แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ (มาตรา 7) โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งมีใจความว่า หากจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้วโจทก์จะถอนฟ้องคดีนี้และให้ถือว่าคดีเป็นอันเลิกกัน ตามข้อตกลงดังกล่าวแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์กับจำเลยว่าประสงค์ให้คดีส่วนอาญาเลิกกันต่อเมื่อจำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว หาใช่มีเจตนาให้คดีอาญาเลิกกันทันทีนับแต่มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวคงมีผลให้โจทก์สิ้นสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้เดิม และได้สิทธิใหม่ตามที่แสดงไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 เท่านั้น
เมื่อโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญามิได้มีเจตนาให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปด้วยในขณะที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงถือไม่ได้ว่ามีการยอมความในคดีอาญา อันเป็นผลให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับสิ้นไปดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 39(2)
การที่โจทก์กับจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งย่อมมีผลให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์อันมีอยู่ตามเช็คพิพาทระงับสิ้นไป โจทก์ย่อมได้สิทธิเรียกร้องใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น และถือว่าหนี้ที่จำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อใช้เงินนั้นสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 7 สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 ปัญหานี้เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
โจทก์กับจำเลยทั้งสองร่วมกันแถลงต่อศาลชั้นต้นว่า โจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ตามเช็คฉบับพิพาทแก่โจทก์ ซึ่งต่อมาโจทก์กับจำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งดังกล่าวโดยจำเลยทั้งสองยอมผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์ และโจทก์ตกลงว่าหากจำเลยทั้งสองชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว โจทก์จะถอนฟ้องคดีนี้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า การที่โจทก์กับจำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งทำให้มูลหนี้ตามเช็คฉบับพิพาทระงับไปก่อนคดีถึงที่สุด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 ให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาว่า โจทก์กับจำเลยทั้งสองประสงค์จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความเฉพาะคดีแพ่ง โจทก์ยังติดใจดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทั้งสองอยู่ถือไม่ได้ว่ามูลหนี้ตามเช็คฉบับพิพาทสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 ยกคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 10,000 บาทจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 กึ่งหนึ่งคงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 5,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 เดือนหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษแก่จำเลยที่ 2
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ได้ระงับไปแล้ว ให้จำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฎีกาว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ยังไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันสั่งจ่ายเช็คฉบับพิพาทให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าคอนกรีตผสมเสร็จที่จำเลยทั้งสองซื้อจากโจทก์ เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คเนื่องจากบัญชีของจำเลยปิดแล้ว นอกจากนี้โจทก์ยังฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์ด้วย ตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 50/2540 ของศาลจังหวัดเชียงใหม่ ในระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งโดยจำเลยทั้งสองยอมผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์ รายละเอียดปรากฏตามสำเนาสัญญาประนีประนอมยอมความลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2540 ของคดีแพ่งดังกล่าว คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่โจทก์กับจำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งมีผลให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งเรื่องนั้นมีใจความสำคัญว่า จำเลยทั้งสองตกลงจะชำระหนี้จำนวน 180,293 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีจากต้นเงิน 176,596 บาท นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยผ่อนชำระเป็นรายเดือน เดือนละไม่น้อยกว่า 10,000 บาท เริ่มชำระงวดแรกในวันที่ 30 มิถุนายน 2540 งวดต่อไปชำระในวันสุดท้ายของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบจำนวน หากจำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้วโจทก์จะถอนฟ้องคดีนี้และให้ถือว่าคดีเป็นอันเลิกกัน ตามข้อตกลงดังกล่าวแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์กับจำเลยทั้งสองว่าประสงค์ให้คดีส่วนอาญาเลิกกันต่อเมื่อจำเลยทั้งสองชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับนั้นหาใช่มีเจตนาให้คดีอาญาเลิกกันทันทีนับแต่มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 เข้าใจไม่ สัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งคงมีผลให้โจทก์สิ้นสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้เดิม และได้สิทธิใหม่ตามที่แสดงไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 เท่านั้น เมื่อโจทก์กับจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นคู่สัญญามิได้มีเจตนาให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปด้วยในขณะที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงถือไม่ได้ว่ามีการยอมความในคดีอาญาอันเป็นผลให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับสิ้นไปดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) อย่างไรก็ดีการที่โจทก์และจำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งย่อมมีผลให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์อันมีอยู่ตามเช็คพิพาทระงับสิ้นไป โจทก์ย่อมได้สิทธิเรียกร้องใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น และถือว่าหนี้ที่จำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาทเพื่อใช้เงินนั้นสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาตรา 7 สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2656/2542 ระหว่างบริษัทเอ็ม.ซี. คอมเมอร์เชียล จำกัด โจทก์ ห้างหุ้นส่วนจำกัดมงคลไฟฟ้า กับพวก จำเลย ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นฎีกาศาลอุทธรณ์ภาค 2ก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน