระโขนง เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร เป็นผู้เริ่มก่อการด้วยอีกคนหนึ่ง และมีนางสาวสุณิธิ เปล่งศรีงาม อยู่บ้านเดียวกันกับนางสาวทวิพรเป็นผู้ลงลายมือชื่อต่อหน้านางสาวสุณิธิด้วย ซึ่งหนังสือดังกล่าวทำขึ้นวันที่ 17 ธันวาคม 2525 ตามเอกสารหมาย จ.2แต่ตามใบสั่งพิมพ์หนังสือเชิญชวนหรือโบรชัวร์จำนวน 5,000 ชุดเป็นเงิน 25,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.3 โดยนางสาวสุณิธิเปล่งศรีงาม ลงลายมือชื่อ และระบุตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทเคาท์ดาวน์ จำกัด กลับปรากฏว่าลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2525 กำหนดส่งมอบของในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2525 และโจทก์ส่งมอบให้แล้วตามใบส่งของเอกสารหมาย จ.4 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับไว้ในวันที่ 19พฤศจิกายน 2525 ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็เบิกความยอมรับว่าเป็นผู้รับสิ่งของดังกล่าวไว้ อันเป็นเวลาก่อนที่จะจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิเอกสารหมาย จ.2 ประมาณ 1 เดือน ส่วนใบสั่งพิมพ์เอกสารหมาย จ.5 ที่สั่งพิมพ์กระดาษหัวจดหมาย จำนวน 600 แผ่น กับกระดาษหัวจดหมาย พร้อมข้อความเป็นภาษาอังกฤษ 2 แบบ ๆ ละ 200 แผ่นรวมเป็น 400 แผ่น นั้น จำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อ ก็สั่งพิมพ์ก่อนจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิเอกสารหมาย จ.2 เช่นกันเอกสารหมาย จ.3 และ จ.5 นี้ โจทก์ได้ระบุอ้างไว้แล้ว เพียงแต่มิได้ส่งสำเนาเอกสารให้จำเลยเท่านั้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลมีอำนาจรับฟังได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 87(2) เพราะเป็นพยานสำคัญในคดี และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6ซึ่งเป็นฝ่ายนำสืบภายหลังก็ยังมีสิทธินำสืบคัดค้านได้ไม่ทำให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เสียเปรียบ ทั้งจำเลยที่ 2 ผู้ลงลายมือชื่อในเอกสารจ.5 ก็มิได้เบิกความปฏิเสธว่า ไม่ใช่หนังสือของตน ตรงกันข้ามจำเลยที่ 5 กลับเบิกความยอมรับว่า ลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.5เป็นของจำเลยที่ 2 สำหรับกระดาษที่ใช้พิมพ์เอกสารหมาย จ.3 และเอกสารหมาย จ.5 นี้เหมือนกับกระดาษที่ใช้พิมพ์ใบสั่งพิมพ์หนังสือไดเร็คตอรี่เอกสารหมาย จ.9 ซึ่งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ยอมรับว่าได้สั่งโจทก์พิมพ์โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อ โดยเป็นกระดาษแบบฟอร์มของบริษัทเคาท์ดาวน์ จำกัด ชนิดเดียวกัน ที่จำเลยนำสืบว่านางสาวสุณิธิมิได้เกี่ยวข้องกับกิจการของบริษัทเคาท์ดาวน์จำกัด หรือจำเลยทั้งเจ็ดนั้นก็เบิกความลอย ๆ ทั้ง ๆ ที่เอกสารยืนยันอยู่ จึงรับฟังได้ว่าขณะที่ยังมิได้จดทะเบียนบริษัทเคาท์ดาวน์จำกัด จำเลยทั้งเจ็ดได้เชิดนางสาวสุณิธิเป็นกรรมการผู้จัดการหรือตัวแทน จึงเชื่อว่าจำเลยทั้งเจ็ดได้สั่งโจทก์พิมพ์หนังสือเชิญชวน(โบรชัวร์) นามบัตร ใบสมัครและบัตรขอบคุณลูกค้าจริง ซึ่งโจทก์ได้พิมพ์ส่งมอบให้จำเลยทั้งเจ็ดเรียบร้อยแล้วตามใบส่งของเอกสารหมายจ.4, จ.6, จ.7 จำเลยทั้งเจ็ดจึงต้องร่วมกันชำระเงินตามเอกสารดังกล่าวรวม 36,500 บาท ส่วนเงินจำนวน 1,050 บาท ตามใบส่งของเอกสารหมาย