คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22714/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยในข้อหาข่มขืนใจผู้อื่น โดยมีอาวุธ ตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคสอง ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความไม่ได้ แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดข้อหาข่มขืนใจผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคแรก โจทก์มิได้อุทธรณ์ว่า จำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคสอง ความผิดดังกล่าวจึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้เพียงว่า จำเลยกระทำความผิดข้อหาข่มขืนใจผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคแรก ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ตามมาตรา 321 เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ หรือผู้ไร้ความสามารถซึ่งในความดูแลของ ค. บิดาผู้เสียหาย หรือผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ อันจะทำให้ ค. เป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 การที่ ค. ไปแจ้งความร้องทุกข์จึงไม่ชอบ ถือได้ว่าไม่มีคำร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดดังกล่าว พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวน และพนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120, 121

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่รับว่าจำเลยข่มขืนใจผู้เสียหายให้ไปกับจำเลยโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายโดยใช้กำลังประทุษร้ายจริงแต่มิได้กระทำโดยมีอาวุธปืน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคแรก จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยฉุดกระชากพานางสาวนงคราญ ผู้เสียหาย ขึ้นรถยนต์กระบะของจำเลยแล้วขับหนีไป หลังจากนั้นไม่สามารถติดต่อผู้เสียหายได้ ต่อมานายคลื้น บิดาผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีแก่จำเลย
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคแรกหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยในข้อหาข่มขืนใจผู้อื่น โดยมีอาวุธ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความไม่ได้ แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคแรก โจทก์มิได้อุทธรณ์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 309 วรรคสอง ความผิดดังกล่าวจึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้แต่เพียงว่า จำเลยกระทำความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคแรก ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ตามมาตรา 321 ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด ตามมาตรา 96 แม้จะได้ความว่า เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2551 นายคลื้น บิดาผู้เสียหายเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ภายในระยะเวลาสามเดือน แต่ก็ไม่ปรากฏว่า ผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ หรือเป็นผู้ไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความดูแลของนายคลื้นหรือผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ อันจะทำให้นายคลื้นเป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 การแจ้งความร้องทุกข์ของนายคลื้นนั้นจึงไม่ชอบ ถือได้ว่าไม่มีคำร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดดังกล่าว พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวน และพนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120, 121 ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น เมื่อคดีรับฟังได้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ว่าสมควรรอการลงโทษหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share