คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2275/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

กู้เงินธนาคารโดยใช้เช็คเบิกเงินและนำเงินเข้าบัญชีหักหนี้กันกำหนดเวลาชำระเงินคืนไว้ ครบกำหนดแล้วก็ยังนำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนบัญชีกันอยู่ บัญชีคงเดินสะพัดเรื่อยไป ธนาคารคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ต่อไปจนถึงวันธนาคารบอกเลิกสัญญา ผู้ค้ำประกันซึ่งยอมรับผิดร่วมกับลูกหนี้รวมทั้งดอกเบี้ยและค่าเสียหายก็ต้องรับผิดในดอกเบี้ยทบต้นร่วมด้วย
เอกสารราชการซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ทำขึ้นรับรองว่าบริษัทมีกรรมการคือใคร กรรมการลงลายมือชื่อและประทับตราผูกพันบริษัทได้อย่างไร จำเลยไม่สืบพยานหักล้าง ผู้รับมอบอำนาจจากกรรมการตามรายละเอียดในเอกสารนั้นฟ้องคดีได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ 64,072.44บาท กับดอกเบี้ย จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “โจทก์นำสืบว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัดมีวัตถุประสงค์รับฝากเงิน ให้กู้ยืมเงิน ตามข้อบังคับของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้กรรมการ 2 นาย ร่วมกันมีอำนาจลงนามและประทับตราสำคัญของโจทก์ทำการแทนโจทก์ ปรากฏตามหนังสือรับรองของนายทะเบียน เอกสารหมาย จ.1โจทก์ได้มอบอำนาจให้นายคำรณ เตชะไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการมีอำนาจจัดการและดำเนินการแทนโจทก์ตามหนังสือมอบอำนาจ เอกสารหมาย จ.2 เดิมจำเลยที่ 1เป็นลูกค้าของโจทก์ สาขาประตูน้ำ ในวงเงิน 25,000 บาท โดยยินยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี กำหนดชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน ในวันสิ้นเดือนของทุกเดือน หากผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยเดือนใดยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นและเงินจำนวนนี้กลายเป็นเงินต้นสำหรับที่จะคิดดอกเบี้ยในเดือนต่อไปในอัตราเดียวกัน การสั่งจ่ายเงินเกินบัญชีโดยใช้เช็คนี้ครบกำหนดภายในวันที่ 25ธันวาคม 2510 รายละเอียดปรากฏตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.3ในการที่จำเลยที่ 1 กู้เบิกเงินเกินบัญชีนี้ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน โดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม รายละเอียดปรากฏตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 หลังจากจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแล้ว จำเลยที่ 1ได้เบิกเงินและนำเงินเข้าบัญชีเรื่อยมา คิดถึงวันที่ 26 ธันวาคม 2510 จำเลยที่ 1เป็นลูกหนี้โจทก์เป็นเงิน 25,000 บาทเศษ โจทก์ได้คิดดอกเบี้ยทบต้น จำเลยที่ 1เรื่อยมาทุกเดือน ต่อมาวันที่ 17 กันยายน 2514 จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือขอรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ โดยยอมรับว่าหนี้สินของจำเลยที่ 1 คิดถึงวันที่ 30 สิงหาคม2514 จำเลยเป็นหนี้โจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 42,591.06 บาทปรากฏตามเอกสาร จ.6 ต่อมาในปี พ.ศ. 2515 จำเลยที่ 1 ได้นำเงินมาชำระแก่โจทก์เป็นเงิน 8,000 บาท ในปี พ.ศ. 2516 ชำระ 5,000 บาท ครั้งสุดท้ายวันที่ 30 สิงหาคม 2516 ชำระ 1,000 บาท คิดเพียงวันที่ 30 สิงหาคม 2516จำเลยเป็นหนี้โจทก์ประมาณ 40,000 บาทเศษ หลังจากนั้น จำเลยที่ 1 มิได้นำเงินเข้าบัญชีเลย คิดถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2519 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์64,072.44 บาท โจทก์จึงให้ทนายของโจทก์มีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยที่ 1ที่ 2 ให้ชำระหนี้โดยส่งไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือของโจทก์แล้วเพิกเฉยเสีย ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.34 ถึง จ.37 จำเลยเป็นหนี้โจทก์คิดถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2519 เป็นเงิน 64,819.96 บาท และเมื่อถึงวันฟ้องคดีนี้เป็นเงิน 65,525.67 บาท