จ.8 นั้น นายยรรยงค์ มณีบูลย์ เป็นผู้สั่งพิมพ์นามบัตรและเป็นผู้ลงลายมือชื่อรับของเอง น่าเชื่อว่านายยรรยงค์สั่งโจทก์พิมพ์เองไม่เกี่ยวกับบริษัทเคาท์ดาวน์ จำกัด และจำเลยทั้งเจ็ดศาลฎีกาจึงเห็นว่าจำเลยทั้งเจ็ดไม่ต้องรับผิดในเงินจำนวน 1,050บาทนี้ และคดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ จึงเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 7 จะมิได้อุทธรณ์ฎีกาขึ้นมาก็ให้มีผลถึงจำเลยที่ 7 ด้วย ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ฎีกาว่าสำหรับหนังสือไดเร็คตอรี่ที่สั่งโจทก์พิมพ์ตามเอกสารหมาย จ.9 จำนวน 5,000 เล่ม โจทก์ไม่ส่งให้จำเลยในเวลาที่กำหนดไว้โดยส่งล่าช้าจำเลยไม่ได้รับไว้ จึงไม่ต้องชำระค่าจ้างที่ค้างอยู่อีกจำนวน 141,600 บาทนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ในเอกสารหมาย จ.9จะกำหนดวันที่ส่งมอบไว้ในวันที่ 8 ธันวาคม 2525 แต่วันที่จำเลยสั่งพิมพ์คือวันที่วางเงินมัดจำไว้ 100,000 บาท ซึ่งเป็นวันที่ 25พฤศจิกายน 2525 มีเวลาให้โจทก์ทำงานและส่งมอบเพียง 13 วัน น่าเชื่อตามที่โจทก์นำสืบว่า ทำไม่ทันโดยจำเลยได้ตกลงผ่อนผันให้ทะยอยส่งและให้ทำให้อย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ จำเลยไม่ได้ถือเอาวันที่ 8 ธันวาคม 2525 เป็นข้อสำคัญ จำเลยส่งต้นฉบับให้โจทก์ช้าแต่โจทก์ก็ได้จัดพิมพ์และทะยอยส่งให้จำเลยงวดแรกวันที่ 28 ธันวาคม2525 และส่งครบในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2526 ซึ่งนางสาวสุณิธิเป็นผู้รับไว้ตามเอกสารหมาย จ.10 โดยจำเลยทั้งเจ็ดมิได้บอกกล่าวเลิกสัญญาต่อโจทก์แต่อย่างใด จึงถือว่าจำเลยทั้งเจ็ดได้รับหนังสือไดเร็คตอรี่จำนวน 5,000 เล่ม จากโจทก์ครบถ้วนโดยไม่ถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยทั้งเจ็ดจึงต้องรับผิดชำระเงินส่วนที่ค้างอยู่อีก 141,600 บาท แก่โจทก์ รวมกับจำนวนแรกเป็นเงินทั้งสิ้น178,100 บาท ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 อ้างว่าจำเลยไม่ยอมรับหนังสือดังกล่าวแล้ว แต่โจทก์กับนางสาวสุณิธิสมคบกันทำเอกสารหมาย จ.10ขึ้นนั้นเห็นว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 มิได้คัดค้านเอกสารหมาย จ.10ว่าเป็นเอกสารที่ไม่ถูกต้องแต่อย่างใด จึงฟังว่านางสาวสุณิธิกรรมการผู้จัดการบริษัทเคาท์ดาวน์ จำกัด หรือตัวแทนเชิดของจำเลยทั้งเจ็ดได้รับมอบหนังสือไดเร็คตอรี่ไว้ตามสัญญาถูกต้องแล้ว ส่วนที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งเจ็ดชำระเงินจำนวน 179,150 บาท เป็นการเกินคำขอท้ายฟ้อง หากจะรับผิดก็ไม่เกิน 79,150 บาท นั้นก็เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องและขอให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระเงินจำนวน 179,150 บาท อยู่แล้วอันเป็นจำนวนสุทธิหลังจากหักค่ามัดจำไว้แล้ว ศาลอุทธรณ์จึงมิได้พิพากษาเกินคำขอ เมื่อโจทก์มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 จำเลยทั้งเจ็ดจึงต้องร่วมกันรับผิดชำระเงินรวมทั้งสิ้น 178,100 บาทแก่โจทก์ ฎีกาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระเงินจำนวน178,100 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากจำนวนเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 7 เมษายน 2526 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ”

Share