คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2271/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

บันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาของโจทก์นั้น เป็นเพียงหลักฐานการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจา และเป็นความสะดวกที่ศาลจะบันทึกการฟ้องด้วยวาจาลงในแบบพิมพ์ของศาลได้รวดเร็วขึ้นเท่านั้น หาใช่ฟ้องด้วยวาจาตามกฎหมายไม่ แม้ตามมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ จะมิได้บังคับโดยตรงว่าโจทก์ต้องไปศาล แต่มาตรา 19 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าวบัญญัติให้โจทก์แจ้งต่อศาลถึงชื่อ โจทก์ ชื่อ ที่อยู่และสัญชาติของจำเลยฐานความผิด การกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดและอื่น ๆอีกหลายประการ เห็นได้ว่าลักษณะของงานบังคับให้โจทก์ต้องไปศาลอยู่ในตัว เมื่อโจทก์ไม่ไปศาลย่อมถือว่าไม่มีการฟ้องคดี.

ย่อยาว

มูลคดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ให้พนักงานธุรการนำบันทึการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจามายื่นต่อพนักงานรับฟ้อง กล่าวหาว่า จำเลยได้ช่วยผู้อื่นซึ่งต้องหาว่าฆ่าผู้อื่น โดยให้ที่พำนัก ซ่อนเร้นหรือช่วยเพื่อไม่ให้ถูกจับกุม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าเมื่อโจทก์ไม่มาศาลศาลก็ไม่อาจสอบถามได้ บันทึกการฟ้องด้วยวาจาของโจทก์นั้น ไม่ถือว่าเป็นฟ้องตามความหมายของกฎหมาย จึงเท่ากับว่าโจทก์ยังไม่ได้ฟ้องคดี ให้จำหน่ายออกจารสารบบความ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “บันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาของโจทก์นั้น เป็นเพียงหลักฐานการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาและเป็นความสะดวกที่ศาลจะบันทึกการฟ้องด้วยวาจาลงในแบบพิมพ์ของศาลได้รวดเร็วขึ้นเท่านั้น หาใช่เฟ้องด้วยวาจาตามกฎหมายไม่ โจทก์ฎีกาว่าจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นศาล ศาลพิพากษาไปได้ทันที และตามมาตรา 20แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงพ.ศ. 2499 ไม่บังคับให้โจทก์ต้องไปศาลนั้น ตามสำนวนศาลมิได้สอบถามคำให้การจำเลย โจทก์จะว่าจำเลยให้การรับสารภาพชั้นศาลได้อย่างไร แม้มาตรา 20 ที่โจทก์อ้างจะมิได้บังคับโดยตรงว่าโจทก์ต้องไปศาล แต่วิธีปฏิบัติตามมาตรา 20 ดังกล่าวซึ่งกำหนดว่าถ้าผู้ต้องหาให้การรับสารภาพต่อพนักงานสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนนำผู้ต้องหามายังพนักงานอัยการเพื่อฟ้องศาลโดยมิต้องทำการสอบสวนและให้ฟ้องด้วยวาจา การฟ้องด้วยวาจาพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499มาตรา 19 บัญญัติให้โจทก์แจ้งต่อศาลถึงชื่อโจทก์ ชื่อ ที่อยู่และสัญชาติของจำเลย ฐานความผิด การกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด และอื่น ๆ อีกหลายประการ เห้นได้ว่าลักษณะของงานบังคับให้โจทก์ต้องไปศาลอยู่ในตัว เมื่อไม่ไปศาลย่อมถือได้ว่าไม่มีการฟ้องคดีดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไว้ชอบแล้ว ฏีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share