จำเลยที่ 2 ไม่สืบพยาน

พิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่มาสู่ศาลฎีกาคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ที่จำเลยที่ 2ฎีกาว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าฟ้องของโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงโดยแจ้งชัดตามสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุมที่จำเลยที่ 2ฎีกาว่าพยานหลักฐานโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่า นายสุนทร เสถียรไทย และนายสนองตู้จินดา เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์นั้น จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าฟังไม่ได้อย่างไร ถึงคราวสืบพยานจำเลย จำเลยที่ 2 กลับแถลงว่าไม่ติดใจสืบพยาน ส่วนโจทก์มีหนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครส่งอ้างเป็นพยานตามที่ศาลหมาย จ.1 เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารทางราชการ ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ทำขึ้น รายละเอียดของเอกสารยังระบุไว้ชัดว่า บริษัทโจทก์มีกรรมการทั้งหมด 8 คน กรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อแทนบริษัท คือนายสุนทร เสถียรไทย นายสนอง ตู้จินดา นายคำรณ เตชะไพบูลย์มีอำนาจกระทำการต่าง ๆ ในนามธนาคาร โดยให้กรรมการดังกล่าวอย่างน้อยสองนายร่วมกันมีอำนาจลงนามแทนธนาคาร ทั้งนี้ต้องประทับตราสำคัญของธนาคารไว้ด้วย ในการฟ้องคดีนี้ นายสุนทร เสถียรไทย และนายสนองตู้จินดา ได้ลงชื่อร่วมกันและได้ประทับตราสำคัญของโจทก์ ได้มอบอำนาจให้นายคำรณ เตชะไพบูลย์ ฟ้องจำเลย ให้จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์ ปรากฏตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 ฉะนั้น โจทก์ โดยนายคำรณ เตชะไพบูลย์ผู้รับมอบอำนาจจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 เข้าเป็นผู้ค้ำประกันการกู้เงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ในวงเงินไม่เกิน25,000 บาท เท่านั้น เฉพาะหนี้ที่เกิดนับแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2517 ถึงวันที่ 25ธันวาคม 2510 หลังจากนั้นโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลย และจะต้องหักเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระให้โจทก์ แล้วหักจากหนี้ที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดด้วยนั้น เห็นว่าตามสัญญาข้อ 1 ก็ได้ระบุไว้ชัดแล้วว่า จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวรวมทั้งดอกเบี้ยตลอดจนค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งหมดอย่างลูกหนี้ร่วมจนกว่าผู้ให้กู้จะได้รับชำระหนี้ตามเงื่อนไขและข้อกำหนดของสัญญา เห็นได้ว่าสัญญาไม่ได้กำหนดจำนวนเงินที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดชอบเพียงเท่าจำนวนเงินที่ระบุไว้ในสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 ดังจำเลยที่ 2 อ้าง เมื่อสัญญาค้ำประกันไม่ได้จำกัดจำนวนเงินที่ค้ำประกันไว้จำเลยที่ 2 ก็ต้องรับผิดชอบในหนี้สินที่จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีไปจากโจทก์ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมีอายุเพียงวันที่ 25 ธันวาคม2510 เท่านั้น เมื่อพ้นกำหนดแล้วโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 1ได้ต่อไป เห็นว่าตามเอกสารสัญญากู้เงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 4ระบุว่าจำเลยที่ 1 จะชำระให้หมดภายในวันที่ 25 ธันวาคม 2510 แต่ก็ไม่มีข้อสัญญาระบุว่าเมื่อสิ้นกำหนดระยะเวลาแล้ว สัญญาเป็นอันเลิกกันทันทีและเมื่อพ้นวันที่ 25 ธันวาคม 2510 แล้ว จำเลยที่ 1 ก็ได้นำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนบัญชีกันอีกหลายครั้ง บัญชีคงเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1ยังไม่ได้เลิกบัญชีคงเดินสะพัดเรื่อยไป ไม่ได้มีฝ่ายใดบอกเลิกสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 1 ได้จนถึงวันโจทก์บอกเลิกสัญญาคือวันที่ 30 กรกฎาคม 2519”

พิพากษายืน

Share